ย้อนดูข้อมูลผู้สูงอายุทำงานในปี 2566 อาชีพไหนมีผู้สูงอายุทำมากที่สุด

6 ก.ย. 67

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสรุปผลการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2566 ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลในไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2566 (ระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน) พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่มากถึง 5.11 ล้านคน

จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยจำนวนผู้สถิติจำนวนสูงอายุ พ.ศ. 2567 ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 13,450,391 คน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 64,989,504 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.70 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากสถิติเดิมในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 สวนทางกับสัดส่วนอัตราการเกิดและจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหลังจากนี้

จำนวนผู้สูงอายุดังกล่าวนี้ มีทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีไฟในการทำงาน และบางส่วนที่ผันตัวไปเป็นคนว่างงาน ซึ่งการที่ยังมีผู้สูงอายุทำงานอยู่ นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ไม่เพียงแค่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้ในการดำรงชีวิต ยังทำให้ผู้สูงอายุบางคนรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองในฐานะได้ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย

istock-1297005331

อมรินทร์ทีวีพบข้อมูลจำนวนการทำงานของผู้สูงอายุ ปี พ.ศ. 2566 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ได้จัดทำสรุปผลการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย เก็บรวบรวมข้อมูลในไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2566 (ระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน) พบว่าในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่มากถึง 5.11 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 ที่มียอดผูู้สูงอายุทำงานอยู่ที่ 4.74 ล้านคน มากถึง 0.4 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้สูงอายุชายที่มีงานทำ 2.77 ล้านคน และผู้สูงอายุหญิง 2.34 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มสัดส่วนการทำงานของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และกลุ่มผู้สูงอายุชายที่ทำงานยังคงมีสัดส่วนมากกว่าผู้สูงอายุหญิงมาต่อเนื่อง

อาชีพไหนมีผู้สูงอายุนิยมทำมากที่สุด

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังได้เปิดเผยข้อมูลในส่วนของอาชีพที่ผู้สูงอายุ นิยมทำมากที่สุด พบว่า

• การปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านการเกษตรและประมง 57.6%
• กลุ่มอาชีพพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า 19.7%
• ช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 8.1%
• ผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน 7.3%
• อาชีพอื่นๆ 7.3%

307373
อาชีพที่ผู้สูงอายุนิยมทำงานมากที่สุดในปี พ.ศ. 2566

แบ่งตามประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า 5 อันดับแรกที่ผู้สูงอายุทำงานมากที่สุด ได้แก่

• เกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง 59.3%
• การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 13.8%
• การผลิต 7.0%
• ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 6.6%
• การก่อสร้าง 3.0

มาดูในส่วนค่าจ้างหรือเงินเดือนเฉลี่ยของผู้สูงอายุที่ทำงานกันบ้าง พบค่าจ้างในภาคเกษตรกรรม เงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 5,796 บาท/เดือน ส่วนของภาคการผลิต 12,555 บาท/เดือน ตามด้วยส่วนภาคบริการและการค้า 13,848 บาท/เดือน ซึ่งค่าจ้างที่ผู้สูงอายุจะได้รับนั้น ก็ขึ้นอยู่กับภูมิภาคและตามจำนวนค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

ทั้งนี้ผู้สูงอายุจะต้องทำงานเฉลี่ยประมาณ 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าอยู่ในจำนวนชั่วโมงการทำงานปกติ* โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่ทำงานนั้นทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 5- 8 ชั่วโมง และมีผู้ทำงานน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ร้อยละ 29.8 ในขณะที่ผู้สูงอายุที่มีชั่วโมงการทำงานมากกว่า 49 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีร้อยละ 19.5

*ชั่วโมงทำงานปกติต่อสัปดาห์ คือ ผู้ที่ทำงานที่มีชั่วโมงการทำงาน ไม่รวมเวลาพักกลางวัน ตั้งแต่ 35-48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยผู้ทำงานในภาครัฐทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 7 ชั่วโมง ส่วนภาคเอกชนทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมง

istock-1128735755

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้สูงอายุ 

แบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน ดังนี้
1.ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน เช่น ค่าจ้าง ผลตอบแทน ปัญหาจากงานที่ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง และการทำงานหนักก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของปัญหาที่เกิดจากการทำงานเช่นกัน

2.ปัญหาจากความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เช่น ได้รับสารเคมีเป็นพิษ เครื่องมือ/เครื่องจักรเป็นอันตราย และการได้รับอันตรายต่อระบบหูหรือตา เป็นต้น

3. ปัญหาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าหรืออิริยาบถในการทำงาน การทำงานท่ามกลางฝุ่นละออง ควัน กลิ่น และการทำงานในสถานที่สกปรก เป็นต้น

 

ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ,  กรมการปกครอง

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม