สังคมจีนกำลังไม่พอใจเพิ่มขึ้นเรื่อยเรื่อย หลังจากแพทย์ในประเทศออกมาแสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับยาสามัญที่ใช้ในโรงพยาบาลรัฐว่า ด้อยประสิทธิภาพ โดยแพทย์หลายคนเชื่อว่า ระบบจัดซื้อจัดจ้างยาในประเทศ ให้แรงจูงใจในการใช้ยาสามัญราคาถูก แทนที่จะใช้ยาต้นแบบของบริษัทยา ส่งผลทำให้มีการตัดลดงบประมาณในราคาที่อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของผู้คน
อย่างไรก็ตาม สื่อของทางการจีนหลายสำนักรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่ระบุว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องของมุมมองแต่ละคนมากกว่าจะเป็นความจริง โดยรายงานหนึ่งระบุว่า ผู้คนต่างมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันต่อยา และการที่มองว่ายาไม่ได้ผลนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงเรื่องเล่าและความรู้สึกส่วนตัวของบุคคลเท่านั้น
ทั้งนี้ ยาต้นแบบ (Original drugs) คือยาจากผู้ผลิตรายแรกที่คิดค้น สูตรตำรับ เป็นยาที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะ ต้องผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ มากมายหลายขั้นตอน เริ่มจากการศึกษาวิจัยผ่านกระบวนการทดลอง ขณะที่ยาสามัญ (Generic drugs) คือยาที่มีตัวยาสำคัญเป็นชนิด เดียวกันกับยาต้นแบบ โดยจะผลิตมาหลังจาก ยาต้นแบบได้รับการรับรองและอนุมัติให้ใช้ในการ รักษาโรคแล้ว อาจจะลอกเลียนสูตรยาต้นแบบเมื่อ ยาเหล่านั้นหมดสิทธิบัตรแล้ว
ปัญหาเรื่องการใช้ยาสามัญราคาถูกในจีนเริ่มมีการถกเถียงกันมาตั้งแต่เดือนธันวาคม เมื่อทางการประกาศรายชื่อบริษัทเกือบ 200 แห่งที่ได้รับสัญญาขายยาให้กับโรงพยาบาลของรัฐจีน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ผลิตยาสามัญในประเทศ
ความกังวลยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนมกราคม เมื่อนายแพทย์เจิ้ง หมินฮัว ผู้อำนวยการของแผนกหนึ่งในโรงพยาบาลที่เซี่ยงไฮ้ แชร์ความเป็นกังวลเกี่ยวกับระบบจัดซื้อยาในบทสัมภาษณ์ทางวิดีโอที่กลายเป็นไวรัลในเวลาต่อมา
คุณหมอเจิ้งได้ยกตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ความดันโลหิตที่ไม่ลดลง ผู้ป่วยที่ดมยาสลบแล้วยังไม่หลับ รวมถึงยาระบายที่ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบเจอ
คำพูดของหมอเจิ้งได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมาก และได้กลายเป็นสโลแกน ดึงดูดความสนใจของผู้คนหลายล้านคนในช่วงเดือนที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าบทสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะถูกเซ็นเซอร์ใน Weibo ก็ตาม ขณะที่หลายคนก็ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์แย่ๆ กับยาเชื่อว่ามีคุณภาพต่ำ
ผู้ใช้ Weibo คนหนึ่งเล่าว่า เคยเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ในปี 2024 ซึ่งต้องใช้ยาระบายล่วงหน้า แต่ก็ไม่มีผลใดๆเกิดขึ้น แม้จะเพิ่มยาไปถึงสองเท่า จนสุดท้าย ต้องหันไปดื่มกาแฟเพื่อช่วยให้ขับถ่ายแทน
ความวิกตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาสามัญทำให้เกิดความไม่เชื่อใน และบางคนไม่ยอมใช้ยาเหล่านั้น ผู้ใช้ใน Xiaohongshu ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่คล้าย Instagram ของจีนกล่าวว่า เมื่อแพทย์ในโรงพยาบาลสั่งยาสามัญที่เป็นยาปฏิชีวนะให้ พวกเขาก็ไปซื้อยาต้นแบบจากออนไลน์แทน เนื่องจากมีรสชาติต่างกัน
อย่างไรก็ตาม โพสต์ที่ได้รับความนิยมเกี่ยวกับเรื่องยาสามัญถูกลบไปหลายโพสต์ แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ลบ แต่อินเทอร์เน็ตของจีนก็ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล
ในบรรดาโพสต์ที่ถูกลบไป มีโพสต์ของ Meng Chang คนดังในโลกออนไลน์ เขาได้โจมตีการขาดแคลนยานำเข้าในภาครัฐว่า ถ้านี่ไม่ใช่จุดตกต่ำสุดแล้ว ฉันไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร
จีนเปลี่ยนมาใช้ระบบจัดซื้อยาสามัญราคาถูกในปี 2018 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐ โดยรัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดการประมูลยาจำนวน 70% ของยาที่ต้องการใช้ในโรงพยาบาลของรัฐในแต่ละปี จากนั้นผู้ผลิตยาจะแข่งขันกันเสนอราคาที่ต่ำที่สุด เพื่อชนะการประมูล
ระบบนี้ให้ความได้เปรียบกับยาสามัญที่ผลิตในประเทศ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักทางเภสัชกรรมเหมือนกับยาต้นแบบ แต่ราคามักจะถูกกว่าหลายเท่า ทั้งนี้ จีนกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของตลาดยาสามัญโลก โดยส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังผู้บริโภคในต่างประเทศและวัตถุดิบสำคัญไปยังบริษัทต่างประเทศ
ด้านรัฐบาลจีนได้กล่าวยกย่องระบบจัดซื้อยาว่า ช่วยประหยัดเงินให้กับประชาชนได้มากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงห้าปีแรกของการใช้ระบบดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการจัดซื้อ ผู้ผลิตบางรายก็เสนอราคาที่ต่ำมาก โดยมีผู้ชนะการประมูลรายหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า พวกเขาเสนอยาพาราเซตามอลในราคาไม่ถึงหนึ่งเซ็นต์ หรือถูกกว่า 25 สตางค์ด้วยซ้ำไป และชาวจีนใน Weibo ก็ถกเถียงกันว่า ยาเม็ดที่ถูกขนาดนั้นจะสามารถกินได้จริงหรือ
กลุ่มแพทย์ 20 คน รวมถึงนายแพทย์เจิ้ง ได้ยื่นเรื่องต่อทางการนครเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนที่แล้ว ระบุว่า มีความกังวลอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมว่า ราคาการจัดซื้อที่ต่ำเกินไปทำให้บริษัทที่ไม่ซื่อสัตย์หันมาลดต้นทุน โดยการตัดสินใจที่ผิดจรรยาบรรณ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยา
และบทความล่าสุดจาก นายแพทย์เซีย จากหางโจว ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าสงสัยจากการทดลองยาที่อยู่ในรายการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเหมือนกับข้อมูลจากยาต้นแบบที่เป็นต้นกำเนิดของยาเหล่านี้ ทำให้ดร. เซียมองว่า อาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา มีการลบบทความดังกล่าวออกจากสื่อ
ทั้งนี้ ระบบสาธารณสุขของจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 20 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2023 การใช้จ่ายด้านสุขภาพของจีนสูงถึง 9 ล้านล้านหยวน