Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ซีอีโอ Lazada คนล่าสุดไม่กลัว TEMU แย่งพื้นที่ ลูกค้าได้ประโยชน์ที่สุด
โดย : อิทธิพัทธ์ วิวัฒรางกูล

ซีอีโอ Lazada คนล่าสุดไม่กลัว TEMU แย่งพื้นที่ ลูกค้าได้ประโยชน์ที่สุด

23 ก.ย. 67
17:32 น.
|
203
แชร์

‘อีคอมเมิร์ซ’ ในไทยยังแข่งขันกันดุเดือดอย่างท่วมๆ จากพฤติกรรมการชอปปิงออนไลน์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าของ ‘อีคอมเมิร์ซไทย’ ในปี 2566 อยู่ที่ 9.8 แสนล้านบาท หรือสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน เติบโตเพิ่มขึ้น 20% เทียบกับปีก่อนหน้า รองลงมาจาก ‘อินโดนีเซีย’ 

เปิดกลยุทธ์ซีอีโอ Lazada คนล่าสุด ไม่หวั่น TEMU แย่งชิ้นเค้ก มองลูกค้าได้ประโยชน์มากที่สุด

ท่ามกลางการแข่งขันที่ยังดุเดือดต่อเนื่อง ‘Lazada’ ยังเห็นถึงการเติบโต ทั้งจากจำนวนผู้ใช้งานในภูมิภาคที่มีสูงถึง 160 ล้านคน และจำนวนผู้ขายที่แอคทีฟต่อเดือนที่ 1 ล้านคน ในขณะที่ Lazada ประเทศไทย มีผู้ขายที่เป็น ‘คนไทย’ มากที่สุด โดยใน 1 ปีที่ผ่านมา ยอดขายของกลุ่มผู้ขายรายย่อย (Marketplace) บน Lazada เติบโตเฉลี่ย 121% จากต้นปี 2566 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2567

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lazada ประเทศไทย เผยว่า การเติบโตของ Lazada สะท้อนได้จากผลกำไรก่อนดอกเบี้ย หรือ ‘EBITDA’ จากการดำเนินธุรกิจใน 6 ประเทศของ Lazada Group (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม) มีผลเป็นบวกเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา 

ถึงแม้การเข้ามาของ ‘TEMU’ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหม่ที่กำลังมาแรงในหลายประเทศรวมถึงไทย ยิ่งตอกย้ำการแข่งในอีคอมเมิร์ซที่ดุเดือดขึ้นกว่าเดิม แต่ ‘วาริสฐา’ มองว่า จากการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ ผลประโยชน์ตกไปที่ ‘ลูกค้า’ มากที่สุด

ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องชูจุดเด่นของแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่อดึงฐานลูกค้ากลุ่มเดิมไว้ รวมถึงการดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม้ไว้ โดย Lazada ประเทศไทย ได้ทำงานผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก เพื่อยกระดับแพลตฟอร์ม และสานต่อการเติบโตที่ยังยืน หลังธุรกิจมีผลกำไรบวกครั้งแรกในครึ่งปีแรกนี้

  1. ตอบโจทย์การใช้งานแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มใหม่ในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย และ Lazada ประเทศไทย วาริสฐา เผยว่า เทรนด์ในปัจจุบันเป็นดังต่อไปนี้:

- 35% ของ ‘นักชอป Gen Z’ ในไทย รับหน้าที่สั่งซื้อสินค้าให้คนในครอบครัว โดยนักชอป Gen Z ซื้อสินค้ากลุ่ม ‘แฟชันและความงาม’ ‘อุปโภคบริโภค’ และ ‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’ มากที่สุด

- ‘นักชอปผู้หญิง’ เห็นถึงการใช้งานที่เพิ่มขึ้นบนแพลตฟอร์ม Lazada ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลักดันการเติบโตของกลุ่มสินค้าแฟชันและบิวตี้ด้วย

- 71% ของนักชอป Lazada ซื้อสินค้าผ่านฟีเจอร์ ‘คำแนะนำ’ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

Lazada ประเทศไทย จึงเดินหน้ากลยุทธ์เพิ่มประสบการณ์การชอปที่แตกต่าง ภายใต้แนวคิด ‘Customer-First’ เน้นการตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการซื้อซ้ำและความเหนียวแน่นของนักช้อป 

โดยในช่วงท้ายปี 2567 Lazada จะขยายพันธมิตรแบรนด์เอ็กซ์คลูซีฟ และรุกเซ็กเมนต์สินค้าลักชูรี บน ‘LazMall’ ผ่านหมวดสินค้า ‘LazMall Premium Brand’ รวมทั้งตอกย้ำ ‘LazLOOK’ ในฐานะจุดหมายสินค้าแฟชัน ผ่านแคมเปญรายสัปดาห์ที่จะเข้ามาสร้างความตื่นเต้นและสีสันให้แก่นักช้อปอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ Lazada สร้างความแตกต่างในหมวดหมู่สินค้าพรีเมียม แฟชัน และความงาม หลังพบยอดขายรวมของ ‘LazMall’ ในช่วงเมกะแคมเปญ ที่โตมากกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับวันปกติ และ ‘LazBEAUTY’ ที่มีจำนวนสมาชิกในไทยกว่า 1 ล้านราย

  1. ลงทุนด้านเทคโนโลยี และ AI

Lazada ได้นำ ‘เทคโนโลยี AI’ เข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและฟีเจอร์ต่างๆ โดยมี ‘Gamification’ เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับนักชอป หลัง ‘LazGame’ มีผู้เล่นเกมกว่า 1 ล้านคนต่อวัน ซึ่งนักชอปกลุ่มนี้ มีการใช้งานแอปพลิเคชันนานกว่าค่าเฉลี่ยของแพลตฟอร์มถึง 3 เท่า และราว 82% กลับมาใช้งานแอปพลิเคชันเป็นประจำทุกวัน

นอกจากนี้ ฟีเจอร์ ‘ถามผู้ใช้งานจริง’ (Ask the Buyer) ที่นำเทคโนโลยี AI มาช่วยตั้งคำถามเชิญชวนให้ลูกค้ามาร่วมรีวิวสินค้า เพื่อช่วยให้ลูกค้ารายใหม่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีการตอบคำถามจากผู้ซื้อจริงไปแล้วกว่า 1.5 ล้านครั้ง

  1. ส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพผู้ขายไทย

ไม่เพียงเท่านี้ Lazada ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องมือการขายสินค้า สนับสนุนผู้ขายให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ เช่น เครื่องมือที่ใช้ AI ช่วยปรับแต่งรูปภาพ เขียนคำอธิบายสินค้า และให้บริการลูกค้า โดยพบว่าสามารถเพิ่มอัตราการซื้อได้กว่า 30%

ในขณะเดียวกัน Lazada ประเทศไทย ร่วมมือระยะยาวกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

แชร์
ซีอีโอ Lazada คนล่าสุดไม่กลัว TEMU แย่งพื้นที่ ลูกค้าได้ประโยชน์ที่สุด