ทึ่ง! นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ ลิงมาร์โมเซต มีการตั้งชื่อเรียกกันเองแต่ละตัว เหมือนมนุษย์

10 ก.ย. 67

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ ลิงมาร์โมเซต มีการตั้งชื่อเรียกกันเองแต่ละตัวเหมือนมนุษย์ แสดงถึงกลไกสมองที่ซับซ้อน ซึ่งอาจเป็นเส้นทางที่ทำให้รู้ว่าการสื่อสารของมนุษย์มีการพัฒนาอย่างไร

ดร.เดวิด โอเมอร์ และทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยฮิบรูว์แห่งเยรูซาเลม เผยผลการศึกษาพบว่า "ลิงมาร์โมเซต" มีพฤติกรรมทางสังคมในการตั้งชื่อให้แต่ละตัวเรียกกันเองคล้ายกับมนุษย์ โลมาปากขวด และช้างแอฟริกัน

ในการศึกษานี้ ทีมงานได้บันทึกการสนทนาตามธรรมชาติระหว่างมาร์โมเซตคู่หนึ่ง ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ระหว่างลิงและระบบคอมพิวเตอร์ พวกเขาค้นพบว่าลิงใช้เสียง "ฟี" (phee-calls) เพื่อระบุและสื่อสารระหว่างกัน และยังพบว่าลิงมาร์โมเซตสามารถแยกแยะได้ ตอบสนองได้แม่นยำขึ้นเมื่อมีอีกตัวเรียกชื่อ

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังนำลิงมาร์โมเซต 10 ตัวจาก 3 ครอบครัวที่อยู่คนละฝูง มาทดสอบซึ่งพบว่า แต่ละครอบครัวใช้เสียงเดียวกัน โดยการเรียกลิงแต่ละตัวจะมีโทนเสียงที่แตกต่างกัน เหมือนกับการออกเสียงของมนุษย์ที่มีโทนหนัก-เบา หรือ สูง-ต่ำ

การเรียนรู้นี้ ดูเหมือนจะเกิดขึ้นแม้กระทั่งกับลิงมาร์โมเซตที่โตเต็มวัย ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด เห็นได้จากพวกมันจะเรียนรู้ทั้งเสียงร้องและภาษาถิ่นจากสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม

ดร.เดวิด โอเมอร์ ผู้นำการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า "มาร์โมเซตส์มักอยู่กันเป็นแบบครอบครัวเล็กๆ มีคู่แค่เพียงตัวเดียว คอยช่วยดูแลลูกด้วยกัน เช่นเดียวกับที่มนุษย์ทำ ความคล้ายคลึงกันเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าพวกมันเผชิญกับความท้าทายทางสังคมเชิงวิวัฒนาการที่เทียบเคียงได้กับบรรพบุรุษ ก่อนการเกิดภาษาศาสตร์ในยุคแรกของมนุษย์ ซึ่งอาจทำให้พวกมันพัฒนาวิธีการสื่อสารที่คล้ายคลึงกัน"

การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความซับซ้อนของการสื่อสารทางสังคมระหว่างมาร์โมเซต และความสามารถของมาร์โมเซตในการเรียกกันและกันด้วยการใช้เสียงแบบเฉพาะเจาะจง แสดงให้เห็นว่าพวกมันได้พัฒนากลไกสมองที่ซับซ้อน ซึ่งอาจคล้ายคลึงกับกลไกที่ทำให้เกิดภาษาในมนุษย์ในที่สุด

"การศึกษานี้เปิดช่องทางที่น่าตื่นเต้นสำหรับการวิจัยเพิ่มเติมว่า ความสามารถในการสื่อสารของมนุษย์มีการพัฒนาอย่างไร และเราสามารถเรียนรู้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่มนุษย์ในสังคมของมาร์โมเซตได้"

สำหรับ มาร์โมเซต เป็นลิงมีถิ่นกำเนิดในป่าฝนของลุ่มน้ำอเมซอนตะวันตกในอเมริกาใต้ มีขนาดเล็ก 180-190 มม. น้ำหนัก 235-260 กรัม มีหางยาวเมื่อเทียบกับลำตัว เพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมียเล็กน้อย ขนบนลำตัวมีสีน้ำตาลเทาและเหลืองปนกัน มีขนพู่สีขาวบริเวณหูและสลับเป็นปล้อง ๆ ที่บริเวณหาง ใบหน้าเป็นหนังสีจาง ๆ และมีขนสีขาวตรงหน้าผาก

มีกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งกลิ่นนี้มีความสำคัญมาก โดยต่อมกลิ่นอยู่ในโพรงจมูก มาร์โมเซตจะนำกลิ่นนี้มาป้ายที่หน้าอก ก้น และอวัยวะเพศ เพื่อการสื่อสารกัน ได้แก่ ประกาศอาณาเขต บอกว่าใครเป็นใคร และใช้เกี้ยวพาราสี ที่กลิ่นมีความฉุนรุนแรง เพราะเมื่อกระโดด หรือเกาะบริเวณใด กลิ่นจะไปติดที่บริเวณนั้น โดยตัวเมียตั้งท้องนาน 141-145 วัน ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว แต่โดยปกติมักออกลูกแฝด ลูกมาร์โมเซตหย่านมเมื่ออายุได้ 40-120 วัน โตเต็มวัยเมื่ออายุประมาณ 18-24 เดือน

ที่มา science.org , scitechdaily

advertisement

ข่าวยอดนิยม