ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกสร้างผลกระทบมากมายให้ผู้คนหลายล้าน หนึ่งในนั้นคือผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพื่อเฉลิมฉลอง แม้อาจไม่ใช่เวลาน่าฉลองสำหรับผู้หลายคน Spotlight World ขอใช้โอกาสนี้พูดถึงเศษเสี้ยวเรื่องราวของผู้หญิงหลากหลายคนที่กำลังต่อสู้ท่ามกลางสนามรบ ที่อาจไม่ใช่แค่ต่อศัตรูของชาติ หรือผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง แต่จากอคติทางเพศ และ “บาดแผลของผู้หญิง”
“ฉันลืมไปแล้วว่าเป็นผู้หญิงเป็นยังไง” นาดา อับเดลซาลาม วัย 34 ปีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AlJazeera เธอแทบจะลืมไปแล้วว่าชีวิตก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร และภาพผู้หญิงคนที่พวกเธอเคยเป็นกลายเป็นภาพลางเลือน
สงครามของอิสราเอลพรากหลายสิ่งไปจากนาดา ตั้งแต่บ้านที่ถูกระเบิดทำลาย น้ำ อาหาร ของใช้จำเป็น ความเป็นส่วนตัว และการตระหนักรู้ในวันคืนที่ผ่านไปแต่ละวัน เธอรู้เพียงการเอาชีวิตตัสเองและลูกน้อยให้ผ่านไปไให้ได้วันต่อวัน
“ฉันออกมา [จากบ้านที่ถูกระเบิด] ใส่ชุดอยู่ชุดเดียว และมีไม่กี่ชุดให้ลูกๆ” นาดาบอก “ฉันไม่เคยคิดเลยว่าจะมาถึงจุดนี้ ตู้เสื้อผ้าฉันเคยมีเสื้อผ้าเต็มไปหมด” นาดาเล่า บอกว่าเธอรู้สึกอายที่จะออกไปนอกเต็นท์ทั้งที่สวมใส่เสื้อผ้าเก่าขาดวิ่นที่มี เธอใส่เพียงชุดสวดมนต์ที่พอจะดูได้บ้างไปทุกที่ นาดาบอกว่าเธอไม่ได้สูญเสียมากกว่าบ้านและสิ่งของ แต่ยังมีตัวตนของนาดาที่ถูกปล้นหายไปในสงคราม
เอเตอหมาด หญิงสาวชาวปาเลสไตน์อีกคนผู้เป็นแม่ของลูก 2 คนและกำลังตั้งท้องลูกคนที่ 3 กล่าวกับ Aljazeera ว่า สงครามผลิกชีวิตเธอกลับตาลปัตรเลยทีเดียว ฉนวนกาซาไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับหารเลี้ยงเด็กและแม่ที่ตั้งครรภ์
“ฉันรู้สึกเหมือนจะคลอดตลอดเวลาเพราะฉันเหนื่อยมาก [...] เห็นไหมว่ามันเหมาะกับผู้หญิงท้องรึเปล่า เต็นท์เย็นๆ โล่งๆ ที่ขาดแคลนของจำเป็น” เอเตอหมาดไม่มีเงินซื้อผ้าอ้อมให้ลูกวัย 11 เดือนใส่ เนื่องจากมันแพงมาก ขนาดอาหารประทังชีวิต เธอยังแทบไม่มีเงินซื้อเลยด้วยซ้ำ
“ระบบสาธารณสุขกำลังล่มสลาย ไม่มีที่ให้พักฟื้นหลังคลอดด้วยซ้ำ” เอเตอหมาดพูดเสริม และคล้ายกับนาดา คือเธอไม่คิดว่าเธอจะมาถึงจุดนี้ของชีวิต ภาพที่เธอเห็นในกระจก ภาพคนคุ้นหน้าแต่กลับมีรูปหน้าและผิวต่างไป จากการต้องผจญในสภาพแวดล้อมสงคราม
“ฉันเคยดูแลตัวเองอย่างดี คอยทำให้ผิวและมือชุ่มชื้นก่อนนอนอยู่ตลอด และยังอาบน้ำเป็นกิจวัตรทุกๆ วัน ตอนนี้มันเหมือนเป็นฝันที่เริ่มเลือน”
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในช่วงสงครามพรากชีวิตแบบเดิมไปจากผู้หญิงในปาเลสไตน์ รวมถึงความเป็นผู้หญิงที่สังคมกำหนด อย่างการแต่งตัว แต่งหน้า หรือการทำหน้าที่อย่างผู้หญิงเช่นการหุงหาอาหาร หรือเลี้ยงลูกก็ทำได้ยาก
UN Women เผยข้อมูลว่า ผู้หญิงปาเลสไตน์กว่า 10,000 คนถูกฆ่าโดยกองทหารอิสราเอล อีก 19,000 คนถูกทำร้าย และอีก 3,000 คนกลายเป็นแม่หม้ายและผู้นำครอบครัวโดยไม่จำเป็น หากเอาตัวเลขมาเกลี่ยหาค่าเฉลี่ยแล้ว เราจะพบว่า มีแม่ถูกฆ่าวันละ 37 คนระหว่างที่สงครามกำลังดำเนินขึ้นเลยทีเดียว
ข้ามมาทางฝากฝั่งของอิสราเอล สงครามก็ทำร้ายผู้หญิงในอีกลักษณะ ดัชนีความเท่าเทียมทางเพศโลก (Global Gender Gap Index) ที่เผยแพร่โดย World Economic Forum ในปี 2023 อันดับอิสราเอลอยู่ที่ 83 จาก 146 ประเทศ ลดลงจากปีที่แล้วถึง 23 อันดับ นี่ถือเป็นอันดับต่ำที่สุดของอิสราเอลในรอบ 15 ปี
สงครามฉุดคุณภาพชีวิตผู้หญิงอิสราเอลให้เหมือนกลับไปอยู่ปี 1940 โดยผู้หญิงอิสราเอลไม่เพียงเผชิญความนรุนแรงทางเพศเพิ่มขึ้นในช่วงสงคราม แต่ยังลามไปถึงการถูกทำร้ายทางอารมณ์ และการแบกรับความรับผิดชอบที่มากขึ้น บทความจาก The Jerusalem Post เดือนสิงหาคมปี 2024 เปิดเผยว่า ผู้หญิงในภาคพลเรือนของอิสราเอลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนมากขึ้นอันเป็นผลมาจากสงครามที่ดำเนินมายาวนานต่อเนื่อง
รูบิน ผู้หญิงชาวอิสราเอลผู้กลายเป็นเสาหลักของบ้าน เมื่อสามีไปทำหน้าที่ทหารมานานกว่า 6 เดือน เปิดเผยความลำบากทางอารมณ์ที่เธอเผชิญ “ถ้าเป็นด้านอารมณ์ ฉันผ่านมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะความวิตกกังวล ความกลัว ความโกรธ หรือความหงุดหงุด ช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของสงคราม เรามีขีปนาวุธในพื้นที่ ถึงแม้มันจะไม่ใช่อะไรที่เราพบเจอได้บ่อยนัก ฉันต้องขอให้เพื่อนบ้านมาอยู่ที่บ้านจะได้อาบน้ำได้ เพราะถ้าขีปนาวุธตกลงมา เรามีเวลาแค่นาทีครึ่งในการวิ่งไปที่หลุมหลบภัย”
แม้ผู้หญิงอิสราเอลส่วนใหญ่จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการโจมตีด้วยความหวาดกลัว แต่พวกเธอต้องรับผิดชอบในการจัดการบ้าน ครอบครัว เด็กๆ และเศรษฐกิจ ราดโอชี้ว่าผู้หญิงคือเสาหลักของอิสราเอลแม้ในกองทัพ
“ผู้สังเกตการณ์หญิงและผู้หญิงคนอื่นๆ ในกองทัพได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ ความทุ่มเท และความรับผิดชอบที่ไม่มีขีดจำกัด ฉันมั่นใจโดยไม่มีข้อสงสัยว่า หากมีผู้หญิงในตำแหน่งสูงมากกว่านี้ เราคงไม่ต้องมาเผชิญกับฝันร้ายแบบนี้”
“ฉันได้เห็นผู้หญิงนักธุรกิจและผู้นำที่ลุกขึ้นไม่เพียงแค่การสร้างความตระหนักรู้ แต่ยังมีการดำเนินการที่ยอดเยี่ยม พวกเธอได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการ รวบรวมการบริจาค และสร้างทีมระดับนานาชาติที่ช่วยเหลือในการสนับสนุนอิสราเอลและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ” ราดโอเล่า
“ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเอาตัวรอดของอิสราเอลเสมอ แต่การมีส่วนร่วมของพวกเธอมักถูกมองข้าม สงครามทำให้เห็นชัดเจนว่า ผู้หญิงไม่สามารถถูกแทนที่ได้” ราดโอเสริม
สงครามรัสเซียยูเครนที่เริ่มต้นมาตั้งแต่รัสเซียยึดไครเมียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ผลักดันให้ผู้หญิงหลายคนก้าวออกจากบทบาทตามขนบแบบเดิม และก้าวเข้าสู่บทบาทในกองทัพ โดยเฉพาะหลังรัสเซียและยูเครนเปิดฉากสงครามเต็มรูปแบบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022
ตัวเลขของผู้หญิงยูเครนในกองทัพเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2013 เมื่อผู้หญิงหลายคนมีความสนใจจะปกป้องบ้านเมืองของตน เข้าร่วมการประท้วง Euromaidan และกองทัพยูเครน จำนวนผู้หญิงในกองทัพปี 2021 จึงมีจำนวนมากขึ้นถึง 2 เท่าของปี 2013 และในปัจจุบันมีผู้หญิงมากกว่า 67,000 คนรับใช้กองทัพยูเครนและกว่า 5,000 ทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการต่อสู้
บุคคลที่คนยูเครนเรียกกันว่า แม่ของหน่วยลาดตระเวนทางอากาศยูเครน คือมาเรีย เบอร์ลินสกา เธอเป็นศูนย์สนับสนุนข่าวกรองทางอากาศและดูแลโครงการ Victory Drones และยังเป็นทหารผ่านศึกอีกด้วย อีกบทบาทของเบอร์ลินสกาคือการเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการพบเจอการเลือกปฏิบัติทางเพศจากผู้ประท้วงเพศชายระหว่างการประท้วง Euromaidan ในปี 2013
ในปี 2015 เธอเป็นผู้นำโครงการ Invisible Battalion Series การตรวจสอบการมีส่วนร่วมของผู้หญิงยูเครนในกองทัพ ผลการค้นพบเปิดเผยว่า ผู้หญิงในกองทัพขาดสิ่งของใช้จำเป็น ถูกวางตำแหน่งเป็นเพียง “ผู้สนับสนุน” ในหน่วยต่อสู้ทำให้ไม่ได้รับเงินเงิน การปกป้องทางกฎหมาย และค่าชดเชยกรณีบาดเจ็บเท่าเทียมกับผู้ชาย เพราะรายงานฉบับนี้เอง ต่อมากองทัพยูเครนสามารถรับตำแหน่งมือปืน เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง และผู้บังคับบัญชาของอุปกรณ์ทหาร รวมถึงมีการเปิดตำแหน่งเกี่ยวกับการต่อสู้ 62 ตำแหน่งในปี 2017
กล้องคืออาวุธอีกชนิดของเบอร์ลินสกา ในปั 2017 เธอสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Invisible Battalion ยาว 89 นาที กำกับโดยสามผู้กำกับหญิงชาวยูเครน อิรินา ซิลิค, สวิตลานา ลิชนิสก้า และ อาลินา กอร์โลวา ที่ล้วนมาทำภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้หญิงในสนามรบเรื่องนี้โดยไม่มีค่าตอบแทน
Invisible Battalion บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิง 6 คนที่ต่อสู้ในสงครามรัสเซียยูเครนที่ดอนบัส หลายคนรับใช้กองทัพทั้งที่ปลอมตัวเป็นชาย เนื่องจากข้อจำกัดสำหรับผู้หญิงนั้นมีเยอะกว่าจนยากที่อยากจะปกป้องประเทศอย่างใจต้องการ ด้านเบอร์ลินสกาที่มีประสบการณ์การสร้างภาพยนตร์เป็นศูนย์ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นครูสอนสร้างหนัง
Invisible Battalion กลายเป็นอีกชื่อโปรแกรมของสถาบันเบอร์ลินสกา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานงานเพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ได้จัดทำแบบสำรวจที่เผยว่า กว่า 70% ของทหารผ่านศึกยูเครนเคยเห็นหรือเผชิญกับการคุกคามทางเพศในกองทัพมาก่อน สถาบันเบอร์ลินสกายังจัดหลักสูตรออนไลน์ “ความเท่าเทียมทางเพศและการต่อสู้กับการคุกคามทางเพศในพื้นที่กองทัพ”
ภาพยนตร์ของเบอร์ลินสกาสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Women’s Veteran Movement ที่มีบริการทางจิตวิทยาและการบำบัดสำหรับทหารผ่านศึกหญิงที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจ
ผลกระทบจากสงครามยูเครนรัสเซียไม่ได้เกิดขึ้นต่อผู้หญิงยูเครนเท่านั้น แต่ผู้หญิงรัสเซียในกองทัพก็ได้รับบาดแผลลักษณะคล้ายกัน รายงานปี 2019 ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในที่ทำงานระบุว่ากว่า 1 ใน 4 ของผู้หญิงในกองทัพรัสเซียเคยเผชิญกับการคุกคามทางเพศ
บทความปี 2023 ของ Radio Free Europe เปิดเผยเรื่องราวของมาร์การิตา (นามสมมติ) หญิงวัย 42 ปี ผู้เคยทำงานเป็นแพทย์สนามในกองทัพรัสเซีย และเรื่องราวการบำบัดทางจิตเวชของเธอหลังร่วมงานกับกองกำลังรัสเซีย
“บางทีฉันก็เห็นสิ่งของเคลื่อนไหว บางครั้งก็เหมือนมีคนมานั่งบนตัวฉัน ฉันฝันร้ายและมีอาการแพนิคอยู่เรื่อยๆ” มาร์การิตากล่าว
มาร์การิตาร์เล่าว่าตลอดหลายเดือนที่ทำงานเป็นแพทย์สนามในยูเครน เธอประสบกับการคุกคามทางเพศหลายครั้ง ทั้งกับตัวเธอเองและเห็นผู้หญิงคนอื่นๆ และมันเริ่มตั้งแต่เธอยังไม่ได้รับยูนิฟอร์มด้วยซ้ำ เมื่อพันเอกคนหนึ่งในกองทัพต้องการให้เธอเป็น “เมียในสนามรบ” ของเขา นั่นคือการทำอาหาร ทำความสะอาด และมีเพศสัมพันธ์
หลังปฎิเสธคำขอของพันเอกอยู่ร่วมเดือน นายพันก็ตัดสินใจว่าหากไม่ยอมเป็นภรรยาสนามรบ ชีวิตของมาร์การิตาก็ควรเปรียบเหมือนนรกบนดิน
“เจ้าหน้าที่บอกฉันว่า นายพันเอกสั่งมาให้ลงโทษฉันอย่างรุนแรงหนึ่งเดือน ฉันต้องนอนบนพื้นนอกอาคาร ขณะที่ทุกคนได้นอนในตึกหรือเต๊นท์ทหาร ฉันนอนอยู่กลางทุ่งข้างพื้นถนน บางครั้งฉันก็ไม่ได้ส่วนแบ่งอาหาร พวกเขาอยากทำร้ายฉันจนแตกสลาย ฉันจะได้ยอมนอนกับเขา แต่พอฉันยังไม่ยอม เขาก็ย้ายฉันไปเหล่าทหารปืนใหญ่เกือบจะแนวหน้า ฉันนึกว่าจะตายแล้ว”
มาร์การิตาเล่าว่า ไม่ใช่แค่เธอ แต่มีผู้หญิงอีก 7 คนในหน่วยปฐมพยาบาลอายุระหว่าง 23 - 38 ที่ทุกคนล้วนถูกกดดันให้ยอมรับสถานะภรรยาสนามรบของสมาชิกกองทัพที่เข้ามาจับจองสมาชิกหญิงคนใหม่ทั้งหลาย ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรอง หรือผู้บัญชาการหน่วยรถถัง เธอยังเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เธอเห็นด้วยตาตัวเอง เมื่อเจ้าหน้าที่ชายทำร้ายเจ้าหน้าที่หญิง ไม่ว่าด้วยความหึงหวงหรือมึนเมา ผลก็คือเจ้าหน้าที่หญิงผู้นั้นต้องพิการตลอดชีวิตจากบาดแผลของคนชาติเดียวกัน
ภรรยาสนามรบไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในการรุกราน 2022 ที่มาร์การิตาเผชิญ แต่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในกองทัพรัสเซียและโซเวียตมานานหลายปี ในรายงานปี 2018 Sisters in Arms กล่าวถึงเจ้าหน้าที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ใช้กำลังขู่เข็ญผู้หญิงให้ขึ้นเตียงด้วย เพียงเพราะเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะมีภรรยาในสนามรบได้ แม้ผู้หญิงหลายคนจะขัดขืน แต่ก็มีอีกหลายคนที่เพียงมองหาเกราะกำบัง เพราะพวกเธอยังต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศในสนามรบที่โจมตีเธอในอีกหลายรูปแบบ
เมียนมาไม่ใช่ข้อยกเว้น สงครามกลางเมืองแล้วความขัดแย้งในเมียนมาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมียนมาได้เอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1948 และทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2021 กองทัพทัตมะดอได้โค่นล้มรัฐบาลแห่งชาติที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเพื่อเข้าครองอำนาจและเปลี่ยนเป็นรัฐบาลทหาร
หลังเหตุการณ์ปี 2021 หลายกองทัพติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยร่วมมือกันต่อสู้กับรัฐบาลทหาร แน่นอนว่ามีผู้หญิงอยู่ด้วยไม่น้อย รายงานของ The Irrawady เผยว่าผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของกองกำลัง People Defense Force โดยทั้งทำงานเป็นพยาบาล ระดมทุน และสนับสนุนค่ายทหารของ PDF
ผู้หญิงชาติพันธุ์เองก็ได้เข้าร่วมองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์อย่าง KIA, Karen National Union, Karenni Nationalities Defence Force (KNDF) และ Chin Defence Force (CDF)
“พวกเธอต้องการทำลายระบอบทหารและต้องการพลิกกลับบรรทัดฐานทางเพศดั้งเดิมและมั่นใจว่าผู้หญิงจะมีบทบาทที่เท่าเทียมในการสร้างชาติใหม่” นู นู ลูซาน กล่าวกับสำนักข่าว Aljazeera
แต่แม้ผู้หญิงจะเข้าร่วมกองกำลังต่างๆ แต่พวกเธอก็ยังถูกจัดวางให้อยู่ในพื้นที่ตามขนบเดิม Moe Gyo จาก Democratic Voice of Burma เขียนไว้ว่า ผู้หญิงมักได้รับหน้าที่ทำอาหาร เย็บปักซ่อมแซมชุด ทำความสะอาด เติมกระสุนเป็นต้น แสดงให้เห็นว่าแม้ขบวนการต่อต้านรัฐประหารจะพลิกบรรทัดฐานทางสังคมแบบดั้งเดิม และเป็นความก้าวหน้าอย่างมากสำหรับกลุ่มที่ถูกกดขี่ แต่ในด้านเพศแล้วนั้น ผู้หญิงยังคงเป็นฐานพีระมิดที่มีความสำคัญน้อยกว่า ไม่ได้มีการพลิกบทบาทมากเท่าไหร่นัก มีผู้หญิงเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ได้ต่อสู้ในแนวหน้าและมีอำนาจในการตัดสินใจ
แต่ท่ามกลางสงครามความไม่เท่าเทียมทางเพศและการเรียกร้องเอกราช ก็มีหน่วยทหารหนึ่งเกิดขึ้นมาในกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ปี 2021 นั่นคือ Myaung Women Warriors หรือ M2W ซึ่งเป็นหน่วยทหารหญิงล้วนหน่วยแรกของเมียนมา
M2W มีสมาชิก 225 คน อายุ 18 - 45 ปี โดยมีทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัย ครู และเกษตรกรหญิงในภูมิภาค Sagaing กลุ่ม M2W มีชื่อเสียงจากการโจมตีด้วยทุ่นระเบิดและมีหน้าที่หลักคือการผลิตทุ่นระเบิดเพื่อแจกจ่ายไปให้กองกำลัง PDF และ M2W ผลิตระเบิดได้ถึง 1,130 ลูกในหนึ่งปี
นอกจากกลุ่ม M2W ยังมีกองกำลังหญิงของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อสู้ในสงครามกลางเมืองเมียนมาอย่าง KNDF Battalion 5 ของกองกำลังป้องกันชาติพันธุ์ Karenni Nationalities Defence Force (KNDF) เป็นองค์กรชาติพันธุ์แรกที่ก่อตั้งหน่วยทหารหญิงทั้งหมด คือ KNDF Battalion 5 ในเดือนพฤษภาคม 2021 หรือกองกำลังโดนของผู้หญิง Tiger Women Drone Force (TGR) ที่แสดงถึงพลังของผู้หญิงที่ต้องการต่อสู้ไม่ต่างจากผู้ชาย แม้จะยังถูกนับเป็น “สำรอง” ในสนามรบอยู่ก็ตาม
Burmese Women’s Union (BWU) ภายในปี 2024 เพียงปีเดียว มีผู้หญิงถึง 478 คนถูกฆ่าโดยเผด็จการทหารเมียนมา และอีก 412 คนได้รับบาดเจ็บ ยังไม่นับคนอีกหลายล้านที่ต้องกลายเป็นผู้ผลัดถิ่น เป็นภรรยาหม้าย เด็กกำพร้า และได้รับผลกระทบอื่นๆ จากสงคราม
เรื่องราวของผู้หญิงหลายคนจากสามจุดความขัดแย้งทั่วโลก ทั้งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สงครามอิสราเอล-ฮามาส และสงครามกลางเมืองเมียนมาสะท้อนให้เราเห็นผลกระทบจากสงครามที่ผู้หญิงได้รับในหลายแง่มุม สงครามทางอารมณ์ ภาระหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้น ความรุนแรงทางเพศที่พุ่งสูงพร้อมเสียงระเบิด และการสูญเสียตัวตนระหว่างหนทางการเอาชีวิตรอด แต่พวกเธอเหล่านี้ก็ยังต่อสู้กับบาดแผลที่ได้รับแม้ว่าการต่อสู้เหล่านี้คงจะทิ้งแผลเป็นระยะยาวเอาไว้ให้เหล่านักสู้หญิงอีกนานแม้ว่าสงครามจะจบลงแล้วก็ตาม
สุขสันต์วันสตรีสากลแด่ผู้หญิงทุกคนที่กำลังต่อสู้ในสนามรบของตนเอง