6.6 วันแห่งการช้อปปิ้งของหลายคน รอโปรโมชั่นส่วนลดสุดพิเศษกลยุทธ์ยอดฮิตที่บรรดา E- Marketplace นำมาเป็นกลยุทธ์ทุกเดือน และกลายเป็นช่องทางการช้อปปิ้งหลักของคนไทยเช่นกัน ซึ่ง 2 เจ้าใหญ่ในตลาดบ้านเราหนีไม่พ้น Shopee และ Lazada ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยได้ราว 8-11ปีแล้ว โดย Shopee จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยปี 2558 และ Lazada ในปี 2555 แต่หลายปีที่ผ่านมา Shopee และ Lazada ขาดทุนอย่างหนัก ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจที่แข่งขันหั่นราคากันอย่างดุเดือด จนเรียกว่าเป็นสงคราม E- marketplace
แต่ดูเหมือนสงครามกำลังจะสงบลงแล้ว เมื่อผลประกอบการล่าสุดในปี 2565 พบว่า ทั้ง Shopee และ Lazada สามารถทำกำไรได้แล้ว โดยพบว่า Lazada บริษัทสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 2564 กำไร 226 ล้านบาท และมาในปี 2565 กำไร 413 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 82.06% ในขณะที่ Shopee เป็นการทำกำไรครั้งแรกในรอบหลายปีก็ว่าได้ โดยปี 2565 Shopee มีกำไร 2,380 ล้านบาท เติบโตถึง 147.46% เทียบกับปี 2564 ที่ขาดทุนหนักถึง 4,972 ล้านบาทเลยทีเดียว
รายได้และกำไรที่เกิดขึ้นของทั้ง Shopee และ Lazada เป็นการสะท้อนกลยุทธ์ธุรกิจแบบใหม่ที่ใช้เงินทำการตลาดน้อยลง โฟกัสที่การสร้างรายได้มากขึ้น เห็นได้จากการปับขึ้นค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่างจากลูร้านค้าและลูกค้าสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการลดต้นทุน ปรับโครงสร้างองค์กรตั้งแต่บริษัทแม่ ทำให้ทิศทางธุรกิจไปสู่โหมดของการทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตามหากดูภาพรวมของการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยของ Shopee และ Lazada พบว่า 5 ปีของ Shopee นับจากปี 2561 -2565 ยังขาดทุนรวม 15,620 ล้านบาท ส่วน Lazada ขาดทุนรวม 9,701 ล้านบาท
ส่วนในผลายปีที่ผ่านมา Lazada พบข้อมูลว่า สถิติคนไทยเข้าถึงอีคอมเมิร์ซมากถึง 56% ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 61.8% หรือ 43.5 ล้านคนในปี 2568 นั่นแปลว่าโอกาสในธุรกิจ E- marketplace ยังคงมีต่อไป ท่ามกลางการปรับตัวของร้านค้าและผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน