จุดยืน พลังประชารัฐ ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา112

17 ต.ค. 67

 

จุดยืน พลังประชารัฐ ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา112 ชี้ไม่ใช่คดีทางการเมือง หวั่นเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ขึ้นในสังคมอีก 

วันที่ 17 ต.ค. 67 นาย ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เปิดเผยว่า ตนได้แถลงจุดยืนของหัวหน้าพรรค และพรรคพลังประชารัฐ ที่ยืนยันคัดค้านการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา112 ไม่ว่าจะกำหนดให้มีเงื่อนไขหรือไม่ก็ตาม ซึ่งปรากฏในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หน้าที่ 31-32 มีความดังนี้ 

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ ให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา110 และมาตรา112 ไม่ว่าจะกำหนดให้มีเงื่อนไขหรือไม่ 

โดยกรรมาธิการส่วนหนึ่งเห็นว่า คดีความผิดตามมาตรานี้เป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และมีกรรมาธิการอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเห็นคัดค้านที่ไม่เห็นด้วยให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มาตรา112 

ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 โดยมีเหตุผล ดังนี้ 

1) ประชาชนทั่วทั้งประเทศจำนวนมากยังมีความเห็นคัดค้านในการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 หากดำเนินการไปจะทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ขึ้นในสังคมอีกครั้งหนึ่ง และจะไม่สามารถทำให้เกิดความปรองดองในสังคมได้ ซึ่งจะทำให้สิ่งที่คณะกรรมาธิการวิสามัญดำเนินการมาทั้งหมดสูญหายไป ดังนั้น หลักการสำคัญที่สุดที่ทำให้ตนไม่เห็นด้วย กับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ คือยังมีประชาชนทั่วทั้งประเทศจำนวนมากที่มีความเห็นคัดค้านเรื่องนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคมกันอย่างมากมาย 

2) มาตรา6 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะ อันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้" ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญา จึงมีการแยกหมวด ด ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้โดยเฉพาะและมีบทบัญญัติใน มาตรา110 มาตรา112 เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตาม มาตรา6 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้จึงเป็นการฝ่าฝืน มาตรา6 ของรัฐธรรมนูญ 

3 ) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่3/2567 วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นกฎหมายคุ้มครองไม่ให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ และเป็นสถาบันหลักของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้เช่นนี้และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองไว้อย่างชัดเจน จึงควรให้ผู้กระทำผิดถูกดำเนินคดีตามกระบวนการ ยุติธรรม แต่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรานี้จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567ซึ่งวินิจฉัยว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง 

อีกทั้งตนไม่เห็นด้วยว่าคดีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 เป็นคดีทางการเมือง เพราะเรื่องทางการเมืองจะต้องเป็นเรื่องระหว่างนักการเมืองด้วยกันหรือเกี่ยวข้องกับประชาชนที่มีอุดมการณ์คล้อยตาม นักการเมือง หรือพรรคการเมือง ซึ่งสามารถมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในคดีทางการเมืองได้ แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องพิจารณาเป็นอีกเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ 

ดังนั้นคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญผูกพันกับทุกองค์กร เพราะที่ผ่านมาเคยมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนุญมีคำวินิจฉัยไว้ว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามและอ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

นอกจากนี้ การกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตาม มาตรา112 จะเป็นการทำให้การกระทำความผิดตาม มาตรา112 ไม่เป็นการกระทำผิดอีกต่อไป ดังนั้น การออกกฎหมายนิรโทษกรรม มาตรา112 จึงจะมีผลกระทบรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองสถาบันมากกว่าการแก้ไข มาตรา112 

ดังนั้น การที่มีการอภิปรายถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่3/2567และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพื่อให้เห็นเจตนาว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะต้องคำนึงไม่ให้ไปฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนั้น ประเด็นที่ควรกังวลอย่างมากคือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ผู้กระทำความผิด มาตรา112 นี้ จะเป็นมูลเหตุนำมาซึ่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศและความเห็นของตนในเรื่องนี้เป็นไปตามความเห็นของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีนโยบายในการปกป้องสถาบันให้มันคงสถาพรตลอดไปเป็นที่ยึดมั่นศรัทธาของประชาชน ไม่ต้องการให้ผู้ใดกลุ่มบุคคลใด มากระทำการใดๆ กระทบกระเทือน ต่อสถาบัน ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา110 มาตรา112 ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น” 

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้เข้าสู่การพิจารณาในระเบียบวาระที่ 4.1ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 ต.ค. 67 แล้ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม