Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ปราบสแกมเมอร์เมียนมาไม่ง่าย? เมื่อผลประโยชน์ริมชายแดนซับซ้อนกว่าที่คิด
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ปราบสแกมเมอร์เมียนมาไม่ง่าย? เมื่อผลประโยชน์ริมชายแดนซับซ้อนกว่าที่คิด

24 ม.ค. 68
15:48 น.
|
180
แชร์

จากกรณีก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์ระบุว่า ศูนย์ปฏิบัติการหลอกลวงออนไลน์ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดน ได้รับไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกล่าวว่า มีองค์กรอาชญากรรมที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งยังได้รับอาวุธ กระสุน และวัสดุก่อสร้างจากประเทศที่อยู่ติดชายแดน แม้จะไม่มีการระบุชื่ออย่างชัดเจนว่า คือประเทศอะไร แต่รายงานระบุว่า เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคือประเทศไทย

ทีมข่าว Spotlight World สัมภาษณ์รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอ.ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกรณีดังกล่าวว่า สถานการณ์ริมชายแดนเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งอาจารย์มองว่า  บริเวณริมชายแดนย่อมมีอุปสงค์และอุปทานอยู่แล้ว  จีนเทาต้องอาศัยไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกที่มาจากไทย ส่วนทหารเมียนมา ตั้งแต่ระดับนายพลลงมาถึงพื้นที่ ก็มีปฏิสัมพันธ์กับกองกำลัง BGF หรือแม้แต่กลุ่มจีนเทา กลุ่มทุนประเภทต่างๆ การที่ออกมาพูดเช่นนี้เหมือนโบ้ยให้ไทยที่ปล่อยให้มีการอำนวยความสะดวก แต่ไม่ได้พูดถึงโครงสร้างอำนาจในชายแดนที่มีเจ้าหน้าที่เมียนมาที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับจีนเทาและกลุ่มทุนที่ซับซ้อน ซึ่งระบบเศรษฐกิจชายแดนก็มักจะมีความซับซ้อนเช่นนี้

และด้วยความซับซ้อนของผลประโยชน์ก็ทำให้การปราบปรามแก๊งสแกมเมอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะบริเวณชเวก๊กโก่ ซึ่งกลุ่มที่มีอิทธิพลคือ หม่อง ชิต ตู เป็นกลุ่มกะเหรี่ยงที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทหารเมียนมา แม้ล่าสุดจะจัดการประชุมเพื่อจะปราบปรามแก๊งสแกมเมอร์ แต่อาจารย์มองว่า เหมือนเป็นการฟอกขาว เพราะต้องการบอกให้ประชาคมโลกได้รับรู้ว่า ไม่ต้องการจีนเทา ต้องการผดุงจริยธรรมในการจัดการกับธุรกิจผิดกฎหมาย แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะพวกเขาต้องพึ่งพา ฝ่ายที่ลงทุนก็ต้องการกลุ่มชาติพันธุ์มาคุ้มกัน ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ก็ต้องการเม็ดเงินจากจีนเทา แต่การที่จะเข้าไปจัดการกับจีนเทาในทันทีดูจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมีความซับซ้อนของผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อาจจะเพราะได้รับแรงกดดันจากจีน ซึ่งเคยทำแล้วกับสีหนุวิลล์ในกัมพูชา ที่ทำให้เมืองดังกล่าวกลายเป็นเมืองร้างไปเลย

ส่วนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2025 จะครบ 4 ปีการรัฐประหาร สถานการณ์ค่อนข้างบอบช้ำกันหลายฝ่าย รัฐบาลทหารเมียนมาก็เสียกำลังพลไปมาก แต่ก็ตั้งใจจะให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ ฝ่ายต่อต้านก็บอบช้ำเช่นกัน แต่ก็ยังพอจะเห็นความก้าวหน้า สามารถยึด Township หรือตำบลได้หลายแห่ง ซึ่งตำบลเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นฐานเสียงของการเลือกตั้ง ต้องมารอดูว่า ฝ่ายใดสามารถยึดครองตำบลได้มากกว่ากัน ถ้าหากฝ่ายต่อต้านยึดได้มากพอ พวกเขาก็สามารถสร้างเขตปลดปล่อยได้ แต่ถ้าหากทำไม่สำเร็จ รัฐบาลทหารเมียนมาก็จะบอกว่า ตนเองยังคงยันได้อยู่ นำไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อตั้งรัฐบาลผสม ส่วนมิน อ่อง หล่ายจะอยู่ในอำนาจรูปแบบไหน หรือจะลงจากตำแหน่ง ก็ต้องรอดูต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์จะสงบ  การเลือกตั้งเป็นกลยุทธ์ของทหารเมียนมาเพื่อลดแรงกดดัน และสร้างการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เพื่อให้ต่างชาติบางประเทศยอมรับการเลือกตั้ง และถือเป็นการลดอุณหภูมิเดือดของการรบ แต่การเลือกตั้งไม่ได้เป็นปัจจัยที่พอเพียงต่อการลดปัญหาความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับทหารเมียนมาก็มองว่า ต้องเลือกตั้งก่อน ค่อยมาเจรจา แต่บางฝ่ายก็มองว่า อยากให้มีการเจรจาก่อนค่อยจัดการเลือกตั้ง

แชร์
ปราบสแกมเมอร์เมียนมาไม่ง่าย? เมื่อผลประโยชน์ริมชายแดนซับซ้อนกว่าที่คิด