หมดยุคโควิดทำ Food Delivery ขาลง คาดปีหน้าธุรกิจหดตัว 0.8 - 6.5% แต่แพลตฟอร์มจะหาทางรอดเบี่ยงไปเน้นที่ธุรกิจรับซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตแทน เอาใจแม่บ้านยุคใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปีหน้า 2566 ตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) น่าจะมีมูลค่าประมาณ 8.1–8.6 หมื่นล้านบาท โดยหดตัวลงประมาณ 0.8-6.5% (เมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปี 2565) จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตประจำวันเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นหลังยุคโควิด
จากดัชนีปริมาณการสั่งอาหารไปส่งยังที่พักจากข้อมูล LINE MAN Wongnai ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 พบว่า เริ่มมีสัญญาณของการทรงตัวถึงชะลอลง หลังจากที่การระบาดของโควิดได้กระตุ้นให้เครื่องชี้ดังกล่าวเร่งตัวขึ้นอย่างมาก สะท้อนว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่คงจะเข้าถึงการใช้บริการนี้มากพอสมควรแล้ว และการเพิ่มปริมาณการสั่งในช่วงข้างหน้า น่าจะมีข้อจำกัดของการเติบโต โดยศูนย์วิจัยฯ คาดว่ามูลค่าตลาดในระยะข้างหน้าจะทรงตัวถึงหดตัวเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปี 2565 ผ่านปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ
อย่างไรก็ดี "พฤติกรรมความเคยชิน" ของผู้บริโภคบางกลุ่มและการทำตลาดอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม จะช่วยให้ในระยะข้างหน้าการใช้งานยังคงมีต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปี 2563-2565 ส่งผลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม "ต้องปรับกลยุทธ์" เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
การปรับตัวในปีหน้า ได้แก่ การขยายฐานตลาดไปยังต่างจังหวัด, การดึงกลุ่มลูกค้าเก่าให้ใช้งานต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอแพคเกจรายเดือน, และการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง เช่น "บริการฝากซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต/ร้านสะดวกซื้อ" (Mart)
ขณะเดียวกัน ก็มีการกระจายฐานธุรกิจไปอย่างหลากหลาย ทำให้การกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ช่วยให้ผู้ประกอบการบางส่วนได้รับประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของผู้บริโภค อาทิ ระบบจัดการร้านอาหาร (POS) ธุรกิจเรียกรถรับส่ง (Ride-hailing) และธุรกิจการจองที่พัก
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ มองว่าในระยะข้างหน้า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหารควรจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพ AI โดยนำฐานข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มาจัดทำโปรโมชั่นที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น "การออกโปรโมชั่นค่าจัดส่ง" เป็นรูปแบบเหมาจ่ายที่ต่ำกว่าการแยกจ่ายต่อครั้งสำหรับกลุ่มผู้ที่ใช้งานความถี่สูง หรือ "การผูกปิ่นโตกับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย" ที่มีข้อจำกัดในการออกไปซื้ออาหารนอกบ้าน และการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ ผ่าน Royalty Program หรือการเลือกช่วงเวลาในการแจกส่วนลด หรือการร่วมทำการตลาดกับร้านอาหารที่มีฐานลูกค้าสูง เพื่อช่วยบริหารจัดการต้นทุนการขายและต้นทุนการตลาดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด