ต่างประเทศ

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 แบน Fracking ? ความท้าทายของแฮร์ริสในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

24 ต.ค. 67
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 แบน Fracking ? ความท้าทายของแฮร์ริสในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ถ้าหากใครติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเรื่อย ๆ ประเด็นหนึ่งที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) มักนำมาใช้โจมตี ‘กมลา แฮร์ริส’ (Kamala Harris) อยู่เสมอ คือประเด็นที่ว่าถ้าหากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี เธอจะแบน ‘Fracking’ ซึ่งเป็นการขุดเจาะน้ำมันรูปแบบหนึ่งในสหรัฐฯ และเรื่องนี้อาจทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวหลายแสนคนต้องตกงาน

ประเด็นดังกล่าวทำให้แฮร์ริสร้อนจนต้องออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า เธอไม่คิดจะแบน Fracking ในสหรัฐฯ อย่างที่ทรัมป์กล่าวอ้าง แม้ว่าในปี 2019 เธอจะเคยพูดจริง ๆ ว่าจะแบนการขุดเจาะน้ำมันในรูปแบบนี้ก็ตาม

แล้ว Fracking คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่แฮร์ริสไม่กล้าเห็นต่าง บทความนี้จะพาไปหาคำตอบ

Shale Oil - Shale Gas ขุมทรัพย์ใต้ดินของสหรัฐฯ

ก่อนจะอธิบายว่า Fracking คืออะไร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อน คือนอกจากบ่อน้ำมันใต้ดินแล้ว โลกของเรายังมีทรัพยากรน้ำมันในอีกรูปแบบหนึ่งคือ Shale Oil และ Shale Gas หรือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แทรกอยู่ในชั้นหินดินดาน ซึ่งไม่สามารถดูดขึ้นมาใช้งานด้วยวิธีการเดียวกับการขุดเจาะน้ำมันทั่วไปได้

ปัจจุบัน มีการค้นพบแหล่ง Shale Oil และ Shale Gas 95 แห่ง ครอบคลุม 41 ประเทศ ซึ่งมีขนาด 350,000 ล้านบาร์เรล และ 7,300 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ตามลำดับ โดยคิดเป็น 10% ของปริมาณสำรองน้ำมันดิบ และ 32% ของปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติทั่วโลก และประเทศที่มีทรัพยากร Shale Oil หรืออีกชื่อคือ Tight Oil ในชั้นหินมากที่สุดในโลกก็คือ ‘สหรัฐอเมริกา’

ข้อมูลจาก U.S. Energy Information Administration ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านพลังงานของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าในปี 2015 สหรัฐฯ มีทรัพยากร Shale Oil 78,200 ล้านบาร์เรล โดยคิดเป็น 18.7% ของทรัพยากร Shale Oil ทั้งหมดของโลก รองลงมาคือรัสเซีย 74,600 ล้านบาร์เรล และจีน 32,200 ล้านบาร์เรล โดยคิดเป็น 17.8% และ 7.7% ของทรัพยากร Shale Oil ทั้งหมดของโลก (ตามลำดับ)

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ไม่สามารถนำ Shale Oil มาใช้งานได้ เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอในการขุดเจาะ แต่เมื่อมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ความเสี่ยงด้านพลังงานก็มีมากขึ้น สหรัฐฯ จึงพยายามนำทรัพยากรของตัวเองออกมาใช้

ในปี 2008 สหรัฐฯ ก็สามารถคิดค้นวิธีนำ Shale Oil และ Shale Gas ออกมาในปริมาณมากได้สำเร็จ ซึ่งวิธีนั้นก็คือ ‘Hydraulic Fracturing’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘Fracking’ เป็นเทคนิคการสกัดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน ด้วยการใช้เครื่องมือเจาะลึกลงไปใต้พื้นดินประมาณ 10,000 ฟุตในแนวตั้ง และเจาะในแนวขนานออกไปอีกหลายไมล์ แล้วใช้แรงดันสูงในการฉีดน้ำ ทราย และสารเคมี เข้าไปในแนวแตกที่เจาะไว้เพื่อทำให้หินแตกร้าว เพื่อให้ปล่อยน้ำมันและก๊าซที่ติดอยู่ในชั้นหินออกมา

hydraulicfracturing
กระบวนการ Hydraulic Fracturing

อุตสาหกรรม Fracking และการปฏิวัติด้านพลังงานในสหรัฐฯ

อุตสาหกรรม Fracking ช่วยเปลี่ยนสถานะของสหรัฐฯ จาก ‘ผู้นำเข้า’ ให้กลายเป็น ‘ผู้ส่งออก’ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก โดยข้อมูลจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เปิดเผยในปี 2019 ระบุว่าการเติบโตของอุตสาหกรรม Fracking ช่วยเพิ่ม GDP ของสหรัฐฯ ราว 10% ในช่วงระหว่างปี 2010 - 2015 เนื่องจากการลดราคาพลังงานภายในประเทศ ขณะที่รายงานจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ระบุว่าหากไม่มีอุตสาหกรรม Fracking ราคาน้ำมันและก๊าซของผู้บริโภคอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

การเติบโตของอุตสาหกรรม Fracking ในสหรัฐฯ ยังเป็นการสร้างงานให้กับประชากรหลายแสนคนในประเทศ โดยเฉพาะรัฐที่มีแหล่ง Shale Oil และ Shale Gas มาก เช่น เพนซิลเวเนียและเท็กซัส ซึ่งเป็นรัฐสมรภูมิ (Swing State) ที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องกอดคะแนนเสียงไว้ให้แน่นที่สุด

จากข้อมูลเหล่านี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าอุตสาหกรรม Fracking มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างมาก จนทำให้แฮร์ริสไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นต่างมากนักในช่วงเวลานี้ แม้ว่าเธอจะสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาด และต่อต้าน Fracking เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นวิธีการขุดเจาะน้ำมันที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณสูง ความเสี่ยงที่จะทำให้แหล่งน้ำโดยรอบปนเปื้อน และทำให้เกิดแผ่นดินไหว

ผลกระทบของอุตสาหกรรม Fracking ขัดแย้งโดยตรงกับนโยบายด้านพลังงาน และการปกป้องสภาพภูมิอากาศของพรรคเดโมแครต ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานของสหรัฐฯ ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2035 และเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิภายในปี 2050

การที่แฮร์ริสไม่กล้าแสดงความเห็นต่างมากนัก กำลังสะท้อนความท้าทายของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพลังงานมักจะเจอแรงต้านอยู่เสมอ เนื่องจากทำให้คนกลุ่มใหญ่เสียประโยชน์นั่นเอง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT