ทักษะภาษาอังกฤษของ "ประเทศไทย" ติดอันดับกลุ่มรั้งท้ายทุกปี ต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี แต่นี่คือตัวตัดสินว่าคนไทยไร้ความสามารถเรื่องภาษาอังกฤษจริงๆ หรือ?
ออกมาแล้วสำหรับผลการจัดอันดับ "ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษทั่วโลก" หรือ English Proficiency Index ที่จัดทำโดย EF หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า EF EPI ซึ่งผลการจัดอันดับในปี 2022 ยังคงมีความคล้ายคลึงเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ "ประเทศไทย" ติดอันดับในกลุ่ม "ทักษะต่ำมาก" (very low) โดยมีคะแนนและอันดับในกลุ่มรั้งท้ายของโลก
ในปี 2022 นี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 97 จากทั้งหมด 111 ประเทศทั่วโลก โดยมีคะแนนดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 423 คะแนน
คนไทยใงช้ภาษาอังกฤษแย่จริงหรือ วัดจากอะไร?
ผลการจัดอันดับภาษาอังกฤษ EF EPI นั้นถูกจับจ้องมาหลายปีแล้วว่าเป็นเหมือนการ "ด้อยค่าประเทศไทย" กลายๆ เพราะวิธีการวัดผล (Methodology) นั้นไม่สามารถสะท้อนทักษะด้านภาษาอังกฤษที่แท้จริงของคนในประเทศออกมาได้
EF (Education First) เป็นโรงเรียนสอนภาษาที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1965 โดย Bertil Hult นักธุรกิจชาวสวีเดน ซึ่งพบว่าการเรียนภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็น และได้เปิดบริษัทขึ้นมาโดยพานักเรียนมัธยมในสวีเดน ไปเรียนภาษาอังกฤษในประเทศอังกฤษ โดย EF นั้นมีชื่อเสียงจากการเป็นโรงเรียนสอนภาษาที่พานักเรียนและบุคคลทั่วไป เดินทางไปเรียนภาษาคอร์สสั้นๆ ในต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้มีแค่ภาษาอังกฤษ แต่ยังรวมถึงภาษาอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมัน อีกด้วย
แต่การจัดอันดับเรื่องทักษะภาษาอังกฤษของ EF EPI กลับไม่ได้กว้างหรือครอบคลุมเหมือนธุรกิจของ EF ที่กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก
บริษัทได้อธิบายถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับว่า มาจากการทำ "ข้อสอบวัดผลทางออนไลน์" ของบริษัท ที่เก็บข้อมูลจากผู้ที่มาทำแบบทดสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง ผ่านทางเว็บไซต์ของ EF โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง อย่างน้อย 400 คน
หมายความว่า นี่ไม่ใช่ข้อสอบวัดทักษะที่กระจายส่งให้กลุ่มตัวอย่างเพื่อจัดทำผลสำรวจโดยเฉพาะ แต่เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลมาจากคนที่มาทำข้อสอบเพื่อวัดทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มคนที่ภาษาอังกฤษไม่ได้แข็งแรงมาก และสนใจที่จะลงคอร์สเรียนกับโรงเรียนสอนภาษาอยู่แล้ว (เป็นคนละกลุ่มกับการวัดผล IELTS หรือ TOEFL เพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ)
เท่ากับว่าแบบทดสอบที่เป็นมาตรวัดนี้ ไม่ได้ผ่านทั้งกลุ่มคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี กลุ่มคนที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ทั้งได้ใช้และไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการทำมาค้าขายด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะพอสะท้อนได้เช่นกันว่า กลุ่มคนที่ทำแบบทดสอบนี้ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ "ได้เรียน" ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐาน (อายุเฉลี่ยกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ 25 ปี) อาจเป็นตัววัดได้ว่าคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนภาษาเพิ่มในแต่ละประเทศนั้น ก็มีพื้นฐานที่แตกต่างกัน และพื้นฐานของไทยอาจจะต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นจริงๆ