ผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2566 ของบริษัทจดทะเบียนทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง หลายธุรกิจมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนภายหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลง และหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่รายได้สูงมากเป็นอันดับต้น นั่นคือ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ในไตรมาสแรกกวาดรายได้เพิ่มขึ้น 11.2% รายได้รวม 222,372 ล้านบาท ซึ่งรายได้ของ CPALL แบ่งเป็น 51% รายได้จากธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค เช่นธุรกิจของ แม็คโคร โลตัส ส่วนอีก 49% มาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (7-Elven) และธุรกิจอื่นๆ
แม้ว่าสัดส่วนรายได้ของ CPALL มีจากกลุ่มธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า แต่หากดูกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนหักรายการระหว่างกัน แบ่งสัดส่วนตามธุรกิจหลัก กำไรจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ มีสัดส่วน 61 % ซึ่งมากกว่า กำไรจากธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคที่ 39 % แต่สัดส่วนดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
SPOTLIGHT พามาเจาะดูผลประกอบการธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7- Elven ซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 94,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,758 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายได้ของ 7- Eleven มากกว่ารายได้ของห้างยักษ์รวมไปถึงรายได้มากกว่าธุรกิจในกลุ่มอื่นอย่าอสังหาริมทรัพย์หลายบริษัทด้วยซ้ำ
ซึ่งปัจจุบัน 7-Eleven ไตรมาส 1 ปี 2566 มีการเปิดสาขาใหม่ 209 สาขา รวมมีสาขาทั้งสิ้นทั่วประเทศรวม 14,047 สาขา แบ่งเป็น
ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นร้านสแตนด์อโลน ประมาณ 86% ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตททั้งนี้ยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันอยูที่ 78,735 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดซื้อต่อบิล 84 บาท จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 941 คน
ร้าน 7-Eleven ใช้กลยุทธ์รักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ด้วยการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ พร้อมกับโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า รวมทั้งการทำตลาด O2O หรือ Online to Offline อาทิ 7-Eleven Delivery, All Online และ 24Shopping ปัจจุบันมียอดขายจากช่องทางออนไลน์ 10%
ในไตรมาส 1 ปี 2566 สัดส่วนของรายได้จากการขาย 74.5% มาจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 25.5% มาจากสินค้าอุปโภค ซึ่งสัดส่วนรายได้ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค รวมทั้งมีการออกสินค้าใหม่ควบคู่กับโปรโมชั่นของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสามารถดึงดูดลูกค้าได้เพิ่มขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นร้านอิ่มสะดวกเต็มรูปแบบสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม
สำหรับแผนการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ 7-Eleven ขยายทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขาต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แหล่งท่องเที่ยวและทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และอำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยบริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่ในประเทศไทยอีกประมาณ 700 สาขาในปี 2566 และมีเป้าหมายที่จะเปิดร้านสาขาในประเทศกัมพูชาให้ครบ 100 สาขา รวมถึงเปิดสาขาแรกใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 2566
ทั้งนี้ ซีพี ออลล์ วางงบลงทุนร้าน 7-Eleven ปีนี้ ไว้ที่ 12,000 – 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท, การปรับปรุงร้านเดิม 2,900 – 3,500 ล้านบาท, โครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000 – 4,100 ล้านบาท และสินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท
ที่มาข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย