‘ออฟฟิศซินโดรม’ กลายเป็นโรคยอดฮิตไปแล้วสำหรับ ‘คนวัยทำงาน’ ทำให้เป็นโอกาสของธุรกิจ ‘กายภาพบำบัด’ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องหลายปีจนถึงปัจจุบัน ถึงขนาดแบรนด์กีฬาออกมาขยายธุรกิจตั้งคลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา รับเทรนด์
5 เดือนที่ผ่านมา มีผู้รุกเข้ามาทำธุรกิจนี้แล้ว 22 ราย ด้วยวงเงินลงทุนรวม 31.40 ล้านบาท จากปี 2565 ทั้งปี 37 ราย มูลค่าลงทุนรวมกว่า 100 ล้านบาท
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรช่วงอายุ 25 - 54 ปี หรือ กลุ่มวัยทำงาน จำนวนเกือบ 30 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)
ด้วยอัตราการเกิดและการตายที่ลดลง และอายุเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น ทำให้คนกลุ่มนี้หันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ทำงานประจำ
อาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม : Office Syndrome’ เกิดจาก พฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ธุรกิจ ‘กายภาพบำบัด’ เป็นทางเลือกใหม่ของคนวัยทำงานที่เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม รวมถึง ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อและกระดูกที่อาจเกิดจากการเล่นกีฬา หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการและนวัตกรรมเครื่องมือในการรักษาที่ตอบโจทย์ตามมาตรฐานสากลและสะดวกสบาย
โดยคลินิกกายภาพบำบัดให้บริการรักษาหลากหลายวิธี เช่น การใช้ความร้อนแสง เสียง ไฟฟ้า การดัด การดึง การนวด การบริหารร่างกาย การใช้เครื่องมือทางกายภาพชนิดต่างๆ เพื่อฟื้นฟู ป้องกัน ปรับปรุง แก้ไขสมรรถภาพของร่างกายที่เสื่อมสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ ส่งผลให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม และเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในยุคปัจจุบัน
สถิติจัดตั้งธุรกิจกายภาพบำบัด
จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า
ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียน 158 ล้านบาท
ปี 2564 จัดตั้ง 17 ราย เพิ่มขึ้น 41.7% ทุน 31.4 ล้านบาท ลดลง 80.1%
ปี 2565 จัดตั้ง 37 ราย เพิ่มขึ้น 117.7% ทุน 101.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 222.8%
ปี 2566 เดือนมกราคม - พฤษภาคม จัดตั้ง 22 ราย ทุน 31.40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีจัดตั้ง 17 ราย ทุน 36.55 ล้านบาท
ผลประกอบการธุรกิจกายภาพบำบัด
ปี 2562 รายได้รวม อยู่ที่ 267.73 ล้านบาท ขาดทุน 18.79 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 246.94 ล้านบาท ลดลง 7.7% ขาดทุน 15.29 ล้านบาท ลดลง 18.6%
ปี 2564 รายได้รวม 417.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น69.0% กำไร 37.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 143.5%
ทั้งนี้ ผลประกอบการของธุรกิจกายภาพบำบัด ปี 2562 - 2564 รายได้มีความผันผวนเนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยธุรกิจกายภาพบำบัดเป็นธุรกิจบริการที่มีการสัมผัสกัน จึงเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ
ภายหลังที่การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ธุรกิจบริการโดยเฉพาะสุขภาพจึงสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ ขยายธุรกิจ/การบริการที่ครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และมีการเพิ่มสาขาโดยเฉพาะในตัวเมืองที่ประชากรอยู่หนาแน่น รวมทั้ง สถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และกระแสการตื่นตัวรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น
นักธุรกิจการภาพบำบัดส่วนใหญ่เป็นคนไทย
การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 1,632.31 ล้านบาท คิดเป็น 98.0% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด
ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ
จีน มูลค่า 14.85 ล้านบาท คิดเป็น 0.89%
อเมริกัน มูลค่า 5.41 ล้านบาท คิดเป็น 0.32%
ญี่ปุ่น มูลค่า 5.24 ล้านบาท คิดเป็น 0.31%
อื่นๆ มูลค่า 7.74 ล้านบาท คิดเป็น 0.48%
ธุรกิจกายภาพบำบัดในไทยทั้งหมด 175 ราย มูลค่าลงทุนกว่า 1,665.55 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีธุรกิจกายภาพบำบัดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย มีจำนวน 175 ราย คิดเป็น 0.01% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,665.55 ล้านบาท คิดเป็น 0.007% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ถือว่า หากมีใครสนใจเข้ามาบุกตลาดนี้ยังถือว่ามีโอกาสอยู่มาก เพราะความต้องการน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
สถานประกอบการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 91 ราย คิดเป็น 52.00% ทุนจดทะเบียนรวม 1,284.31 ล้านบาท คิดเป็น 77.11%
ภาคกลาง 33 ราย คิดเป็น 18.86%
ภาคเหนือ 15 ราย คิดเป็น 8.57%
ภาคใต้ 13 ราย คิดเป็น 7.43%
ภาคตะวันออก 11 ราย คิดเป็น 6.29%
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 ราย คิดเป็น 4.57%
ภาคตะวันตก 4 ราย คิดเป็น 2.28%
จากกระแสความนิยมของธุรกิจกายภาพบำบัดที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเข้าใช้บริการของผู้บริโภคและการเข้ามาลงทุนในธุรกิจของนักลงทุน ประกอบกับธุรกิจมีการปรับตัวที่น่าสนใจจนสามารถตอบโจทย์ความต้องการและเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้ธุรกิจมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ
จากสำรวจนักลงทุนที่เข้ามาในตลาดธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า มีแบรนด์กีฬาที่มองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านสุขภาพ ได้เข้ามาลงทุนจัดตั้งคลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขนาดใหญ่ในประเทศไทย เป็นการเสริมธุรกิจด้านกีฬาที่ดำเนินกิจการอยู่ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร รวมทั้ง สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้สินค้าและบริการเพื่อขยาย/ต่อยอดสินค้าและบริการ สร้างรายได้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน
“คาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น ทั้งจากความนิยม แนวโน้มธุรกิจ (เทรนด์) และความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาการให้บริการที่ดีมากกว่าเดิม ตลอดจนมีการนำเข้าเครื่องมือที่ทันสมัยมาให้บริการเพื่อดึงดูดและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค” นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าว