ผลการเลือกตั้งปี 66 ที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้กับสังคมเห็นแล้วว่า ‘พลังโซเชียลมีเดีย’ ต้องเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การหาเสียงของพรรคการเมืองในแบบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากอยากเข้าไปนั่งในใจประชาชนทุกกลุ่ม
‘พรรคก้าวไกล’ ถือเป็นอันดับหนึ่งในพรรคการเมืองที่มีกระแสมากที่สุดในโลกออนไลน์ ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดใน #เลือกตั้ง66 และ ชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นชื่อแคนดิเดต นายกที่คนสนใจมากที่สุด
โดยบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์จากการฟังเสียงประชาชนในสังคมออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม DXT360 ซึ่งเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2566 พบว่า มีการกล่าวถึง (Mention) และ การมีส่วนร่วม (Engagement) ในเรื่องการเลือกตั้งสูงถึง 297,603,177 ครั้ง แบ่งเป็นการกล่าวถึงและมีส่วนร่วมผ่านแพลตฟอร์ม TikTok จำนวน 63%, Facebook 18%, Twitter 15%, Instagram 3% และ YouTube 1%
TikTok ฮิตสุดช่องทางหาเสียง
TikTok : ขึ้นเป็นแพลตฟอร์มลำดับหนึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เกิดขึ้นจากกระแสที่มาแรงของคลิปสั้น โดยมีจำนวนการพูดถึงและและการมีส่วนร่วมมากกว่า 186 ล้านครั้ง คิดเป็น 63% ของทั้งหมด และการเกิดกระแสไวรัลในยุคปัจจุบันล้วนจากติ๊กต็อกทั้งสื้น
Facebook : เป็นแพลตฟอร์มลำดับสองที่ได้รับความนิยม ในหมู่ผู้ใช้งาน โดยผู้ใช้สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมได้ กว่า 54 ล้านครั้ง คิดเป็น 18% ของทั้งหมด และเพจสื่อสำนักงานข่าว ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงเลือกตั้ง
Twitter : เป็นแพลตฟอรม์ที่ชาวเน็ตแชร์ข่าว และรับข่าวสารได้รวดเร็วที่สุด ผ่านการรีทวิต ซึ่งคิดเป็นลำดับที่ 3 ในจำนวน 45 ล้านครั้ง คิดเป็น 15% ของทั้งหมด เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับผู้ต้องการติดตามข่าวสารแบบรายงานสด
ส่วน Instagram และ YouTube เป็นสองช่องทาง ที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด คิดเป็นจำนวน 7 ล้านครั้ง คิดเป็น 3% ของทั้งหมด และ 3 ล้านครั้ง คิดเป็น 1% ของทั้งหมด ตามลำดับ เนื่องจาก Instagram เป็นแพลตฟอร์ม ที่เด่นในการแชร์รูปภาพ แต่ช่วงการเลือกตั้ง ผู้ชมนิยมดูวีดีโอปราศรัยและวีดีโอดีเบตมากกว่าจึงไม่ตอบโจทย์ ส่วนความนิยมของผู้ชมก็เปลี่ยนจากดูคลิปยาวผ่าน Youtube เป็นคลิปสั้นซะมากกว่า
‘ก้าวไกล’ กระแสดีทั้งคน ทั้งพรรค
โดยพรรคการเมืองที่ถูกกล่าวถึงและได้รับความสนใจมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
จากผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนมีการพูดถึงพรรคการเมือง นโยบาย หรือแคนดิเดตนายกที่ตนสนใจในโลกออนไลน์อย่างกว้างขว้าง พรรคก้าวไกล มีประชาชนกล่าวถึงกว่า 17.4 ล้านครั้ง และเป็นพรรคลำดับหนึ่ง ที่ประชาชนกล่าวถึง (Mention) ตามมาด้วย พรรคเพื่อไทย 9.2 ล้านครั้ง, พรรครวมไทยสร้างชาติ 4 ล้านครั้ง, พรรคภูมิใจไทย 2.8 ล้านครั้ง และ พรรคพลังประชารัฐ 2.2 ล้านครั้ง
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกล ยังได้ครองสถิติ ประชาชนพูดถึง แคนดิเดตนายก มากที่สุดในโลกออนไลน์กว่า 49 ล้านครั้ง ตามมาด้วย ประยุทธ์ จันทร์โอชา 18 ล้านครั้ง, เศรษฐา ทวีสิน 4.9 ล้านครั้ง, แพทองธาร ชินวัตร 4.5 ล้านครั้ง, ประวิตร วงษ์สุวรรณ 1 ล้านครั้ง
แฮชแท็ก ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด คือ #เลือกตั้ง66 มีคนโพสมากกว่า 200 ล้านครั้ง คิดเป็น 513.44% เติบโตในรอบ30วัน และมีคนติด #พรรคก้าวไกล เป็นลำดับ 2 กว่า 100ล้านครั้ง
ทั้งนี้ ยังพบว่า แฮชแท็ก กกต. จาก 30 วันที่ผ่านมา ได้มีอัตราการเติบโตกล่าวถึงได้สูงถึง 22,996.08% เนื่องจากในช่วงการเลือกตั้ง66 ประชาชนได้ให้ความสนใจการทำงานของกกต.เป็นอย่างมาก เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญในการนับคะแนและประกาศผลการเลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นในการปฎิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการทำงานของกกต. โดยในช่วงการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 จนเกิดแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม และ #กกตต้องติดคุก
‘พิธา’ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ในช่วงวันที่ 20-23 เม.ย.66 กว่า 36,821 ครั้ง ซึ่งกระแสนี้เกิดจาก หลังออกรายการคนดังนั่งเคลียร์ ซึ่งชาวเน็ตจำนวนมากนำวีดีโอบางช่วงมาตัดต่อลง TikTok พร้อมกับกล่าวชมถึงไหวพริบและความชาญฉลาดของคุณพิธา
เรียกได้ว่าหมดสมัยแล้วกับการเมืองแบบเก่า โซเชียลมีเดีย ถือเป็นช่องทางทรงอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ของพรรคการเมือง รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นเหมือนหูและตาของพรรคการเมือง เพื่อรับฟังเสียงของพี่น้องประชาชน เพื่อขจัดปัญหา Echo Chamber (ห้องเสียงสะท้อนตัวเอง) หรือ สถานการณ์ที่คนจะได้ยินแต่ความคิดเห็นแบบเดียวกัน