จะเป็นอย่างไร? เมื่อ Deepfake กลายเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่อันตรายต่อผู้หญิง เมื่อถูกตัดต่อคลิปโป๊เสมือนจริงลงห้องแช็ตในแอป Telegram
Deepfake กลายเป็นหนึ่งในปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างความอันตรายให้กับผู้หญิงหลายคน โดยเฉพาะหากเป็นการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้นำไปใช้ในทิศทางที่ดี ย่อมเกิดเป็นผลลัพธ์ที่สร้างผลกระทบ มากกว่าสร้างความยินดีให้กับผู้คน โดยเฉพาะหากถูกนำไปใช้ในเชิงสายดาร์ก การตกเป็นเหยื่อจากการเทคโนโลยี Deepfake กับห้องแช็ตในแอป Telegram จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกครั้งในประเทศเกาหลีใต้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 ประชาชนผู้หญิงในเกาหลีใต้เคยเผชิญกับคดีความใหญ่อย่าง Nth Room ห้องแช็ตออนไลน์ในแอป Telegram ที่ขายรูปและคลิปอนาจาร แบล็คเมล์ ค้ามนุษย์ ล่วงละเมิดทางเพศ และแสวงหาประโยชน์จากผู้หญิง ถือเป็นคดีอาชญากรรมทางเพศที่โหดร้ายที่สุดในรอบหลายปีของเกาหลีใต้
ห้องแช็ต Nth Room ถือเป็นจุดกำเนิดของการก่อคดีอาชญากรรมทางเพศ ที่เกิดเป็นเคสเลียนแบบอย่างห้องแช็ต Doctor’s Room และกรณีล่าสุดห้องแช็ต Deepfake
โดยห้องแช็ตที่เกี่ยวกับเพศส่วนใหญ่ มักถูกกระจายเปิดอยู่ในแอป Telegram เหยื่อทั้งหมดมักเกิดจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้อง ครู คนในครอบครัว รวมไปถึงแฟนคลับที่ตัดต่อหน้าศิลปินด้วย
Deepfake หรือ เทคโนโลยีที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ โดยเป็นการใช้สื่อเพื่อการปลอมแปลงบุคคลดังกล่าว ที่สามารถสร้างได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งเสมือนจริง คลิปวิดีโอเสมือนจริง รวมไปถึงเสียงของบุคคลดังกล่าวด้วย เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในรูปแบบการเรียนรู้เชิงลึก ที่เลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทของมนุษย์
ด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้าดังกล่าว ทำให้การใช้งาน Deepfake กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการปลอมแปลงคุณลักษณะทุกอย่าง ของบุคคลที่กล่าวถึงได้อัตโนมัติ และเป็นการเลียนแบบที่แนบเนียนที่สุด และด้วยความที่มีชื่อเสียงทางการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง จึงกลายเป็นเทคโนโลยีที่เป็นภัยทันที
ข้อมูลจาก business insider ได้ระบุถึงการใช้งาน Deepfake ไว้ดังนี้ "มีการคาดการณ์ว่าคลิปวิดีโอที่ถูกสร้างด้วย AI Deepfake จำนวนกว่าร้อยละ 96 ล้วนเป็นสื่อลามกอนาจาร ที่ถูกใช้ในการลักลอบปลอมแปลงใบหน้าของดารา คนดัง นักแสดง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ใช้แทนนักแสดงหนังโป๊เปลือย ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจนำไปใช้ในทางที่ผิด"
ด้วยอันตรายของ AI Deepfake ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับบุคคลเป็นวงกว้าง ภายหลังหลายประเทศจึงได้มีการออกกฎควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบที่เข้มงวดมากขึ้น บางประเทศมีการออกกฎหมายแบนการใช้งาน AI Deepfake นอกจากนี้แพลตฟอร์มยักษ์ทั้งหลาย ยังมีการออกมาตรการรองรับสำหรับการใช้ AI ที่จงใจสร้างความเสียหายอีกด้วย
