หน้าที่ของ "โช้คอัพ" อุปกรณ์รับแรงกระแทกชิ้นสำคัญในรถยนต์

17 พ.ค. 67

SHOCK ABSORBER หรือ โช้คอัพ ที่หลาย ๆ คนรู้กันโดยทั่วไปว่าหมายถึง อุปกรณ์ชิ้นสำคัญในรถยนต์ สำหรับหน้าที่ของโช้คอัพนั้น ก็มีหน้าที่ตรงตามที่มันบอกนั่นแหละ คือ ดูดซับแรงช้อค หรือฟังให้ง่ายเข้าเป็นภาษาไทยมากขึ้นอีกหน่อย ก็มีหน้าที่ดูดซับแรงสั่นสะเทือน ที่สะท้อนขึ้นมาจากพื้นผิวถนนในขณะที่รถยนต์เคลื่อนที่ไป โช้คอัพเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ระหว่างตัวรถ และระบบรองรับของรถยนต์

โช้คอัพที่ดีนั้นต้องสามารถหน่วงการเต้นของระบบรองรับให้น้อยที่สุด เพราะหากการเต้นขึ้น-ลงของระบบรองรับมีระยะเวลานานเกินไป จะทำให้ผู้โดยสารที่อยู่ในรถคันนั้นไม่ได้รับความนุ่มนวลขณะโดยสาร

SHOCK ABSORBER

โช้คอัพแบ่งได้เป็น 2 แบบ

โช้คอัพสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ได้แก่ โช้คอัพน้ำมัน และโช้คอัพแก็ส แต่ไม่ว่าจะเป็นโช้คอัพแบบไหนก็ใช้หลักการทำงานที่คล้ายคลึงกัน เรามาดูการทำงานของโช้คอัพแบบง่าย ๆ กัน เมื่อเราบรรจุของเหลวที่ค่อนข้างมีความหนืด จำพวกน้ำมันไฮดรอลิคลงในกระบอกของโช้คอัพ แล้วนำแกนของโช้คอัพที่ด้านหนึ่งทำเป็นลูกสูบ ซึ่งก็จะแผ่นกั้นที่เจาะรูเล็ก ๆ ไว้ เพื่อให้น้ำมันไฮดรอลิคไหลผ่านไปได้แต่ไม่สะดวกนัก แผ่นกั้นนี้จะติดตั้งอยู่ตรงหัวของลูกสูบ เมื่อเราดันหรือกดแกนโช้คอัพลงไป น้ำมันไฮดรอลิคก็จะไหลผ่านรูเล็ก ๆ ที่แผ่นกั้น และก็เจ้าตัวแผ่นกั้นนี่เอง เป็นตัวกำหนดว่าโช้คอัพแต่ละตัว จะมีความหนืดต่างกันอย่างไร?

ส่วนความนุ่มนวลที่ได้รับจากโช้คอัพน้ำมันและแก็สนั้น จะต่างกันอยู่ก็ตรงที่การดีดตัวหรือการคืนตัวกลับของโช้คอัพ ซึ่งโช้คอัพน้ำมันจะคืนตัวช้าและดีดตัวได้น้อยกว่าโช้คอัพแก็ส ที่สามารถคืนตัวหรือดีดตัวได้เร็วกว่าและทันทีทันใด ดังนั้นรถที่ใช้ความเร็วสูงค่อนข้างบ่อยอย่างรถเก๋งจึงนิยมใช้โช้คอัพแก็ส ซึ่งโดยปกติแล้วโช้คอัพที่ถูกติดตั้งมาจากโรงงาน มักได้รับการคำนวณสภาพการใช้งานในลักษณะที่ออกเป็นกลาง ๆ ซะส่วนใหญ่ จึงทำให้หลายคนนิยมนำรถของตนเองไปเปลี่ยนเป็นโช้คอัพแบบพิเศษ ที่ให้ค่าความหนืดสูงกว่ามีการดีดตัวกลับที่รวดเร็วกว่า ซึ่งโช้คอัพพิเศษเหล่านี้ จะทำให้การขับขี่ด้วยความเร็วสูงๆมั่นใจยิ่งขึ้น

SHOCK ABSORBER

ถึงเวลาเปลี่ยนโช้คอัพแล้วหรือยัง?

โดยปกติแล้วโช้คอัพหนึ่งตัวจะสามารถงานได้กว่า 50,000 กม. หรือถ้าคิดเป็นการขึ้นลงของตัวโช้คอัพ ก็น่าจะตกอยู่ที่กว่าแสนครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานเป็นเกณฑ์ เพราะรถบางคันอาจจะวิ่งบนถนนที่ราบเรียบสม่ำเสมออยู่เป็นประจำ และไม่แบกน้ำหนักบรรทุกมาก กับรถอีกคันหนึ่งที่ต้องวิ่งอยู่บนถนนที่ขุรขระเป็นหลุมเป็นบ่อแทบทุกวัน แถมยังต้องแบกน้ำหนักบรรทุกมาก ๆ อยู่เป็นประจำ อย่างนี้ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้รถยนต์คันหลังจะใช้ระยะทางวิ่งที่น้อยกว่ารถยนต์คันแรก แต่โช้คอัพที่ใช้ก็น่าจะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าคันแรก ในแถบยุโรปนั้นถนนนทางค่อนข้างเรียบกว่าบ้านเรามาก การทำงานของโช้คอัพจึงเคลื่อนตัวในระยะสั้น ๆ แต่ก็ทำให้เกิดการสึกหรอของแกนโช้คอัพได้เช่นกัน ดังนั้นรถเก๋งในยุโรปจึงมักเปลี่ยนโช้คอัพทั้ง 4 ตัวปีละครั้งเพื่อความปลอดภัย ผิดกับบ้านเราใช้กันจนพัง แถมพังแล้วยังซ่อมอีกไม่ยอมเปลี่ยน เรียกว่าสู้กันให้ตายไปข้างนึงเลย

แต่ก็มีข้อสังเกตได้หลายประการว่า โช้คอัพของรถยนต์เริ่มเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง เช่น รถเริ่มไม่เกาะถนนเมื่อเข้าโค้ง ทั้งที่ยางรถยนต์ยังอยู่ในสภาพดี, ระยะทางเบรกเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่เพิ่งไปเปลี่ยนผ้าเบรกมาใหม่ หรือผ้าเบรกยังเหลืออยู่อีกมากและระบบเบรกก็ปกติดี, ความนุ่มนวลของระบบช่วงล่างลดน้อยลงกว่าเดิม หรือที่พบได้บ่อยๆ ก็คือ หน้ายางสึกไม่สม่ำเสมอ และสึกในลักษณะไม่ปกติ คือ เป็นบั้ง ๆ ช่วง ๆ ถ้าคุณจะพบความผิดปกติเหล่านี้ ก็ควรจะตรวจเช็คโช้คอัพของรถดูได้แล้ว

SHOCK ABSORBER

เช็คโช้คอัพด้วยตัวเอง

การตรวจเช็คที่นิยมทำกันมาเนิ่นนาน ก็คือ การกดตัวรถเพื่อทดสอบการเต้นขึ้น-ลงของตัวรถ วิธีการก็แสนจะง่าย ถ้าเราจะทดสอบโช้คอัพด้านหน้ารถ เราก็กดตัวรถบริเวณฝากระโปรงหน้าหรือสันบังโคลน โดยหาจุดที่แข็งแรงหน่อย ใช้แรงกดให้รถยุบตัวลงมากเท่าที่จะทำได้แล้วปล่อยมือ ให้รถเด้งตัวขึ้นอย่างอิสระ ถ้าโช้คอัพยังอยู่ในสภาพดี รถต้องเด้งตัวขึ้นแล้วหยุด แต่ถ้ามีอาการเด้งขึ้นเด้งลงสองสามครั้งกว่าจะหยุด ก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโช้คอัพน่าจะ “กลับบ้านเก่า” หรือเสื่อมสภาพมากแล้ว ส่วนการทดสอบโช้คอัพด้านท้ายรถก็กระทำในลักษณะเดียวกับด้านหน้ารถ

อย่างที่สองต้องอาศัยการมองและประสาทสัมผัส การมองก็คือ ก้มลงไปดูว่าโช้คอัพที่ติดตั้งอยู่นั้น มีลักษณะบิด,คดงอ หรือมีน้ำมันโช้คอัพไหลเยิ้มออกมานอกตัวโช้คอัพหรือไม่? ส่วนการใช้ประสาทสัมผัสก็คือ หลังจากที่ขับรถผ่านถนนที่ขุรขระมาได้ระยะหนึ่ง เอามือไปแตะที่กระบอกโช้คอัพตัวล่างว่า เกิดความร้อนขึ้นหรือไม่? เพราะโดยปกติแล้วเวลาที่โช้คอัพทำงานตามปกติซักระยะหนึ่ง จะเกิดความร้อนขึ้นจากการทำงานของระบบภายในตัวโช้คอัพ โช้คอัพที่ดีจึงควรเกิดความร้อนขึ้นที่กระบอกโช้คอัพตัวล่างในขณะทำงาน

ถ้ารถยนต์ของคุณมีอาการอย่างที่ว่ามา ก็ควรตรวจสอบด้วยตนเองก่อน ถ้าไม่แน่ใจก็ส่งให้ช่างจัดการตามหลักการของช่างอย่างถูกวิธีจะดีกว่า นี่แหละก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโช้คอัพที่เอามาฝากกัน

advertisement

ยานยนต์ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม