นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) ประกาศในวันนี้ (8 เมษายน) ว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะจัดตั้งคณะทำงานระดับชาติเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจและแรงงานในการรับมือกับมาตรการ “ภาษีตอบโต้” หรือการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และรายได้
นายหว่องกล่าวว่า คณะทำงานดังกล่าวมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม นายกัน คิม ยอง เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ สหพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ สหพันธ์นายจ้างแห่งชาติ และสภาสหภาพแรงงานแห่งชาติร่วมเป็นสมาชิก
ในแถลงการณ์ต่อรัฐสภา นายหว่องระบุว่า ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง คณะทำงานชุดนี้จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยภาคธุรกิจและแรงงานรับมือกับความไม่แน่นอนเฉพาะหน้า เสริมสร้างความยืดหยุ่น และเตรียมพร้อมสำหรับภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่
เขาเตือนว่า มาตรการภาษีของสหรัฐอาจกระทบต่อภาคการส่งออกของสิงคโปร์ โดยเฉพาะภาคการผลิตและการค้าส่ง รวมถึงภาคบริการบางประเภท เช่น การเงินและประกันภัย โดยแม้สิงคโปร์จะยังไม่อยู่ในภาวะถดถอย แต่อัตราการเติบโตจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ และในขณะนี้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของปี 2025 ที่เดิมตั้งไว้ระหว่าง 1-3%
“เมื่อการเติบโตลดลง โอกาสการจ้างงานและการขึ้นค่าจ้างก็จะลดลงตาม และหากบริษัทจำนวนมากประสบปัญหา หรือย้ายฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐ ก็อาจมีการเลิกจ้างจำนวนมาก” นายหว่องกล่าว
นอกจากนี้ นายหว่อง ยังแสดงความผิดหวังอย่างชัดเจนต่อมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ โดยชี้ว่าสหรัฐฯ ปฏิบัติต่อสิงคโปร์อย่างไม่เป็นธรรม เพราะแม้สิงคโปร์จะไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และยังขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด แต่กลับถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10% เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น
“ถ้าภาษีนำเข้าถูกกำหนดอย่างเป็นธรรมตามหลักการตอบโต้กันจริง และมีจุดประสงค์เพื่อตอบโต้ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าเท่านั้น สิงคโปร์ก็ควรไม่ต้องเสียภาษีเลยแม้แต่น้อย” นายหว่องกล่าว “แต่ถึงอย่างนั้น เรากลับยังถูกเก็บภาษีในอัตรา 10% ทั้งที่สิงคโปร์ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ และเปิดกว้างด้านการค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี”
นายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า “เรารู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยาวนานระหว่างสองประเทศ การกระทำเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่มิตรประเทศจะทำกัน”
นอกจากนี้ นายหว่องยังตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐกำลังเลือกมองโลกผ่านเลนส์ของการค้าสินค้าเท่านั้น โดยมองข้ามภาพรวมของภาคบริการ ซึ่งในความเป็นจริง สหรัฐมีดุลการค้าเกินดุลอย่างชัดเจนกับหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ การศึกษา บันเทิง หรือบริการธุรกิจ
ในมุมมองของนายหว่อง นี่ไม่ใช่แค่การตั้งกำแพงภาษีธรรมดา แต่เป็นการ “ท้าทายต่อหลักการที่เป็นรากฐานของระเบียบเศรษฐกิจโลก” โดยเฉพาะหลัก Most Favoured Nation (MFN) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งระบุว่าทุกประเทศสมาชิกต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
“หากประเทศต่าง ๆ เอาอย่างแนวทางนี้ โลกจะถอยหลังเข้าสู่การเจรจาแบบตัวต่อตัวที่ไม่มีหลักยึด ไม่มีเวทีกลาง และไม่มีความยุติธรรม ประเทศเล็กอย่างเราอาจไม่มีที่ยืนในเกมนี้”
เขาสรุปอย่างชัดเจนว่า โลกกำลังเดินออกจากหลักการการค้าที่เคยเชื่อมโยงทุกประเทศเข้าด้วยกัน และมุ่งหน้าสู่เวทีที่ผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นผู้กำหนดกติกาแต่เพียงฝ่ายเดียว
ระหว่างการแถลง นายหว่อง เตือนว่า มาตรการนี้ทำให้ทั้งโลกเสี่ยงที่จะเผชิญสงครามการค้าเต็มรูปแบบ เพราะแม้สิงคโปร์จะไม่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้ แต่หลายประเทศอาจไม่เลือกแนวทางเดียวกัน เช่น จีนที่ได้ประกาศมาตรการโต้กลับเรียบร้อยแล้ว และสหภาพยุโรปก็กำลังพิจารณาทางเลือกของตน
นายหว่องกล่าวว่า ขณะนี้ยังมี “ช่วงเวลาสั้นๆ” ที่นานาประเทศสามารถเจรจากับสหรัฐฯ ได้ ก่อนที่ภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน แต่ก็ยังเตือนว่า เมื่อกำแพงการค้าถูกตั้งขึ้นแล้ว มาตรการกีดกันประเภทนี้มักจะคงอยู่ไปอีกนาน การจะลดหรือยกเลิกนั้นยากมาก แม้เหตุผลที่เคยใช้จะหมดความชอบธรรมแล้วก็ตาม
เขาเตือนว่า แม้จะมีการประนีประนอมบางส่วนในภายหลัง ความไม่แน่นอนที่เกิดจากมาตรการรุนแรงเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก และทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
พร้อมกันนี้ นายหว่องเตือนว่า ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรป อาจดำเนินรอยตามสหรัฐฯ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของตน ซึ่งหมายความว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการขึ้นภาษีทั่วโลกในระยะถัดไป
สำหรับชาวสิงคโปร์เอง นายหว่องกล่าวว่า สิงคโปร์ต้องเตรียมใจรับมือกับโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและคาดเดาได้ยาก
อย่างไรก็ตาม แนวทางในการทำการค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์คือการยึดมั่นในจุดแข็งของตนในฐานะศูนย์กลางธุรกิจที่น่าเชื่อถือ และสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับพันธมิตรที่แบ่งปันค่านิยมเดียวกันเรื่องการค้าเสรี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือภายในกลุ่มอาเซียน นายหว่องยกตัวอย่างการหารือกับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ของมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการเร่งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ภายใต้บทบาทของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนปีนี้
รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนจะจัดการประชุมพิเศษในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมการค้าในภูมิภาค และยืนยันความมุ่งมั่นต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
ในระยะสั้น มาตรการที่ประกาศไว้ในงบประมาณประจำปี 2025 จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ได้แก่ คูปองพัฒนาชุมชน (CDC Vouchers), คูปอง SG60, เงินคืนค่าสาธารณูปโภค (USave) และความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มผ่านโครงการ ComCare
สำหรับภาคธุรกิจ รัฐบาลได้ออกมาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล และสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ การแข่งขัน และการขยายตลาดใหม่
“หน่วยงานเศรษฐกิจกำลังหารือกับบริษัทที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเข้าใจสถานการณ์จริง และดูว่ารัฐบาลสามารถสนับสนุนได้อย่างไร” นายหว่องกล่าว พร้อมยืนยันว่า “รัฐบาลพร้อมดำเนินมาตรการเพิ่มเติม หากจำเป็น”