Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
2023 กำลังจะหมดไป ทักษะไหนที่กำลังจะตกยุค และ ‘ไม่ได้ไปต่อ’?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

2023 กำลังจะหมดไป ทักษะไหนที่กำลังจะตกยุค และ ‘ไม่ได้ไปต่อ’?

29 ธ.ค. 66
11:06 น.
|
802
แชร์

เข้าใกล้วันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่แบบนี้ เชื่อว่าหลายคนคงมี ‘New Year Resolution’ หรือสิ่งดีๆ ที่อยากทำในปี 2024 ลิสต์กันไว้บ้างแล้ว โดยหนึ่งเป้าหมายยอดฮิต คือการพัฒนาทักษะของตน ให้เก่งขึ้น ดีขึ้นกว่าเดิม

 

(m)istock-1475192636



แต่ด้วยโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว แถมยังถูกเร่งด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI ทำให้บางทักษะอาจถือได้ว่ากำลังจะ “ตกยุค” และไม่ได้ทรงเสน่ห์ ดึงดูดนายจ้าง หรือเป็นประโยชน์ต่อการสร้างอาชีพดังเดิมแล้ว Spotlight จึงได้รวบรวม 5 ทักษะที่คุณควรปล่อยทิ้งไว้ในปี 2023

 

5 ทักษะที่กำลังจะตกยุคในปี 2023

 

1) การเรียน การสอนแบบสูตรเดิมๆ

 
เพราะอะไร : ครั้งหนึ่ง การเรียนในห้องเรียนเคยเป็นแหล่งการรู้ที่สำคัญที่สุด เพียงเราอ่านหนังสือ ทำความเข้าใจบทเรียนและเนื้อหามาล่วงหน้า ตั้งใจสิ่งที่ครูสอนในห้อง ทำผลการเรียนให้ดี ก็เพียงพอต่อการเป็นคนเก่งที่ใครๆ ต้องการตัวแล้ว

แต่ในโลกสมัยนี้โดยเฉพาะหลังการเข้ามาของหลากหลายเทคโนโลยี พร้อมกับไอเดียของคนเก่งๆ ที่สร้างวิธีการทำงานใหม่ๆ จนเกิดเป็นวิธีที่ไม่เคยมีอยู่ในตำรามากมาย หน้าที่ของห้องเรียนจึงไม่ควรเป็นแค่แหล่งที่ผู้เรียนจะมารับองค์ความรู้ แต่ควรเป็นพื้นที่ฝึกฝนความคิด วิธีคิด และสิ่งที่ต้องเตรียมตัวมาล่วงหน้า ไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือ แต่เป็นการหาความรู้นอกหนังสือที่มีอยู่ในทุกที่

แล้วควรทำอะไร : ฝึกการเรียนรู้ด้วยตัวเองเพิ่มเติมผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ คอนเทนต์จากสื่อออนไลน์ของผู้เชี่ยวชาญ พอดแคสต์ หรือการสัมผัสงงานจริง รวมถึงขยายความรู้ความเข้าใจให้นอกเหนือสายงาน หรือความถนัดของตัวเอง เพื่อให้เข้าใจภาพรวมว่าแต่ละศาสตร์เชื่อมโยง สัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อให้เราสามารถบูรณาการความรู้หลากหลาย พร้อมนำเทคโนโลยี หรือหลักคิดใหม่ๆ มาใช้กับงานของเราได้ และทำให้วิธีคิด วิธีการทำงานของเรา สดใหม่อยู่เสมอ
 

 
2) ‘Soft’ Skill - ‘Hard’ Skill

 

เพราอะไร : คอนเซปต์การแบ่ง ‘Soft’ Skill : ทักษะที่ ‘ช่วย’ เสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และ ‘Hard’ Skill : ทักษะเฉพาะทางที่ต้องฝึกฝนจนชำนาญ เพื่อการใช้ทำงานจริง นั้นอาจล้าหลังไปแล้วสำหรับยุคใหม่ และแนวคิดที่ว่า ต้องพัฒนา Hard Skill ให้ชำนาญ แล้วเสริม Soft Skill ให้พร้อมใช้ ก็อาจเป็นการจำกัดกรอบความคิดเกินไป

เพราะโจทย์ในโลกการทำงานสมัยนี้ซับซ้อนขึ้น และแปลกใหม่ขึ้นมาก และต้องอาศัยการทำงานข้ามสายงาน ผสานหลากหลายองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังต้องการไอเดียเพื่อมาทำงานเดิม ในวิธีใหม่ เพื่อให้ใช้เวลาน้อยลง หรือเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน

แล้วควรทำอะไร : ลบเส้นแบ่ง Soft Skill - Hard Skill ออกไป แล้วมองภาพรวมว่าเนื้องานที่คุณทำหรือดูแลอยู่ ต้องการทักษะอะไรบ้าง เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน ควรมีทักษะทั้งการเขียนโค้ด การคิดวิเคราะห์ การคิดเป็นระบบ การเข้าใจผู้ใช้งาน การสื่อสารกับคนในทีม และทีมอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทักษะเหล่านี้ มาพร้อมกัน ขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้ การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ในปี 2024 จึงควรตั้งเป้าหมายทักษะที่พึงมี และพัฒนาควบคู่กันไปทั้งหมดโดยไม่จำกัดว่านั่นคือ Soft Skill หรือ Hard Skill

 

(m)istock-ybp_078



3) ทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐาน

 
เพราะอะไร : หากย้อนไปสัก 4-5 ปีก่อน การระบุว่าเรามีทักษะพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรมพื้นฐานเช่น Word, Excel, Powerpoint ได้ อาจเป็นเรื่องเพียงพอที่จะทำให้คุณเป็นผู้สมัครที่น่าสนใจ แต่ในยุคสมัยนี้ที่แค่ในสมาร์ทโฟนก็มีแอปพลิเคชั่นพร้อมให้ดาวน์โหลดเกือบ 9 ล้านแอปแล้ว

ยังไม่นับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงโปรแกรมที่เปิดให้ใช้งานผ่านเว็บไซต์ (Web-based) ซึ่งครอบคลุมหลากหลายด้าน ต้ังแต่โซเชียลมีเดีย การจัดการระบบหลังบ้านร้านค้า บริหารทรัพยากรบุคคล เขียนโค้ด ออกแบบ ทำกราฟฟิก คำนวณเชิงลึก ฯลฯ ยิ่งถ้าคุณจำเป็นต้องทำงานในสายงานที่มีโปรแกรมเฉพาะด้านออกมารองรับ รวมถึงการเข้ามาของ AI ที่อยากได้อะไรเพียงแค่ป้อนคำสั่ง แล้ว AI จะเนรมิตมาให้ การเพียงพิมพ์งานได้ หรือสร้างตาราง สร้างพรีเซนเทชั่นได้ ก็ถือว่าล้าหลังไปเลย

แล้วควรทำอะไร : เรียนรู้การใช้งานโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันเฉพาะทางที่จะทำให้การทำงานของคุณง่ายขึ้น รวมถึงสำรวจตลาดว่าในสายงานของคุณ ควรจะใช้โปรแกรมไหนเป็นบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า คงเป็นเรื่องดีหากคุณสามารถใช้งานได้อย่างเชี่ยวชาญ แต่หากไม่ถึงขั้นนั้น ขอแค่เพียงคุณเข้าใจเฉพาะฟีเจอร์ที่จำเป็นในการทำงานของคุณ หรือการใช้งานพื้นฐานเพียงพอให้คุณสามารถนำไปสื่อสารกับแผนกอื่นๆ ที่ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังได้

ขอยกตัวอย่างจากสายงานข่าว ในตำแหน่ง Content Creator นอกเหนือจากว่าคุณจะเข้าใจโปรแกรมเอกสารที่คุณจะต้องใช้พิมพ์งานเป็นหลักแล้ว การสามารถวางภาพคร่าวๆ ด้วย Canva, ส่องหาเทรนด์บนโลกออนไลน์ผ่าน Social Listening Tools, วัดผลงานของ Content ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์ผลหลังบ้านของแต่ละแพลตฟอร์ม, สร้างกราฟหรือแผนภาพที่จะช่วยสื่อสารเนื้อหาให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้นด้วยโปรแกรม Spreadsheet หรือ Data Visualization หรือใช้ ChatGPT ช่วยทำความเข้าใจเนื้อหาเฉพาะด้าน ก็จะทำให้คุณสามารถดึงศักยภาพตัวเองออกมาใช้ และสื่อสารกับทีมอื่นๆ ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นไปอีก


4) Hard Sell

 
เพราะอะไร : หากทุกคนมีช่องทางการขายผ่านทางหน้าร้านเหมือนกัน และจำนวนผู้ขายยังมีไม่มาก คงมีไม่กี่กระบวนท่าที่จะสามารถนำมาใช้สร้างยอดขายได้ เช่น การเลือกสินค้าที่เป็นที่นิยมมาขาย การจัดโปรโมชั่น การเลือกทำเลร้านที่เป็นแหล่งรวมคน รวมถึงการ ‘Hard Sell’ หรือการขายกันแบบโต้งๆ เร่งเร้าให้ลูกค้าตัดสินใจ โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์กับลูกค้ามากเท่าไร เพราะถึงอย่างไร ลูกค้าก็ต้องวนกลับมาซื้ออยู่ดี

แต่ในยุคนี้ ลูกค้ามีทางเลือกอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ทุกเวลา ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และเราไม่ได้แค่กำลังแข่งกับคู่แข่งในประเทศเท่านั้น แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซยังเชื่อมต่อคู่แข่งจากต่างประเทศมาแสวงหาโอกาสช่วงชิงลูกค้าจากเรา ดังนั้น หากลูกค้าเกิดไม่พอใจ นอกจากเราจะตัดโอกาสการซื้อซ้ำจากลูกค้าคนเดิมแล้ว ถ้าลูกค้ารีวิวไม่ดี หรือบอกต่อในโซเชียลมีเดียว่าเราบริการไม่ได้ ทีนี้จะทำให้ลูกค้าใหม่ไม่กล้าซื้อ ปิดโอกาสขาย เปิดโอกาสเจ๊งให้ธุรกิจแบบทันตาเห็น

แล้วคุณควรทำอะไร : ยุคสมัยนี้มีทั้งแนวคิด และเครื่องมือการตลาดใหม่ๆ ให้เลือก ให้ลองใช้มากมาย ตัวอย่างเช่น การตลาดแบบ ‘Inbound Marketing’ ที่อาศัยการดึงดูดลูกค้าผ่านทางการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าผ่านการสื่อสาร หรือคอนเทนต์จากแบรนด์ ให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจในแบรนด์ก่อน แล้วก็จะวิ่งเข้ามาหาแบรนด์เอง, กลยุทธ์การปั้นคอนเทนต์ให้ติด SEO หรือติดระบบการค้นหา เป็นลูกรัก Search Engine เมื่อลูกค้าหาเจอเนื้อหาจากร้านของเราบ่อย ก็จะรู้สึกว่าร้านของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ น่าไว้ใจ และจะเดินเข้ามาหาเราเอง

หรือถ้าเป็นกลยุทธ์คลาสสิก การสร้างคอมมูนิตี้ หรือพื้นที่เฉพาะกลุ่มที่ลูกค้าสบายใจ และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งด้วย ก็ทำให้ลูกค้ากลับมาอุดหนุนซ้ำๆ ได้ไม่รู้จบ ซึ่งนี่เป็นเคล็ดลับเบื้องหลังของสภากาแฟ หรือร้านโรตี-น้ำชา ที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี คนก็ยังแน่นร้าน ซึ่งองค์ความรู้ด้านการตลาดเหล่านี้ จะสามารถสร้างยอดขายและได้ความรักจากลูกค้าอย่างยั่งยืนมากกว่าการ Hard Sell

 

(m)istock-157671706

 
5) งานเอกสาร - การอำนวยความสะดวกการประชุม

เพราะอะไร : การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเข้ามาของ AI กำลังเปลี่ยนโลกการทำงานไปยังความปกติใหม่ที่อาจไม่หวนกลับคืน การประชุมที่เคยต้องเจอกันแบบตัวเป็นๆ ตลอดกลายเป็นแบบลูกผสมหรือ ‘Hybrid’ เจอกันเฉพาะนัดสำคัญที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น งานเอกสารซ้ำซ้อนที่เคยต้องใช้คน ใช้เวลามากมายในการมาจัดการดูแล ก็กำลังถูกเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลที่ซ้ำซ้อนน้อยลง

แถมการเข้ามาของ AI ยังกระทบสองสิ่งนี้ ในแง่ที่ว่า AI สามารถสรุปเนื้อหาการประชุมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลา และความถี่ของการประชุม และในงานเอกสารนั้น AI จะเข้ามาช่วยตั้งแต่การนำเข้าข้อมูล การเรียกใช้ข้อมูล ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูล ลดปริมาณงานซ้ำซ้อนที่คนต้องทำได้อย่างมหาศาล

แล้วคุณควรทำอะไร : งานเอกสาร และการประชุมยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกธุรกิจ เพียงแต่หน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไป ทักษะที่จำเป็นในยุคใหม่จึงเป็นการสร้างห้องประชุมออนไลน์ และเตรียมระบบที่จะนำ AI เข้ามาเสริม เช่น Microsoft Teams with Copilot เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าร่วมประชุม มีประสิทธิภาพการประชุมสูงสุด

พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมการใช้ AI ที่จะฝังอยู่ในโปรแกรมเอกสาร และ Spreadsheet ซึ่งจากที่ต้องนั่งทุกขั้นตอนด้วยมือ วันนี้หลายอย่างจะเหลือแค่การพิมพ์คำสั่งเพื่อให้ AI ไปทำต่อ ซึ่งสะท้อนว่าวิธีคิดการทำงานจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นการทำ การลงแรงให้เกิดผลลัพธ์ เป็นการตั้งโจทย์ วางกระบวนการ เพื่อให้ AI ขับเคลื่อนไปสู่ผลลัพธ์นั่นเอง

 

ตั้งเป้าหมายปีใหม่แบบ ‘SMART’

 

smart-goals 

 

การเปลี่ยนแปลงตัวเองรับปีใหม่ 2024 จะเป็นจริงได้ ต้องอาศัยกลยุทธ์การตั้งเป้าหมายแบบ ‘SMART’ ซึ่งประกอบด้วย

  • S - Specific (จำเพาะเจาะจง) : ระบุเป้าหมายแบบจำเพาะเจาะจง เช่น จะพัฒนาทักษะการไลฟ์บน TikTok เพื่อสร้างฐานลูกค้า ไม่ใช่ จะพัฒนาทักษะการตลาดออนไลน์
  • Measurearable (วัดผลได้) : ระบุเกณฑ์ที่วัดผลได้ำสำหรับทั้งเป้าใหญ่ และเป้าเล็ก เช่น มีคนดูวันละไม่ต่ำกว่า 50 คน และสร้างฐานคนดู 5,000 คนใน 1 เดือน
  • Achievable (ทำได้จริง) : ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง ไม่ใช่เป้าหมายสวยงามเกินจริงแล้วทำไม่ได้ จนหมดกำลังใจ หรือทำให้เป้าหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในการฝึกไลฟ์เดือนแรก ตั้งเป้าหมายคนดูรวมที่ 5,000 คน ไม่ใช่ 50 ล้านคน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้น
  • Relevant (ยึดโยงกับคุณค่า) : เป้าหมายที่ตั้งขึ้นนั้นควรเกี่ยวข้องกับคุณหรือธุรกิจของคุณในระดับคุณค่า หรือแก่นแท้ และเชื่อมโยงไปถึงเป้าหมายใหญ่ในระยะยาวด้วย เช่น ต้องการสร้างฐานผู้ติดตามไลฟ์บน TikTok ให้ได้เดือนละ 5 พันคน เพราะต้องการสร้างช่องทางการขายออนไลน์ให้แข็งแรง ขยายจากช่องทางการขายเดิม
  • Time-based (มีกรอบเวลาชัดเจน) : ตั้งกรอบเวลาชัดเจนสำหรับเป้าหมาย เพื่อสร้างแรงผลักดันเชิงบวก และทำให้สามารถเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังได้ เช่น ตั้งกรอบเวลามียอดผู้ชมหลักแสนใน 10 เดือน เพื่อที่จะได้แตกออกมาเป็นเป้าหมายย่อยในแต่ละเดือน และบริหารเวลาว่าควรไลฟ์จริงเท่าไร ควรแบ่งเวลามาปรับปรุงสินค้า และกลยุทธ์การไลฟ์อย่างไร

 
หากคุณตั้งเป้าหมายการพัฒนาทักษะรับปีใหม่ตามหลัก ‘SMART’ แบบนี้แล้ว คุณก็จะได้เป้าหมายอันเป็นเหมือนเส้นชัยที่ชัดเจน ทำให้คุณสามารถเดินตามได้อย่างเป็นระบบ และมั่นคง

 

(m)istock-638620964


สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณอยากจะเพิ่มเติมทักษะอะไร มีเป้าหมายอยากเห็นตัวเองเก่งขึ้นแค่ไหน Spotlight ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณสามารถไปถึงฝั่งฝันนั้นได้ ด้วยกำลังใจเต็มเปี่ยม และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เข้าถึงหน้าที่ใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่คุณค่าทางใจที่เพิ่มขึ้น และความมั่งคั่งที่จะงอกเงยขึ้นไปในอนาคต

 

ที่มา : WEF, Forbes, EmploymentHero, Learn Your Skills

แชร์
2023 กำลังจะหมดไป ทักษะไหนที่กำลังจะตกยุค และ ‘ไม่ได้ไปต่อ’?