Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดแนวคิด “Worthy Living” ออกแบบบ้านให้ดีต่อเรา ดีต่อโลก
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เปิดแนวคิด “Worthy Living” ออกแบบบ้านให้ดีต่อเรา ดีต่อโลก

4 พ.ย. 65
13:03 น.
|
383
แชร์

แนวคิด “Worthy Living” เกิดจากการผ่านวิกฤตด้านโรคระบาดที่ส่งผลให้เราต้องปรับการใช้ชีวิต บ้านกลายเป็นทั้งที่ทำงาน พื้นที่สร้างรายได้ แหล่งผลิตอาหารในครัวเรือน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายจนเกิดพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ การออกแบบบ้านจึงควรมีคุณค่าในหลายมิติ ที่ไม่ได้สร้างเพื่อตอบสนองตัวเราเองฝ่ายเดียว

ในงานงานบ้านและสวนแฟร์ 2022 ซึ่งจัดในวันที่ 28 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2565 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เดินเข้างานจะพบกับบ้านตัวอย่าง ที่ออกแบบโดย CASE Studio เอาแนวคิด “Worthy Living” มาใช้ทำให้ดีต่อผู้อยู่อาศัย และ ดีต่อโลกด้วย 

ลักษณะการออกแบบบ้านตัวนี้ จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของบ้านถูกแบ่งออกเป็นก้อนๆ ไม่รวมกันเป็นบ้านสี่เหลี่ยมหลังเดียว ลักษณะแบบนี้คือ ตัวบ้านออกแบบด้วยระบบโมดูลาร์ที่ใช้ระยะ 1.20 เมตรเป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของวัสดุส่วนใหญ่ในท้องตลาด ตัวบ้านก้อนหลักเริ่มต้นที่ขนาด 3.60 x 3.60 เมตร และสามารถขยายขนาดให้ยาวขึ้นได้ทีละ 1.20 ม. หรือจะเป็นการต่อกันสองก้อนกลายเป็นขนาด 3.60 x 7.20 เมตรก็ได้  ระบบโมดูลาร์ดีต่อโลก เพราะช่วยให้เหลือเศษวัสดุที่ตัดทิ้งน้อยลง และได้พื้นที่ที่คุ้มค่า ทั้งยังสามารถจัดวางการเชื่อมต่อบ้านกับชานได้ตามต้องการ มาดูกันว่าบ้านหลังนี้ออกแบบให้ดีต่อเรา และดีต่อโลกอย่างไรบ้าง

ออกแบบบ้าน แนวคิด “Worthy Living”

7 การออกแบบที่ดีต่อโลก

  1. รองรับการใช้พลังงานสะอาด หลังคาออกแบบโครงสร้างให้รองรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และสามารถจัดวางให่้อยู่ในทิศที่รับแดดได้ สำหรับผลิตพลังงานสะอาดใช้ภายในบ้านเองได้ หรือขายคืนให้แก่ภาครัฐหากมีปริมาณเหลือใช้

  2. ลดขยะ มีวัสดุเหลือทิ้งน้อย ตัวยูนิตบ้านเริ่มต้นที่ 2 ขนาดคือ 3.60×3.60 เมตร และขนาด 1.20×3.60 เมตร ซึ่งเป็นระบบโมดูลาร์ที่มาจากขนาดมาตรฐานของวัสดุก่อสร้างหลักที่เลือกใช้ คือ เมทัลชีตบุฉนวน และแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ การใช้วัสดุได้เต็มแผ่นโดยไม่ต้องตัดทิ้ง ทำให้เกิดขยะน้อยตามไปด้วย

  3. วัสดุสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ โครงสร้างบ้านหลังนี้ใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลัก ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถนำมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้หากมีการรื้อถอนในอนาคต ทั้งยังสามารถถอดแล้วย้ายไปประกอบในพื้นที่ใหม่ได้

  4. ไม่ขวางทางน้ำ ช่วยระบายน้ำลงผืนดิน บ้านที่ยกสูงขึ้นจากพื้นดิน นอกจากจะช่วยให้อากาศไหลเวียนดีแล้ว ยังไม่เป็นการขวางทางน้ำ และช่วยให้น้ำได้ซึมลงดิน ลดปัญหาการเกิดน้ำท่วม เป็นผลดีต่อต้นไม้โดยรอบบ้าน และระบบนิเวศน์ในพื้นที่

  5. เผื่อพื้นที่ไว้จัดการขยะ การมีพื้นที่นอกบ้านที่เข้าถึงง่าย ทั้งแบบกึ่งเอ๊าต์ดอร์และเอ๊าต์ดอร์ ทำให้มีทางเลือกในการกำจัดขยะได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งทำเป็นปุ๋ยโดยการหมักตามธรรมชาติและผ่านเครื่องกำจัดขยะสมัยใหม่

