Thames Barrier ถอดบทเรียนลอนดอน สร้างปราการป้องกันน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูง

5 ก.ย. 67

Thames Barrier ถอดบทเรียนกรุงลอนดอน สร้างปราการป้องกันน้ำท่วมเมืองหลวง จากปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ลงทุนสูงแต่คุ้มค่า เกิดประโยชน์กับประชาชนแบบเป็นรูปธรรม

หลายประเทศขณะนี้เริ่มตื่นตัวและหาทางรับมือกับภาวะโลกเดือด ที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน พายุรุนแรง ฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมขัง น้ำทะเลหนุนสูง เมื่อรวมกับปัญหาแผ่นดินทรุด และการซัดกร่อนชายฝั่งของคลื่นทะเล ยิ่งเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้น้ำท่วมเมือง โดยเฉพาะหลายเมืองใหญ่ที่อยู่ริมแม่น้ำหรือติดกับชายฝั่งทะเล เช่น กรุงเทพมหานคร จาการ์ตา โฮจิมินห์ เซี่ยงไฮ้ เวนิส ฯลฯ ที่มีการคาดการณ์จากนักวิทยาศาสตร์ว่าจะเสี่ยงจมทะเลในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็เคยประสบปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูง เนื่องจากมีแม่น้ำเทมส์พาดผ่านกลางเมือง เหมือนกรุงเทพมหานครที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านดั่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเมือง ย้อนไปในปี 1953 เกิดพายุโหมกระหน่ำรุนแรง ทำให้กรุงลอนดอนต้องเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ เกิดน้ำทะเลหนุนสูงถึง 4.7 เมตร ทำให้น้ำจากแม่น้ำเทมส์ไหลบ่าเข้าท่วมกรุงลอนดอนกินพื้นที่กว่า 600 ตารางกิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นถึง 307 ราย ประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5,000 ล้านปอนด์

วิกฤติครั้งนั้นทำให้รัฐบาลเริ่มตระหนักว่าแนวคันกั้นน้ำตามชายฝั่งและตามแนวแม่น้ำเทมส์เริ่มไม่เพียงพอ ไม่สามารถป้องกันได้ในระยะยาว และยังกระทบทิวทัศน์อันสวยงาม รัฐบาลท้องถิ่นกรุงลอนดอนจึงตัดสินใจผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันน้ำท่วม (Flood Protection Act 1973) ในปี 1972 ก่อนจะอนุมัติงบประมาณ 583 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท (เมื่อเทียบเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบัน) สร้างประตูกั้นน้ำแบบเปิดปิดได้ หรือ Thames Barrier โดยตั้งอยู่กลางแม่น้ำเทมส์ในย่านวูลวิช (Woolwich) ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน

gu4hl5yxeaa3bwpcopy

Thames Barrier ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี คือตั้งแต่ 1974-1982 ก่อนจะเริ่มเปิดใช้งานปี 1983 โดยมีลักษณะเป็นตอม่อทรงโดมขนาดใหญ่สูง 20 เมตร ทอดผ่านกั้นตามแนวกว้างของแม่น้ำเทมส์เป็นระยะทาง 520 เมตร โดยใช้ระบบไฮดรอลิกเปิดปิดประตู 10 ประตูที่มีความสูง 15 เมตร โดยแต่ละประตูหนัก 3,000 ตัน แต่ละประตูจะใช้เวลาประมาณ 10 นาทีในการปิดและทั้งแนวกำแพงกั้นน้ำจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเพื่อปิดสนิท

Thames Barrier ช่วยปกป้องพื้นที่ 125 ตารางกิโลเมตรของใจกลางลอนดอน ที่อาจถูกน้ำท่วมที่เกิดจากคลื่นยักษ์ และป้องกันน้ำจากน้ำทะเลที่หนุนเข้ามา ซึ่งเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำลดลงอยู่ในระดับที่ปกติ ประตูจะถูกพับเก็บไว้ไปอยู่ที่ใต้น้ำเพื่อให้เรือแล่นผ่านไปมาได้ โดยเว็บไซต์ทางการของรัฐบาลระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มเปิดใช้งานจนถึงปัจจุบัน Thames Barrier ถูกปิดไปแล้ว 221 ครั้งเพื่อป้องกันน้ำท่วม

afp__20140328__dv1695389__v3_

นอกจากโครงการนี้ กรุงลอนดอนยังมีโครงการป้องกันน้ำท่วมอื่นๆ อีก เช่น โครงการประตูกั้นน้ำขนาดใหญ่ในเขตอุตสาหกรรม ฯลฯ และยังมีแผนจะก่อสร้างคันกั้นน้ำเพิ่มอีก 8 แห่ง เพื่อให้สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ถึงปี 2100 ซึ่งเป็นปีที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยคาดการณ์ว่า โลกจะเจอวิกฤติครั้งใหญ่จากปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูง

และนี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลของภาครัฐที่รู้จักนำวิกฤติที่เกิดขึ้น มาถอดบทเรียนแล้วหาทางป้องกันในระยะยาวอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก หรือรอให้เมืองต้องจมก่อนถึงจะแก้ไข ซึ่งเมื่อถึงวันนี้อาจจะสายเกินไปก็ได้

ที่มา gov.ukAlanBarrierEAthamesbarrierbridge

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม