ยักษ์ mRNA จากเยอรมนี "ไบออนเทค" เผย อาจใช้เทคโนโลยี mRNA วัคซีนโควิด ไปใช้กับ "มะเร็ง" ได้ด้วย เร่งวิจัย คาดผลิตใช้ได้จริงภายในปี 2030
แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น จะทำให้เราสามารถคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคต่างๆ จนทำให้คนในยุคปัจจุบันมีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่ก็ยังมีโรคอีกหลายตัวที่ยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนและยารักษาได้ หนึ่งในนั้นก็คือ "มะเร็ง"
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า มะเร็งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากที่สุดในแต่ละปี โดยอยู่ที่เกือบ 10 ล้านคน ในปี 2020 หรือมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเกือบ 1 คน ในทุกๆ 6 คน นำโดยมะเร็งทรวงอก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ล่าสุดที่มีการคิดค้นวัคซีน mRNA ออกมาต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้สำเร็จ ก็ช่วยปลุกความหวังของการพัฒนา "วัคซีนมะเร็ง" ขึ้นมาอีกครั้งว่า เทคโนโลยี mRNA อาจนำมาใช้ทำลายเซลล์มะเร็งได้
อูกูร์ ซาฮิน และ ดร.โอซเลม ตูเรชี สองสามีภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีนโควิด-19 ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไบออนเทค (BioNTech) บริษัทยารายใหญ่จากเยอรมนีที่ร่วมมือกับบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) คิดค้นและผลิตวัคซีน mRNA ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี ว่า อาจคิดค้นวัคซีนรักษาโรคมะเร็งออกมาใช้ได้จริงก่อนสิ้นทศวรรษนี้ หรือภายในปี 2030
ทั้งคู่ระบุว่า กระบวนการในเทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวัคซีนโควิด-19 นั้น สามารถนำมาใช้ในอีกวัตถุประสงค์ได้ เพื่อเตรียมระบบภูมิคุ้มกันให้พร้อมสำหรับการโจมตีเซลล์มะเร็ง ซึ่งการค้นพบความก้าวหน้านี้นี่เอง ที่ทำให้เกิดความหวังว่าจะสามารถผลิตวัคซีนมะเร็งได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยคาดว่าอาจพร้อมใช้ก่อนปี 2030 (พ.ศ. 2573)
ทั้งนี้ วัคซีน mRNA สำหรับรักษาโควิด-19 นั้น เป็นการนำส่งสารพันธุกรรมรวมถึงไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เพื่อให้ร่างกายสร้างโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเป็นโปรตีนส่วนที่จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส COVID-19 ต่อไป
ดร.ตูเรซี ซึ่งยังเป็นหัวหน้าคณะแพทย์ของไบออนเทค กล่าวว่า วิธีเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้เพื่อเตรียมระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งได้ด้วย ขณะที่ไบออนเทคนั้น เดิมทีกำลังทำงานเกี่ยวกับวัคซีนมะเร็ง mRNA อยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด ซึ่งทำให้บริษัทต้องปรับมาผลิตวัคซีนโควิดแทน