อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นฐานการผลิตรถที่สำคัญของภูมิภาคโดยเฉพาะรถยนต์นั่งและรถกระบะ ที่เคยส่งออกได้เป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ปี 2567 สัญญาณวิกฤตกำลังชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทั้งยอดการส่งออก ยอดขายรถจากประเทศไทยดิ่งลงไม่หยุด เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รถพลังงานสะอาด ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตก้าวกระโดด สวนทางกับรถยนต์สันดาปที่เริ่มโดนแย่งส่วนแบ่งออกไปเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง แข่งขันยากขึ้น การปิดโรงงานและเลย์ออฟพนักงานจึงเกิดขึ้นและคาดว่าจะรุนแรงขึ้นในปี 2568 นี้
กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้รายงานสถานการณ์อุตสากรรมรถยนต์ของไทยพบว่า ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และ การผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ทั้งนี้หากดูเฉพาะตัวเลขในเดือน พ.ย. 67 มีการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 117,251 คัน ลดลงร้อยละ 28.23 ยอดขาย 42,309 คัน ลดลงร้อยละ 31.34 ส่งออก 89,646 คัน ลดลงร้อยละ 10 ขณะที่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 464 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46,400 แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 5,519 คัน ลดลงร้อยละ 36.53
ด้วยความเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน จากเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอในขณะที่หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น 22.8% จากไตรมาสสามปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนสูงถึง 89.6% ของ GDP ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลง ยอดขายบ้านลดลงจากปีที่แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในอัตราต่ำ กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งความหวังทั้งปี 67 จะผลิตรถยนต์ให้ได้ 1.5 ล้านคัน ต้องรอลุ้นยอดผลิตเดือนสุดท้ายจะถึง 130,000 คันหรือไม่
สิ่งที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เสนอแนวทางไปให้รัฐบาล คือการจัดตั้งกองทุนชดเชยการขาดทุนจากรถยึดวงเงิน 5 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถกระบะที่เป็นเครื่องมือในการทำมาหากินของประชาชน หากมียอดขายรถกระบะเพิ่มขึ้น 1 แสนคัน หรือมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท รัฐจะมีรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิต 1.8 พันล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.2 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่างบที่นำมาจัดตั้งกองทุนฯ นอกจากนี้ยังมีรายได้จากส่วนอื่นๆ หากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเติมโตได้ดี เอกชนหวังว่า ถ้ากระตุ้นยอดขายรถกระบะเพิ่มอีก 1 แสนคัน ยอดผลิตรถปี 2568 จะอยู่ที่ 1.8-1.9 ล้านคัน น่าจะมีส่วนช่วยให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ 2.8% เป็น 3.1-3.2% ได้
นอกจากเราจะได้เห็นข่าวการปิดโรงงานในภาคการผลิตรถยนต์แล้ว ธุรกิจดีลเลอร์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่กำลังถูกกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าในปี 2567 ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ในไทยต้องเผชิญความยากลำบากตั้งแต่ต้นปีจากปัญหายอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศที่หดตัวสูงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นมากด้านราคา นำมาสู่ผลกระทบต่อทั้งรายได้จากการขายรถยนต์ของดีลเลอร์ที่ลดลง และต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลังดีลเลอร์ต้องแบกสต๊อกรถยนต์ที่ยังขายไม่ได้และต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้จนสุดท้ายกลุ่มธุรกิจดีลเลอร์ที่มีสายป่านการเงินไม่มากพอต้องปิดกิจการไป ทำให้คาดว่าจำนวนดีลเลอร์รถยนต์ในปี 2567จะลดลง 1.4%
ต่อเนื่องมาในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบตลาดรถยนต์ในประเทศน่าจะยังไม่คลี่คลาย เนื่องด้วยเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการจัดการ ส่งผลให้ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ยังต้องเร่งปรับตัวต่อในหลายรูปแบบเพื่อหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจแม้จะไม่ง่าย แนวทางออก เช่น การหารายได้เพิ่มจากการซ่อมบำรุง และการขยายหรือเปลี่ยนไปทำดีลเลอร์ให้ค่ายรถยนต์อื่นที่ยอดขายยังไปได้
อย่างไรก็ตามรายได้จากการซ่อมบำรุงก็คาดว่าจะหดตัวที่1.2% ในปี 2568 หลังจำนวนรถยนต์ที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเป็นลูกค้าหลักคาดทยอยลดลงจนเหลือ 8.89 ล้านคัน หลังยอดขายรถยนต์ในช่วงหลังเผชิญกับหลายวิกฤต
รายได้รวมของดีลเลอร์รถยนต์ปี 2568 คาดปรับลดลง 4.9% รายได้ดีลเลอร์โดยรวมหดตัวต่อจากปี 2567 ที่หดตัวสูงกว่า 32.4% จากปัจจัยสำคัญ คือ
(1) การหดตัวของรายได้จากการขาย 5.4% หลังยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2568 ยังคาดการณ์ว่าจะหดตัวต่อ เหลือ 5.3 แสนคัน
(2) การหดตัวของรายได้จากการซ่อมบำรุงที่ 1.2% ตามจำนวนรถที่เข้าใช้บริการที่ลดลง
ทั้งนี้กลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยอาจหดตัว 6.8% ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึง38.4% นำโดยรถปิกอัพ ที่มีส่วนแบ่งถึง 85% ของยอดขาย รถเพื่อการพาณิชย์รวม เพราะผู้ซื้อเป็นกลุ่มที่มีรายรับไม่แน่นอน จึงส่งผลต่อการขออนุมัติ สินเชื่อค่อนข้างมาก ซึ่งนั่นบ่งชี้ถึงโอกาสที่กลุ่มดีลเลอร์ที่เน้นจำหน่ายรถเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะปิกอัพ มีโอกาสเสียรายได้จากการขายมากกว่ากลุ่มอื่น
กลุ่มรถยนต์นั่งหดตัวน้อยกว่ารถเพื่อการพาณิชย์ที่ 4.4% ในปี 2568 สาเหตุจากยอดขายรถยนต์สันดาปที่คาดว่าจะปรับลดลงค่อนข้างมาก แม้จะมียอดขายของกลุ่มรถยนต์นั่ง xEV ที่ขยายตัวขึ้นช่วยพยุง จนทำให้ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์นั่ง xEV ขยับขึ้นมาสู่ระดับ 73% ของยอดขายรวมก็ตาม โดยรถยนต์นั่งกลุ่ม xEV ที่ขยายตัวสูงสุด คือ รถยนต์นั่ง HEV (ไฮบริด) ตามด้วยรถยนต์นั่งPHEV (ปลั๊กอินไฮบริด) ส่วนรถยนต์นั่ง BEV (รถไฟฟ้า100%) แม้จะเติบโตเช่นกันแต่ในอัตราที่น้อยกว่าที่ 2.9% เนื่องจากแม้การแข่งขันด้านราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ยังมีประเด็นกังวลด้านการใช้งาน ราคาขายต่อมือสอง และสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่
กลุ่มรถยนต์นั่ง BEV ที่เป็นรถหรูพบมีโอกาสที่จะเติบโต 3.8% ในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าตลาดรถยนต์นั่ง BEV โดยรวมจากการแข่งขันราคาที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับผู้ซื้อเป็นกลุ่มรายได้มั่นคง จึงไม่ถูกกระทบจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเหมือน BEV ที่ราคาต่ำกว่า
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อรถยนต์นั่ง xEV ดังกล่าวหลังการแข่งขันด้านราคาเพิ่มสูงขึ้น ย่อมเป็นผลบวกกับรายได้จากการขายของดีลเลอร์ที่เน้นขายรถยนต์นั่ง xEV ซึ่งจะสวนทางกับดีลเลอร์รถยนต์นั่ง ICE ที่เจอปัญหาความนิยมตกลงมากทำให้รายได้จากการขายลดลงตาม ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นกับดีลเลอร์ที่ขายรถเพื่อการพาณิชย์เช่นกันที่กำลังเผชิญกับปัญหายอดขายตกต่ำอย่างหนัก