  6. สร้างอาหารด้วยตัวเอง ลดความสิ้นเปลือง แปลงผักแบบง่ายๆ การเลี้ยงไก่ตามพื้นที่ที่เอื้ออำนวย ช่วยสร้างแหล่งอาหารให้ผู้อยู่อาศัย นำมาซึ่งการลดความสิ้นเปลืองของอาหารเหลือทิ้ง มีการปลูกพืชที่ใช้ในครัวเรือน ทั้งปลูกใหม่และปลูกซ้ำหมุนเวียนกัน

  7. เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน การออกแบบให้มีพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ ย่อมเปิดโอกาสให้มีการสร้างพื้นที่สีเขียวที่มากขึ้น ทั้งการปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อมาช่วยลดความร้อนให้ผนังบ้าน การตกแต่งด้วยต้นไม้ขนาดเล็กและไม้พุ่มตามทางเดิน รวมถึงไม้แขวนตามระเบียง ซึ่งนอกจากสร้างความร่มรื่นในรั้วบ้านแล้ว ช่วยเป็นการเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้โลกด้วย

7 การออกแบบที่ดีต่อเรา

 

  1. ปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ตามการใช้งาน พื้นที่ 1 ยูนิตของบ้านกึ่งสำเร็จรูปนี้ สามารถจัดเป็นฟังก์ชันครบ ใช้นอนได้ทำงานได้ หรือเป็นพื้นที่ที่มีฟังก์ชันเฉพาะ เป็นส่วนต่อขยายของบ้าน อาทิ ครัวที่ต่อเติม ห้องทำงานช่วง WFH หรือเติมชั้นลอยไว้ใช้งานภายในก็ยังได้

  2. เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบ บ้านของแต่ละครอบครัวมีการใช้สอยต่างกันแน่นอน จึงออกแบบให้เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบต่อไปได้ จึงใช้ระบบโมดูลาร์เพื่อให้เจ้าของบ้านจัดเรียงพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับตัวเองได้ จัดวางให้เชื่อมต่อได้พอดีกับขนาดและรูปทรงของที่ดินที่มีอยู่ได้ ตลอดจนการกำหนดช่องเปิดหรือหน้าต่างให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม

  3. ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ก่อสร้างไม่ยุ่งยาก เพราะบ้านหลังนี้คำนึงถึงเรื่องราคาเป็นหลัก จึงออกแบบให้เป็นบ้านที่สามารถก่อสร้างได้รวดเร็วจากโครงเหล็กที่ใช้วัสดุก่อสร้างมาตรฐาน ทำให้ช่างทำงานง่าย ในงบประมาณที่คุ้มค่าและชัดเจน

  4. ลมดี อากาศไหลเวียน ลดความร้อน ตัวบ้านออกแบบให้ยกพื้นเพื่อให้อากาศไหลเวียนได้ดีตามหลักการออกแบบ หรือหากต้องการยกสูงเป็นพื้นที่ใต้ถุนก็ทำได้ นอกจากนี้ยังเลือกใช้เมทัลชีตบุฉนวนเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ที่สำคัญการออกแบบกับสถาปนิกจะช่วยให้มีการวางทิศทางของบ้านที่ถูกต้องได้อีกด้วย

  5. พอดีในพื้นที่ส่วนตัว เชื่อมต่อในพื้นที่ส่วนรวม บ้านไม่ใช่พื้นที่แค่ในห้องอย่างเดียว การออกแบบให้มีชานเป็นตัวเชื่อมกันจึงเสมือนการสร้างพื้นที่ส่วนรวมในแต่ละยูนิตให้เป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ ที่สมาชิกของแต่ละยูนิตสามารถมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ โดยไม่ถูกจำกัดแต่ภายในห้อง

  6. รองรับอนาคตที่ขยายได้แบบเรือนไทย แม้จะเริ่มต้นจากยูนิตขนาดมาตรฐาน แต่ก็สามารถเพิ่มพื้นที่ใช้งานได้ทั้งจากยูนิตขนาด 3.60×3.60 เมตร หรือขนาด 1.20×3.60 เมตร เมื่อมีงบประมาณที่เพิ่มขึ้นหรือจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น คล้ายๆ กับรูปแบบของการต่อเติมของเรือนไทย

  7. เลือกวัสดุได้ตามความชอบ จากโครงสร้างเหล็กนี้ สถาปนิกได้ออกแบบให้มีรายละเอียดที่สามารถกรุเปลือกอาคารทั้งภายนอกและภายในที่หลากหลายพอสมควร เพื่อความสวยงามและดูแลรักษาง่าย อาทิ เมทัลชีต ไม้ฝา หลังคาซีดาร์ การทาสีภายใน และวัสดุพื้นตามต้องการ

    ที่มา:บ้านและสวน 

รูปภาพทั้งหมด

แชร์
เปิดแนวคิด “Worthy Living” ออกแบบบ้านให้ดีต่อเรา ดีต่อโลก