Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เสียงจากโรงงาน“ชีอิน” จะไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อคนทำต้องคอยลดต้นทุนเอง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เสียงจากโรงงาน“ชีอิน” จะไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อคนทำต้องคอยลดต้นทุนเอง

13 ม.ค. 68
17:15 น.
|
409
แชร์

เสื้อผ้าอัพเดตใหม่ทุก 2-3 สัปดาห์ ดีไซน์ทันสมัยแบบเกาะติดทุกเทรนด์แฟชั่น ในราคาแสนถูก สั่งง่ายผ่านแอปพลิเคชัน ส่งเร็วทันใจจากประเทศจีน จะเป็นแบรนด์ไหนไปไม่ได้เลยนอกจาก “ชีอิน” (Shein) แบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ที่เติบโตเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรปและอเมริกา แต่กว่าที่สาว ๆ จะได้สั่งซื้อเสื้อสักตัวในราคาที่ต่ำขนาดนี้ เบื้องหลังการผลิตมีอะไรมากมายซ่อนอยู่

เสียงจากโรงงานผลิต “ชีอิน” จะไปต่อหรือพอก่อน

แพลตฟอร์มของชีอินที่ให้ลูกค้าสั่งซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ เป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ส่งผลต่อวงจรการผลิตที่แข็งแกร่งมากขึ้น อัลกอริทึมของแอปพลิเคชันจะประมวลผลข้อมูลการผลิตได้ดี เมื่อลูกค้าคลิกเลือกชุดเดรสซ้ำ ๆ หรือใช้เวลานานขึ้นในการดูเสื้อสเวตเตอร์ขนสัตว์ บริษัทก็จะรู้ว่าต้องขอให้โรงงานผลิตเสื้อผ้าชิ้นไหนให้มากขึ้นและเร็วขึ้น

เจ้าของโรงงานรายหนึ่งในหมู่บ้านชีอินบอกว่า ชีอินมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือในที่สุดแล้วคำสั่งซื้อ ก็จะมากขึ้น ด้วยกลยุทธ์การตลาดและข้อมูลจากอัลกอริทึม โดย ShipMatrix ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ ประมาณการณ์ว่า บริษัทจัดส่งสินค้าเฉลี่ยวันละประมาณหนึ่งล้านชิ้นทั่วโลก นอกจากนี้ ชีอินยังจ่ายเงินตรงเวลา มีความเป็นระบบกว่าผู้ค้ารายที่เล็กกว่า

อย่างไรก็ตาม เจ้าของโรงงานกลับเปิดเผยว่า กำไรที่ซัพพลายเออร์จะได้กลับต่ำและคงที่ เนื่องจากแบรนด์มีหลังบ้านที่ต่อรองเก่ง เจ้าของโรงงานสามแห่งกล่าวว่า ก่อนหน้าที่ชีอินจะสั่งผลิตเสื้อผ้ากับโรงงาน พวกเขาผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถควบคุมต้นทุน กำหนดราคา และคำนวณกำไรได้ แต่ตอนนี้ ชีอินเป็นคนควบคุมราคา และโรงงานต้องคิดหาวิธีลดต้นทุนเอาเอง ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนในส่วนอื่น และวิธีที่ดีที่สุด กลับมาที่การลดค่าจ้างพนักงานนั่นเอง

ทั้งนี้ เฉิง ลู อาจารย์ด้านแฟชั่นและเครื่องแต่งกายที่มหาวิทยาลัยเดลาแวร์กล่าว หากชีอินสามารถเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกได้สำเร็จ แสดงว่าบริษัทได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ แต่หากบริษัทต้องการรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน บริษัทต้องมีความรับผิดชอบด้านการผลิต วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์นี้ได้คือต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงจับตาดูซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ก่อนที่จะมีแผนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน

สื่อต่างชาติรายงาน แรงงานทำงานเกินกฎหมายกำหนด

ในพื้นที่เขตปันหยู นครกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน มีโรงงานขนาดยักษ์ รวมถึงโรงงานน้อยใหญ่กระจายตัวอยู่ สถานที่ซึ่งคนงานแถวนั้นเรียกกันว่า “หมู่บ้านชีอิน” แหล่งผลิตเสื้อผ้าที่เปิดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ หรือบางแห่งอาจเปิดข้ามคืน เพื่อผลิตเสื้อให้ทันต่อคำสั่งซื้อของลูกค้ากว่า 150 ประเทศ โดยทีมสารคดีของ BBC ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับคนงานในแถบนั้นหลายคน

“ถ้าหนึ่งเดือนมี 31 วัน ฉันก็จะทำงาน 31 วัน” นี่เป็นคำพูดสะท้อนตารางการทำงานอันหนักหน่วงของสาวโรงงานเย็บเสื้อผ้าคนหนึ่ง ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เปิดเผยว่าพวกเขามีวันหยุดแค่เพียง 1 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น หัวใจสำคัญของอาณาจักรแห่งนี้ก็คือ แรงงานที่นั่งอยู่หลังเครื่องจักรเย็บผ้านานถึงสัปดาห์ละประมาณ 75 ชั่วโมง ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานของจีน ซึ่งระบุว่า แรงงานจะสามารถทำงานได้เพียง 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันและไม่เกิน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

แต่การทำงานเฉลี่ย 75 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับแรงงานในนครกวางโจวถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่มาจากชนบทของจีนที่เดินทางเข้ามายังศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งนี้ พวกเขาพร้อมที่จะแลกหยาดเหงื่อแรงกายเพื่อที่จะแสวงหารายได้ที่สูงขึ้น การทำงานหนักแต่ละเมิดกฎหมายแรงงานเช่นนี้ ส่งผลให้ “ชีอิน” พลิกจากบริษัทน้องใหม่ไร้คนรู้จัก สู่แบรนด์ดังที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใน 5 ปีเท่านั้น

Shein ยอมรับ เคยใช้แรงงานเด็กในโรงงาน

ปัจจุบัน ชีอินเป็นบริษัทเอกชนที่มีมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว และผู้บริหารมีแผนจะพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของอังกฤษในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วและมูลค่ามหาศาลของแบรนด์ ต้องเผชิญกับข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนงานและข้อกล่าวหาการใช้แรงงานบังคับ

ในปี 2023  Public Eye องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า พนักงานที่รับจ้างผลิตเสื้อผ้าให้กับชีอิน มักทำงานเกินสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง และมีข้อกล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานในภูมิภาคอุยกูร์ของจีน ที่สำคัญ ยังมีการใช้แรงงานเด็กซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายที่ร้ายแรงทั้งในจีนเองและทั่วโลก อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ออกมายอมรับว่ามีการใช้แรงงานเด็กในโรงงานผลิตที่จีนจริง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมมากมายนัก 

แอนนาเบลลา หง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายความสัมพันธ์กับรัฐบาลระดับโลกของชีอิน แถลงว่าบริษัทได้ระงับคำสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กเป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้ซัพพลายเออร์เหล่านี้มีโอกาสจัดการกับปัญหาดังกล่าว และบริษัทจะไม่กลับมาทำธุรกิจกับซัพพลายเออร์เหล่านี้อีกจนกว่าจะมีการดำเนินการเพื่อยุติการละเมิดกฎหมายด้านการใช้แรงงานเด็ก

รายงานของ Shein ระบุว่า ซัพพลายเออร์ทั้ง 2 แหล่ง ได้แก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วในการยกเลิกสัญญากับพนักงานที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ พร้อมดำเนินการตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการจ่ายค่าจ้างที่ค้างอยู่ การจัดการตรวจสุขภาพ และการอำนวยความสะดวกในการส่งตัวกลับประเทศให้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย หลังจากมีการแก้ไขที่เหมาะสมแล้ว ผู้ผลิตก็ได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง


Fast Fashion ทันสมัย ใช้กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ

นอกจากคำครหาในเรื่องการละเมิดแรงงานในจีนแล้ว ชีอินยังมีข้อพิพาทเรื่องกลยุทธ์การทำเสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) นั่นก็คือ การขายเสื้อผ้าตามกระแสที่เน้นสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้ง มีกระบวนการผลิตที่เน้นความรวดเร็วฉับไว เข้าถึงได้ง่าย เป็นแฟชั่นวงจรสั้นๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ เน้นการขายปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม แบรนด์ชื่อดังอื่น ๆ ในตลาดก็หันมาใช้กลยุทธ์นี้แล้วเช่นกัน

ความสำเร็จของชีอินนั้น อยู่ที่ปริมาณสินค้า โดยสินค้าออนไลน์มีมากถึงหลายแสนชิ้น และส่วนลดมากมายราคาถูกมาก อย่างในอังกฤษ เสื้อสเวตเตอร์มีราคาเริ่มต้นที่ 6 - 8 ปอนด์ หรือ 250-350 บาทเท่านั้น ราคาที่ถูกแสนถูกขนาดนี้ ทำให้ชีอินตีตลาดแฟชั่นเดิมพังย่อยยับ รายได้ของชีอินพุ่งสูงขึ้นแซงหน้าแบรนด์อย่าง H&M Zara และ Primark

ราคาของสินค้าต่ำ มาคู่กับต้นทุนที่ต่ำกว่า สอดคล้องกับคำบอกเล่าของหญิงวัย 49 ปีจากมณฑลเจียงซี หนึ่งในแรงงานที่หมูบ้านชีอินเปิดเผยว่า เธอและเพื่อนร่วมงานทำงานในวันธรรมดายาวนานถึง 10 - 12 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนในวันอาทิตย์ชั่วโมงการทำงานจะเบาลงจากเดิมเพียงแค่ 3 ชั่วโมง ส่วนค่าแรงของเธอจะนับเป็นจำนวนชิ้น ขึ้นอยู่กับว่าชิ้นนั้นยากง่ายขนาดไหน ของง่ายๆ อย่างเสื้อยืดก็ราคาชิ้นละ 1-2 หยวน (ประมาณ 4-10 บาทต่อชิ้น) ซึ่งเธอจะผลิตได้ชั่วโมงละ 12 ชิ้น 

นอกจากนี้ ประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองชีอิน ยังเป็นเรื่องของการออกแบบ เนื่องจากหลายแบรนด์ทั้งเล็กและใหญ่รายงานว่าเสื้อผ้าของชีอินเหมือนกับแบรนด์ของพวกเขาเปี๊ยบ และนำมาซึ่งการฟ้องร้องและคดีความจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการลอกเลียนแบบเสื้อผ้า


แชร์
เสียงจากโรงงาน“ชีอิน” จะไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อคนทำต้องคอยลดต้นทุนเอง