NDTV สำนักข่าวอินเดีย รายงานเหตุสลดที่ผู้แสวงบุญชาวอินเดียแย่งกันขึ้นรถไฟที่สถานีนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย เพื่อมุ่งหน้าไปร่วมพิธีกุมภเมลา ทางศาสนาฮินดู ที่จัดขึ้นในเมืองประยาคราช รัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย แต่ด้วยผู้คนจำนวนมากเกินไป นำไปสู่เหตุเบียดเสียดและเหยียบกันอย่างรุนแรงตรงชานชาลา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อคืนนี้ เวลาประมาณ 21.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 18 ราย ในจำนวนนี้มีสตรี 11 ราย และเด็ก 4 ราย รวมถึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าวว่า มีคนจำนวนมากอยู่ในชานชาลาหมายเลข 14 ขณะที่รถไฟสายประยาคราช เอ็กซ์เพรสกำลังจะออกเดินทาง ส่วนรถไฟอีก 2 ขบวนที่จะมุ่งหน้าไปยังปลายทางเดียวกัน เดินทางมาถึงสถานีดังกล่าวช้ากว่ากำหนด รวมถึงการขายตั๋วรถไฟแบบทั่วไปมากถึง 1,500 ใบ จึงทำให้มีผู้โดยสารจำนวนมากเกินไปยืนรออยู่ที่ชานชาลาดังกล่าว และล้นไปยังชานชาลาใกล้เคียงด้วย ด้านกระทรวงการรถไฟออกแถลงการณ์ว่าได้สั่งให้มีการสอบสวนระดับสูงเกี่ยวกับ "เหตุการณ์ที่น่าสลดใจ" ดังกล่าว
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี กล่าวว่าเขารู้สึกทุกข์ใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้โพสต์ผ่าน X ระบุว่าเขารู้สึกโศกเศร้ากับเหตุการณ์เหยียบกันตายที่สถานีรถไฟนิวเดลี เขาขอส่งความห่วงใยไปยังผู้ที่สูญเสียคนที่รักทุกคน และภาวนาขอให้ผู้ได้รับบาดเจ็บฟื้นตัวโดยเร็ว ขณะที่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เหยียบกันตายครั้งนี้
พิธีกุมภเมลาในปี 2025 นี้ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม และจะสิ้นสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นี่ไม่ใช่เหตุสลดครั้งแรกในปีนี้ ที่ต้องมีผู้เสียชีวิตสังเวยให้กับการแสวงบุญครั้งใหญ่ ทางการอนเดียเปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 30 ราย และบาดเจ็บนับร้อย จากเหตุเบียดเสียดและเหยียบกันตายในเทศกาลกุมภเมลา เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเช้า ขณะที่ผู้แสวงบุญที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำในเมืองประยาคราช ผู้คนถูกเหยียบเพราะกลุ่มคนจำนวนมากรีบเร่งเข้าร่วมพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์
นักข่าว BBC รายงานบรรยากาศความโกลาหล โดยมีเสื้อผ้า รองเท้า ผ้าห่ม และกระเป๋าเป้กระจัดกระจายอยู่บนพื้นขณะที่ฝูงชนพยายามหลบหนีจากที่เกิดเหตุ ผู้คนพากันวิ่งไปทุกทิศทุกทาง พวกเขาถูกผลักไปมาและล้มลง เด็ก ๆ ถูกฝูงชนรุมล้อม ผู้คนนอนอยู่บนพื้น ร่างกายและใบหน้าที่บอบช้ำเต็มไปด้วยโคลน บางคนถูกหามออกไปด้วยเปลหาม ขณะที่รถพยาบาลเคลื่อนเข้าออกเมืองเต็นท์ขนาดใหญ่ที่จัดเตรียมไว้สำหรับงานนี้
ทั้งนี้ การเบียดเสียดกันของฝูงชนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในอินเดีย โดยมักเกิดการแออัดยัดเยียดในงานทางศาสนา เทศกาล และสถานที่สาธารณะ เมื่อปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 120 รายในเขตฮาธราส รัฐอุตตรประเทศเช่นกัน เพราะพวกเขาต้องการเข้าร่วมการชุมนุมทางศาสนาครั้งใหญ่
กุมภเมลา (Kumbh Mela) เป็นเทศกาลแสวงบุญครั้งใหญ่ของชาวฮินดู แม้จะกินเวลายาวนานถึง 45 วัน จริง ๆ แล้วพิธีนี้จะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี แต่ในรอบ 12 ปี จะเป็นฤกษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ซึ่งเรียกว่า มหากุมภเมลา นั่นหมายความว่า หากพลาดพิธีในครั้งนี้ไป ชาวฮินดูต้องจะรอเข้าร่วมอีกครั้งในปี 2037 เลยทีเดียว นั่นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ทั้งวันทั้งคืน ตลอด 6 สัปดาห์ที่จัดขึ้น ผู้จัดงานคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานถึง 400 ล้าน และสื่อต่างประเทศก็เรียกว่าเป็นการรวมตัวของมวลมนุษย์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก
คำว่า กุมภ์ แปลว่าหม้อ ภายในบรรจุ น้ำอมฤต ซึ่งเป็นพาชนะที่พระวิษณุทรงถือไว้เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทขึ้น น้ำอมฤต 4 ได้หยดลง 4 จุด เป็นพื้นที่ 4 เมือง ได้แก่ ปรายัค หริทวาร นาสิก และอุชเชน ตีรฐะ ซึ่งเป็นสถานที่การจัดพิธีดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสรัสวดี นอกเหนือจากเหตุผลทางศาสนาแล้ว กุมภเมลายังเป็นงานวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา โดยมีขบวนแห่ต่างๆ การแสดงความศรัทธา และการปฏิบัติธรรม
ในพิธีดังกล่าวเหล่า "นาคสาธุ" (Naga Sadhu) นักบวชฮินดูที่เปลือยกายและทาตัวด้วยเถ้าถ่าน และไว้ผมยาวพันกันยุ่งเหยิงได้ลงมาลงอาบน้ำชำระกายในวันที่ 14 มกราคม และมีผู้เข้าร่วมพิธีมากถึง 20 ล้านคนในวันเดียว ชาวฮินดูหลายคนเดินทางข้ามน้ำข้ามประเทศมายังสถานที่แห่งนี้ เพื่อแสดงออกถึงความศรัทธาทางศาสนา และเชื่อว่าการอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์จะชำระล้างบาป ชำระจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ ปลดปล่อยพวกเขาจากวัฏจักรแห่งการเกิดและตาย ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนาฮินดูในการหลุดพ้น
ด้านราหุล คานธี ผู้นำฝ่ายค้านของรัฐบาลอินเดีย ได้กล่าวโทษถึงการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ โดยได้โพสต์บน X ระบุว่า เหตุสลดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด เพราะให้ความสำคัญกับการเคลื่อนย้ายขบวนของบุคคลสำคัญ แทนที่จะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้ศรัทธาที่มาร่วมงาน ขณะที่ผู้แสวงบุญบางคนยังกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลอยู่แค่รอบ ๆ แต่ผู้คนที่เบียดเสียดกันอยู่ตรงกลางสถานที่จัดงาน ซึ่งความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง