Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ภาษีทรัมป์ทุบSET -8.4% ตลท.ลุ้นดีลรัฐบาลพลิกเกมเป็น‘จุดเปลี่ยน’หุ้นไทย
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ภาษีทรัมป์ทุบSET -8.4% ตลท.ลุ้นดีลรัฐบาลพลิกเกมเป็น‘จุดเปลี่ยน’หุ้นไทย

9 เม.ย. 68
14:37 น.
แชร์

หุ้นไทยไตรมาสแรก 2568 สะเทือนแรง! SET ร่วงรับนโยบายภาษีทรัมป์ – ผวาแผ่นดินไหวเมียนมา

ไตรมาสแรกของปี 2568 กลายเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ตลาดทุนไทยต้องเผชิญแรงสั่นสะเทือนจากทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ "ภาษีตอบโต้" ของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย “Liberation Day” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในภูมิภาค และความอ่อนไหวของกระแสข่าวสารในตลาดโลก ทั้งหมดนี้ได้ส่งแรงกระแทกโดยตรงต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย และสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนอย่างกว้างขวาง

เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องใช้มาตรการพิเศษ เช่น การลดเพดานการเปลี่ยนแปลงราคา (Ceiling and Floor) และการระงับการขายชอร์ต เพื่อควบคุมแรงเหวี่ยงและสร้างความเชื่อมั่น ขณะเดียวกัน ตลากหลักทรัพย์ชี้ว่า 'จุดเปลี่ยน' หรือ turning point ที่แท้จริงอาจต้องอาศัยการเจรจานโยบายระหว่างประเทศที่สามารถลดแรงตึงเครียดเชิงโครงสร้างระหว่างไทยกับสหรัฐฯ อย่างยั่งยืน

บทความนี้ SPOTLIGHT จะพาผู้อ่านเจาะลึกภาพรวมแรงกระแทกรอบด้านที่ถาโถมตลาดหุ้นไทย ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน พร้อมวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงอุตสาหกรรม มาตรการรับมือจากภาครัฐ และแนวทางฟื้นตัวที่อาจเป็นกุญแจสู่เสถียรภาพในระยะยาว

ตลาดหุ้นไทยเดือนมีนาคม: แรงกดดันแรงทั้งภายนอกภายใน

ในเดือนมีนาคม 2568 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายนอกและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเกือบตลอดเดือน ขณะที่ปริมาณการซื้อขายลดลงอย่างชัดเจนในช่วงปลายเดือน ความไม่แน่นอนทางนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกาศเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) หลายรอบ รวมถึงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบ่อยครั้ง ได้กดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 แผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อจิตวิทยาตลาด โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบางเป็นทุนเดิม ได้แก่ กลุ่มขนส่ง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มประกันภัย และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

ความกังวลว่าบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบด้านความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ตลาดเริ่มมีแรงขายต่อเนื่อง จนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องประกาศ หยุดการซื้อขายชั่วคราวในทุกตลาด (SET, mai, TFEX) ในช่วงค่ำของวันที่ 28 มีนาคม 2568 เพื่อควบคุมสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูประวัติภัยพิบัติครั้งใหญ่ เช่น สึนามิปี 2547 และอุทกภัยใหญ่ปี 2554 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนของไทยมักเป็นเพียงระยะสั้น และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อปัจจัยความไม่แน่นอนคลี่คลาย และอาจทำให้ GDP ปี 2568 ลดลงเพียง 0.06%

เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2568 ดัชนี SET ปิดที่ 1,158.09 จุด ลดลง 17.3% จากสิ้นปี 2567 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังปรับตัวดีกว่าดัชนีรวม ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากร สินค้าอุปโภคบริโภค เกษตรและอาหาร และอสังหาริมทรัพย์

เมษายนเดือด “ภาษีทรัมป์” กระแทกหุ้นไทยลด 8.4% ใน 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยกลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศนโยบายการค้าภายใต้ชื่อ “Liberation Day” เมื่อวันที่ 2 เมษายน โดยเริ่มเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 10% กับทุกประเทศ และจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม 10–49% กับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ไทยถูกจัดเก็บภาษีรวมสูงถึง 36% ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นอย่างชัดเจน

ผลกระทบเกิดขึ้นทันที ภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ (2-8 เม.ย.) ดัชนี SET ร่วงรวม 8.4% โดยในวันที่ 8 เมษายนเพียงวันเดียว ดัชนีปิดที่ 1,074.59 จุด ลดลง 4.5% พร้อมมูลค่าการซื้อขายที่พุ่งขึ้นถึง 66,714 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยจึงกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายใหม่นี้อย่างหนักที่สุดในภูมิภาค

ภาคส่วนใด บริษัทไหน เสี่ยงถูกภาษีทรัมป์ ‘กระทบ’ มากที่สุด

ในเบื้องต้น นาย อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ในทางตรง ภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะไม่กระทบกับรายได้ของบริษัทจดทะเบียนไทยมากนัก เพราะรายได้จากสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงประมาณ 2.2% ของรายได้บริษัทจดทะเบียนไทยทั้งหมด แม้ในทางอ้อม ภาคธุรกิจและภาคเอกชนไทยอาจได้รับผลกระทบหนักจากไหลบ่าของสินค้าจากประเทศจีนหรือเพื่อนบ้าน หรือการสูญเสียความสามารถในฐานะฐานการผลิต

ทั้งนี้ เนื่องจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ เป็นการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม นโยบายภาษีศุลกากรสหรัฐฯ จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสินค้าไทยที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีและยานยนต์ ซึ่งประกอบด้วย

  • โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน (12.5% ของมูลค่าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ) 
  • คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (11.1% ของมูลค่าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ) 
  • ยางรถยนต์ (6.4% ของมูลค่าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ) 
  • เซมิคอนดักเตอร์ (4.5%ของมูลค่าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ) 
  • หม้อแปลงไฟฟ้า (3.8%ของมูลค่าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ) 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากบริษัทในดัชนี SET100 ยังพบว่า บริษัทในกลุ่ม Global Play ซึ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมีความเสี่ยงสูงกว่า เนื่องจากถูกกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงได้แก่

  • Electronics: 64%
  • Agri & Food: 64%
  • Hotels: 63%
  • Materials: 60%
  • Energy: 35%

ในทางกลับกัน กลุ่ม Domestic Play อย่าง Media, Finance, Hospitals, Telecom และ Banks มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศใกล้ศูนย์ และได้รับผลกระทบน้อยกว่า

ตลท. เร่งออกมาตรการระงับความผันผวน ยืนยันมอนิเตอร์ต่อแม้ในวันหยุด

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศใช้ชุดมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับความผันผวนที่รุนแรงในตลาดหุ้น หลังเผชิญแรงขายต่อเนื่องหลายวัน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดแรงเหวี่ยงจากภาวะตื่นตระหนกของนักลงทุน และรักษาเสถียรภาพของระบบซื้อขายในระยะสั้น

มาตรการฉุกเฉินที่ประกาศใช้ ได้แก่:

  • ปรับลด เพดานการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น (Ceiling & Floor) จาก ±30% เหลือ ±15%
  • ปรับลด ช่วง Dynamic Price Band เหลือ ±5%
  • ระงับการขายชอร์ต (Short Selling) ชั่วคราว

มาตรการเหล่านี้ได้รับการออกแบบเพื่อชะลอแรงเหวี่ยงของราคาหุ้นในช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะตึงเครียด เฉพาะการลดเพดานราคาและช่วงราคาย่อยที่ช่วยชะลอความเร็วของการเคลื่อนไหวในระหว่างวัน ขณะที่การระงับ Short Selling มีเป้าหมายเพื่อป้องกันแรงกดดันจากฝั่งผู้ที่เก็งว่าราคาจะลดลง ซึ่งอาจเร่งให้ราคาหุ้นทรุดตัวลงเร็วเกินไป

นาย อัสสเดช เผยว่า แม้จะยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวสามารถหยุดแรงขายได้อย่างเด็ดขาด สัญญาณจากตลาดในวันแรกที่มาตรการมีผลบังคับใช้สะท้อนถึงทิศทางที่ไม่เลวร้ายอย่างที่กังวล ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ดัชนี SET100 ซึ่งครอบคลุมหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดรวมกันราว 80-90% ของตลาด พบว่ามีเพียง 2 หุ้น ที่ราคาติดฟลอร์ในวันดังกล่าว

ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะต่ออายุมาตรการชั่วคราวที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 เมษายนหรือไม่ โดยคณะกรรมการยังคงหารือและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อชั่งน้ำหนักถึงความเหมาะสมว่า ควรผ่อนคลายมาตรการใด และควรเข้มงวดกับมาตรการใดเพิ่มเติม

ด้านการระงับ Short Selling เป็นหนึ่งในมาตรการที่ถูกจับตามากที่สุด โดยแม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าช่วยตลาดได้มากน้อยเพียงใด แต่ฝ่ายกำกับดูแลเห็นว่า ตลาดอยู่ในภาวะ “extraordinary” จึงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้เพื่อจำกัดแรงขายในช่วงวิกฤติ

ในอนาคต นายอัสสเดช ยืนยันว่า คณะกรรมการจะประชุมเพื่อหารือกันอย่างต่อเนื่อง และสามารถจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อประเมินสถานการณ์เพิ่มเติมได้แม้ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ 

จุดเปลี่ยนที่แท้จริง: การเจรจาเชิงนโยบายคือกุญแจ

ทั้งนี้ เมื่อถูกถามถึงปัจจัยที่จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาฟื้นตัว นายอัสสเดช ชี้ว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของตลาด (“Turning Point”) อาจไม่ได้เกิดจากมาตรการในตลาดทุนเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายระดับรัฐที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาหลักของเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด

นายอัสสเดช ชี้ว่า หากประเทศไทยสามารถเดินหน้าเจรจาตามแนวทาง 5 ข้อที่นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงเมื่อวันที่ 8 เมษายน โดยมุ่งแก้ปัญหาใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างการขาดดุลการค้า และบรรลุข้อตกลงแบบ “win-win” ร่วมกันได้สำเร็จ ก็มีโอกาสกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน และวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

นอกจากนี้ นายอัสสเดช ยังแนะนำว่า ในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวนทั่วโลก ‘สติ’ และการติดตามตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลคือสิ่งสำคัญ 

ปัจจุบัน ตลาดการเงินทั่วโลกตอบสนองต่อข่าวสารอย่างรวดเร็วและบางครั้งก็รุนแรงเกินความเป็นจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีข่าวปลอมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับ “ทรัมป์เตรียมเลื่อนการขึ้นภาษี” ซึ่งทำให้ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ พุ่งขึ้นฉับพลัน ก่อนจะปรับตัวลงในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง

เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่นักลงทุนต้องมีวิจารณญาณในการรับข่าวสาร วิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน และเลือกใช้แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ จุดที่น่าพอใจคือระบบข่าวสารของประเทศไทยยังคงมีความมั่นคงและน่าเชื่อถือในระดับที่ดี เมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก


แชร์
ภาษีทรัมป์ทุบSET -8.4% ตลท.ลุ้นดีลรัฐบาลพลิกเกมเป็น‘จุดเปลี่ยน’หุ้นไทย