สำหรับห้องแช็ต Deepfake เป็นหนึ่งในการปลอมแปลงรูปผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถสร้างได้ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว รวมไปถึงคลิปวิดีโอเสมือนจริง โดยที่ผู้เสียหายไม่รับทราบหรือยินยอม เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการเรียนรู้จากข้อมูลลักษณะของบุคคลนั้น ทำให้บางครั้งสามารถพบผู้เสียหายเป็นไอดอลคนดังได้
ห้องแช็ตดังกล่าวกลายเป็นความสยองขวัญทั่วทั้งระบบการศึกษาก็ว่าได้ เพราะข้อมูลล่าสุดได้รับการเปิดเผยว่า มีเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะชั้นประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย หลายพันคนตกเป็นเหยื่อ รวมไปถึงครูผู้หญิงที่ถูกแอบถ่ายและนำไปตัดต่อเช่นกัน เรื่องราวทวีความรุนแรงจนมีประกาศเตือนว่า
"ไม่ควรเซลฟี่หรือถ่ายรูปติดใบหน้าตัวเองลงในโซเชียลมีเดีย"
จำนวนผู้เสียหายจากห้องแช็ต Deepfake อาจยังไม่ปรากฏตัวเลขที่ชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า มีเหยื่อหลายรายที่คาดว่า อายุต่ำกว่า 16 ปี ที่เป็นเกณฑ์ความยินยอมส่วนบุคคลของเกาหลีใต้ ทั้งนี้ตัวผู้ก่อเหตุเองก็มีบางส่วนที่เป็นวัยรุ่น หรือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย
ข้อมูลจากกรมตำรวจเกาหลีใต้ได้ระบุว่า ในปี 2567 มีคดีอาชญากรรมทางเพศที่เกี่ยวกับ AI Deepfake เป็นจำนวนกว่า 297 คดี เพียงแค่เดือนมกราคมทั้งเดือนก็มีจำนวนสูงกว่าปีก่อนถึง 180 คดี
นอกจากนี้จำนวนคดีที่พบในปัจจุบัน ถือเป็นจำนวนที่มากกว่าถึงสองเท่า จากคดีที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่เป็นการเริ่มเก็บข้อมูลครั้งแรก
ผู้ต้องหาในการกระทำความผิดคดีอาชญากรรมทางเพศ ผ่านเทคโนโลยี Deepfake ส่วนใหญ่ที่จับกุมได้กว่า 113 รายจากจำนวนผู้ต้องหาทั้งหมด 178 ราย เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น มีตั้งแต่อายุ 10 กว่าไปจนถึง 20 กว่าปีทั้งสิ้น และเชื่อว่าจำนวนผู้ก่อเหตุที่ยังจับไม่ได้ หรือผู้ที่กระทำผิดจริงต้องมีมากกว่าตัวเลขที่ปรากฏอย่างเป็นทางการ
บรรดาห้องแช็ตที่ถูกเปิดในแอปพลิเคชัน Telegram ที่มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 200,000 บัญชีผู้ใช้งาน ถูกแบ่งแยกย่อยห้องแช็ตไปตามประเภท เช่น ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะแม่, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะพี่สาว, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะน้องสาว, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะลูกพี่ลูกน้อง, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะลูกสาว, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะคนรู้จัก และห้องที่ใช้ส่งเฉพาะไอดอลคนดัง ฯลฯ
โดยห้องที่ยกตัวอย่างไปในขั้นต้น ถือเป็นขั้นแรกของการมาสิทธิ์เข้าใช้งานห้องใหญ่ กล่าวคือถ้าคุณจะเข้าเป็นสมาชิก ต้องมีการเริ่มทำความผิดก่อน ด้วยการใช้วิธีอัปโหลดรูปของใครก็ได้เข้าไปในห้องแชต จากนั้นรูปดังกล่าวจะกลายเป็น Deepfake ภาพโป๊เปลือย แล้วค่อยใช้ภาพนี้ในการแลกสิทธิ์ใช้งาน โดยผู้ใช้บริการจะได้โอกาสในการทำรูปดัดแปลงฟรี 2 ครั้ง จากนั้นต้องเสียค่าบริการหรือการใช้ เพชร ซึ่งมีราคาต่อชิ้น 0.49 USD หรือ 16.75 บาท
สำหรับผู้ที่ใช้งานห้องแช็ต Telegram เพื่อเข้าดูข้อมูลอนาจาร จะต้องถูกบังคับให้ซื้อเพชรขั้นต่ำที่ 10 เพชร หากซื้อในปริมาณที่สูง ราคาก็จะยังลดลง (กล่าวคือ การซื้อเพชรขั้นต่ำที่จำนวน 10 ชิ้น คือต้องจ่ายในราคา 167.5 บาทไทย)
นอกจากนี้ยังมีโปรโมชันรับเพชรฟรี หากผู้ใช้บริการแนะนำให้เพื่อนเข้ามาใช้งานได้ และที่สำคัญการจ่ายเงินทุกอย่าง ต้องเป็นการชำระผ่านคริปโตเท่านั้น
ระหว่างการดำเนินการปราบปราม เกาหลีใต้ได้เรียกร้องให้ผู้ก่อตั้ง Telegram รับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น กล่าวคือในช่วงที่ต้องเผชิญกับปัญหา Deepfake ในแอปพลิเคชัน Telegram เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้ง Telegram ถูกจับกุมที่ฝรั่งเศส เนื่องจากการปล่อยให้อาชญากรใช้ประโยชน์จากแอปในการก่อความผิด โดยเป็นการขอความร่วมมือร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ Telegram
หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเพศ ได้เปิดเผยว่า
จะทำการปราบปราม Deepfake ที่จัดทำเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังได้ประกาศอีกว่าจะผลักดันกฎหมายให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้การใช้งานเหล่านี้หลายเป็นความผิดทางอาญา
พร้อมทั้งรับคำว่าจะปราบปรามเรื่องการอาชญากรรมทางเพศในดิจิทัลให้สำเร็จภายในระยะเวลา 7 เดือน จัดตั้งสายด่วน 24 ชั่วโมงสำหรับผู้เสียหายที่ต้องการความช่วยเหลือ และจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อกำกับตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
เรื่องของคดีความอาชญากรรมทางเพศ ที่เกิดจากเทเลแกรม (Telegram) ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นภายใต้เกาหลีใต้ ในเวียดนามก็เคยเกิดเรื่องในลักษณะนี้ขึ้นเช่นกัน นอกเหนือไปกว่านั้น สังคมไทยเกิดการตั้งคำถามอีกครั้ง เมื่อผู้ใช้ X (ทวิตเตอร์) ได้ออกมาตั้งคำถามว่า
"ในเมื่อไทยก็มีปัญหาในลักษณะแบบนี้ ด้วยการส่งต่อคลิปวิดีโอในกรุ๊ปไลน์ หรือเข้าใช้งานผ่านบัญชีทวิตเตอร์ หากเป็นการส่งต่อโดยที่เหยื่อไม่ได้ยินยอม จะมีวิธีการใดที่สามารถจัดการได้บ้าง"
เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด จากการพัฒนาเพื่อใช้ในการบำบัด ในวันต่อมากลับกลายเป็นดาบสองคมได้ ดังนั้นแล้วการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากคุณเป็นผู้ใช้งานสิ่งของเหล่านี้ ควรต้องระวังว่ามันจะสร้างความเสียหายให้กับคนอื่น อีกทั้งก่อนการส่งต่อสิ่งใดก็ตาม ควรต้องตรวจสอบให้มั่นใจทุกครั้ง เพื่อไม่ให้การส่งต่อในครั้งนั้นเป็นเหมือนฝันร้ายของใครคนใดคนหนึ่ง
ที่มา : Business Insider (businessinsider.com) / BBC (bbc.com) / The Korea Times (koreatimes.co.kr) / เดอะการ์เดียน (theguardian.com)
Advertisement