หลังจากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯเริ่มได้อีเมลตั้งคำถามว่า “What did you do last week?” หรือ "คุณทำอะไรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว?" ส่วนเนื้อหาในอีเมลระบุว่า กรุณาตอบกลับอีเมลนี้ด้วยข้อมูลประมาณ 5 ข้อ เกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำสำเร็จในสัปดาห์ที่ผ่านมา และกรุณาสำเนา (cc) ถึงระดับผู้จัดการของคุณด้วย กรุณาอย่าส่งข้อมูลลับ ลิงก์ หรือไฟล์แนบใด ๆ
และยังมีการกำหนดเส้นตายสำหรับการส่งข้อมูลภายในวันจันทร์ เวลา 23:59 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (ET)
นับเป็นความพยายามล่าสุดของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และอีลอน มัสก์ ที่ปรึกษาคนสำคัญ ที่ต้องการลดงบประมาณและตัดลดจำนวนเจ้าหน้าที่ลง โดยมัสก์ประกาศว่า ถ้าหากใครล้มเหลวในการตอบกลับ ก็จะถือว่าเป็นการลาออก
แต่หลังจากนั้นเกิดการถกเถียงกันมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการส่งอีเมลเช่นนี้ ถูกกฎหมายหรือไม่
เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังสับสนอย่างหนักในวันจันทร์ของสัปดาห์นี้ (24 กุมภาพันธ์ 2025) หลังได้รับคำแนะนำที่ขัดแย้งกันไปมา หลังได้รับอีเมลให้ตอบคำถามว่า คุณทำงานอะไรสำเร็จบ้างในสัปดาห์ที่ผ่านมา มิฉะนั้นอาจถุกไล่ออกได้
เพียง 48 ชั่วโมงหลังจากที่มีการส่งอีเมลถามว่า "คุณทำอะไรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว?" ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลของหน่วยงานต่างๆ สำนักงานที่เป็นคนส่งอีเมลนี้ก็ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การตอบกลับสามารถเป็นไปโดยสมัครใจ โดยจะปล่อยให้แต่ละหน่วยงานเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คำชี้แจงใหม่นี้ถูกเผยแพร่ไปยังหน่วยงานรัฐบาลกลาง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่า พนักงานที่ไม่ตอบอีเมลของมัสก์ อาจถูกไล่ออกหรือ ถูกไล่ออกแบบกึ่งหนึ่ง และหลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงเย็นวันจันทร์ มัสก์ได้ย้ำคำขาดอีกครั้ง โดยให้โอกาสครั้งสุดท้ายแก่เจ้าหน้าที่ในการตอบกลับอีเมล
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารฝ่ายบุคคลของสหรัฐฯ (Office of Personnel Management - OPM) ได้ส่งอีเมลถึงเจ้าหน้าที่ โดยกำหนดให้ผู้รับตอบคำถามด้วยการเขียนตัวอย่างผลงาน 5 รายการที่ทำสำเร็จในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ และกำหนดเส้นตายให้ส่งภายในเย็นวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น
ด้านอีลอน มัสก์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำของกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ Doge ระบุว่า การตอบไม่ได้หรือการไม่ตอบกลับจะถือเป็นการลาออกโดยสมัครใจ
คำสั่งดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยสหภาพแรงงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางและกลุ่มนักเคลื่อนไหวได้ยื่นฟ้องต่อศาลในรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อขอให้ระงับการบังคับใช้คำสั่งนี้
หน่วยงานสำคัญหลายแห่ง รวมถึง กระทรวงกลาโหม, กระทรวงสาธารณสุข (HHS), กระทรวงยุติธรรม, และ สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิกเฉยต่อคำสั่งดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจ โดยเจ้าหน้าที่บางส่วนไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี
และในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ผ่านมา หน่วยงาน OPM ได้จัดประชุมทางโทรศัพท์กับหัวหน้าแผนกทรัพยากรบุคคลของหน่วยงานรัฐบาลกลาง โดยระบุว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานในการตัดสินใจว่าจะปฏิบัติอีเมลที่ได้รับในวันเสาร์อย่างไร
ด้านทรัมป์ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับอีเมลที่ส่งถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง โดยระบุว่าเป็น "การตัดสินใจที่อัจฉริยะ และถ้าไม่ตอบกลับ ก็เหมือนถูกไล่ออกครึ่งหนึ่ง หรือไม่ก็ถูกไล่ออกไปเลย เพราะหลายคนไม่ตอบกลับ เนื่องจากพวกเขาอาจไม่มีตัวตนจริงๆ
ขณะที่อีลอน มัสก์ ยืนยันว่า เขาดำเนินการตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยระบุว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประธานาธิบดี พวกเขาจะได้รับโอกาสอีกครั้ง แต่ถ้าหากไม่ตอบกลับเป็นครั้งที่สอง จะถูกยุติการจ้างงาน
อีเมลเหล่านี้มีขึ้นไม่นาน หลังจากอีลอน มัสก์ โพสต์บน X โซเชียลมีเดียที่เขาเป็นเจ้าของ ข่มขู่เกี่ยวกับตำแหน่งงานของพนักงานที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ระบุว่า ตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางจะได้รับอีเมลในเร็วๆนี้ เพื่อทำให้เราทราบถึงสิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้อความนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ทรัมป์แนะนำให้เขามีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น
ทั้งนี้ ทรัมป์มอบหมายให้มัสก์เข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปรัฐบาลกลางผ่านกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า การกระทำล่าสุดนี้ถือว่าถูกกฎหมายหรือไม่