เปิดสถิติพื้นที่สีเขียวเมืองไทย หากเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ จะเหลือผืนป่าเท่าไหร่

9 ก.ค. 67

เปิดสถิติพื้นที่สีเขียวของประเทศไทย หากเฉือนป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน 2.6 แสนไร่ ไทยจะเหลือผืนป่าเท่าไหร่

จากกรณีประชาชนและเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติได้แสดงจุดยืน คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 2.65 แสนไร่ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จนเกิดการตั้งคำถามว่า การเพิกถอนเฉือนป่าทับลานครั้งนี้ โปร่งใสหรือไม่ ใครได้ประโยชน์ และการแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนนี้ มีเบื้องหลังจากเกมการเมือง โดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือหรือไม่

ก่อนอื่นเลย จะต้องหานิยามคำว่าป่าไม้เสียก่อนว่า พื้นที่แบบไหน เราถึงจะเรียกว่า "พื้นที่ป่าไม้" และปัจจุบันประเทศไทยหลงเหลือพื้นที่สีเขียวอยู่เท่าไหร่

283910276_330882072493791_527

นิยามพื้นที่ป่าไม้

ป่าไม้ คือ พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้นปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ และหมายรวมถึงทุ่งหญ้าและลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิปตัส หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่าผลผลิตหลักของการดำเนินการไม่ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม

ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เท่าไหร่

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยว่าปี 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้เพียงร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือคิดเป็น 102,135,974.96 ไร่ แบ่งเป็น

53160832686_034fe45dc5_h

• ภาคเหนือ 38,147,662.41 ไร่
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15,695,705.86 ไร่
• ภาคกลาง 12,273,419.39 ไร่
• ภาคตะวันตก 20,083,474.07 ไร่
• ภาคตะวันออก 4,711,228.29 ไร่
• ภาคใต้ 11,224,484.95 ไร่

53161052174_0683533251_h

จังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน 84.31% ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าน้อยที่สุด คือ พระนครศรีอยุธยา 0.2% โดยจังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้มี 3 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง

อย่างไรก็ตาม จากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2565 พบว่า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างจะคงที่ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยมีการลดลงต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) การเกิดจากปัญหาไฟป่า (Forest Fire) หรือการบุกรุกทำลายป่า เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติทับลาน แผ่พื้นที่สีเขียวสองภาครวมเป็นผืนเดียว

สำหรับ อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติในภาคอีสานและภาคตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,240 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1,398,000 ไร่ สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลานซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารต่างๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม นับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

449705039_783839503864710_535_1

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้ อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ พร้อมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"

เฉือนพื้นที่ป่าทับลาน ประเทศไทยจะเหลือผืนป่าเท่าไหร่

จากกรณี การเปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่า จากการสำรวจพื้นที่ 2.6 แสนไร่ที่ต้องการจะเฉือนออกไปนั้นพบว่ามีบุคคล 3 กลุ่ม ที่ใช้พื้นที่ตรงนั้นอยู่ คือ

• ชาวบ้านที่อ้างว่าอยู่ในที่ดินของ ส.ป.ก.ดั้งเดิม ราว 60,000 ไร่
• กลุ่มที่อยู่บนที่ดินที่รัฐจัดสรรให้กลุ่มราษฎรยากไร้ ราว 60,000 ไร่
• กลุ่มชาวบ้านที่บุกเบิกเข้ามาทีหลังและเป็นกลุ่มนายทุน 150,000 ไร่

449747511_783839467198047_176

ซึ่งหากทุกอย่างบรรลุเสร็จสิ้น จากเดิมประเทศไทยมีผืนป่า 102,135,974.96 ไร่ ก็จะเหลือ 101,870,688.38 ไร่ โดยชัยวัฒน์เกรงว่า หากรัฐยินยอมให้เสียพื้นที่ป่าทับลานไปอีก 2.6 แสนไร่ อาจทำให้เรื่องนี้ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนอยู่ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ภูเก็ต เกาะช้าง ฯลฯ รวมแล้วกว่า 4.27 ล้านไร่

เพราะฉะนั้นถ้าใช้เคสป่าทับลาน เป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั้งประเทศ ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยเสียพื้นที่ป่ารวมทั้งหมดประมาณ 4.53 ล้านไร่ สรุปแล้วจะเหลือพื้นที่ป่าเพียง 97.6 ล้านไร่เท่านั้น ไม่ถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่ประเทศ ไม่ตรงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 ที่กำหนดให้ต้องมีการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศ และไม่เป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่ที่ร้อยละ 22 ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการดำเนินงานและมาตรการของหน่วยงานภาครัฐผู้รับผิดชอบ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม