โลกทุกวันนี้ มีเทคโนโลยีแทรกซึมอยู่ในทุกขณะลมหายใจ มากไปกว่านั้น ทุกพฤติกรรม ทุกการเคลื่อนไหว เช่น การไถฟีด สั่งอาหาร เดินทาง หรือจ่ายเงิน กำลังถูกเก็บข้อมูลโดยผู้ให้บริการ เพราะในยุคนี้ ข้อมูล คือ สินทรัพย์ที่แสนล้ำค่า ดังคำกล่าวว่า ‘Data is the New Oil’ จึงไม่น่าแปลกใจที่อาชีพในสายเทคโนโลยี จะมีเงินเดือนสูงเป็นอันดับต้นๆ เทียบกับสายอื่นๆ
แต่เมื่อมองลึกลงไป ความต้องการในตลาดแรงงานไม่ได้ถูกจำกัดแค่คนที่จบมาจากสายนี้เท่านั้น แต่ในทุกสาขาอาชีพ ใครที่มี ‘ทักษะด้านดิจิทัล’ (Digital Skills) ที่ช่วยเสริมศักยภาพให้ทั้งงานของตัวเอง และขององค์กร ก็ล้วนเป็นที่ต้องการตัวทั้งสิ้น จนทำให้บริษัทน้อยใหญ่ ทุ่มเงินจ่ายเงินเพิ่ม เป็นค่าความสามารถที่ไม่ว่าที่ใดก็อยากได้มาครอบครอง
ผลสำรวจของ AWS ผู้นำด้านแพลตฟอร์มคลาวด์ระดับโลก เผยว่า ในหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แรงงานที่มีทักษะทางดิจิทัล จะได้รับเงินเดือน ‘สูงกว่า’ แรงงานที่มีระดับการศึกษาเท่ากัน อย่างมีนัยสำคัญ
ผลการสำรวจความแตกต่างของเงินเดือนที่พนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล ได้มากกว่าผู้ที่ขาดทักษะทางดิจิทัล เป็นดังนี้
*หมายเหตุ : ประเทศออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ สายงานที่ได้ค่าตอบแทนสูงสุดเป็นสายงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของออสเตรเลีย ที่เผยว่า สายงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นสายงานที่มีรายได้สูงที่สุด สูงกว่าอาชีพในสายการสื่อสารและการโทรคมนาคมถึง 21% และสูงกว่าอาชีพในสายภาคบริการ, วิทยาศาสตร์ และสายเทคนิคถึง 30% นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมในออสเตรเลียคนมีทักษะด้านดิจิทัลถึงมีรายได้สูกว่าแค่ 5 %
‘เสริมทักษะด้านดิจิทัล’ ช่วยบูสต์เงินเดือนเทียบเท่าประสบการณ์ทำงาน 5 ปี
สำหรับพนักงานออฟฟิศกินเงินเดือนทั่วไป การเติบโตของรายได้จะมาจากการปรับฐานเงินเดือนในแต่ละปี การปรับตำแหน่ง การย้ายที่ทำงาน และการย้ายสายงาน ซึ่งจากข้อมูลของเว็บไซต์ Salary Explorer การขยับขึ้นของฐานเงินเดือนตามประสบการณ์นั้น จะเริ่มมีผลเมื่อมีอายุงานตั้งแต่ 2-5 ปี จะได้รับเพิ่มเงินเดือนขึ้น 32% หากมีอายุงานตั้งแต่ 5-10 ปี จะได้รับเพิ่มเงินเดือนขึ้น 36%
ซึ่งหากคำนวณจากฐานเงินเดือน 20,000 บาท หากทำงานไปได้ 2-5 ปี มีโอกาสที่เงินเดือนจะขยับขึ้นมาเป็น 26,400 บาท และหากทำงานจนมีประสบการณ์ 5 - 10 ปี มีโอกาสจะขยับฐานเงินเดือนสู่ระดับ 35,904 บาท
แต่ถ้าหากเลือกพัฒนาทักษะทางดิจิทัล คุณมีโอกาสปรับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้น 64% กลายเป็น 32,800 บาท ซึ่งเทียบเท่ากับการตรากตรำทำงานนานถึง 5 ปี
ซึ่งถ้าเทียบกับอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนปี 66 ของภาคธุรกิจ จากการสำรวจของ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ที่ 4 - 5% แล้ว ก็จะเท่ากับการขึ้นเงินเดือนรวดเดียว 12.8 - 16 ปี เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง แล้วทิ้งอีกทางหนึ่งเสมอไป คุณสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ ในระหว่างที่เก็บสะสมประสบการณ์ทำงานไปด้วย เพื่อให้คุณมีจุดแข็ง ทั้งในเรื่องความรู้ด้านดิจิทัลที่สดใหม่ ทันกระแสโลก และประสบการณ์ทำงานที่จะช่วยทำให้คุณมีวิชาอาคมแก่กล้า และตัดสินใจได้อย่างเฉียบคมมากยิ่งขึ้น
จากข้อมูลที่กล่าวมาคงเริ่มทำให้หลายคนเริ่มสนใจพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เสริมความแข็งแกร่งให้โปรไฟล์ของตัวเองแล้ว แต่จะเริ่มจากทักษะไหนดี?
รายงานจาก AWS ยังเผยว่า ระดับความเชี่ยวชาญของทักษะดิจิทัล ส่งผลให้ได้เงินเดือนเพิ่มไม่เท่ากัน โดย ‘ทักษะขั้นพื้นฐาน’ เช่น การเขียนอีเมล, การใช้โปรแกรมเอกสาร เช่น Word, Doc, Pages, การโพสต์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดย ช่วยให้ได้เงินเพิ่ม 39% ในขณะที่ ‘ทักษะขั้นกลาง’ เช่น การออกแบบเว็บไซต์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป, การใช้แอปพลิเคชันสำหรับแก้ปัญหาทางเทคนิค และการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ช่วยให้ได้เงินเพิ่ม 57%
ส่วน ‘ทักษะขั้นสูง’ เช่น การวางและดูแลระบบคลาวด์, การพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน และทักษะด้าน AI และ ML มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน 65%
สำหรับคนที่ยังไม่เห็นภาพว่า การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล จะนำมาประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ปัจจุบันได้อย่างไร อาจลองใช้ข้อมูลต่อไปนี้พิจารณาควบคู่กัน โดย AWS ได้สอบถามนายจ้างถึงเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเป็น ‘New Normal’ ในการทำธุรกิจในอนาคต พบว่า 10 อันดับเทคโนโลยีที่นายจ้างให้ความสำคัญมากที่สุด คือ
สุดท้ายนี้ หลังจากที่ได้มุมมองเกี่ยวกับทักษะด้านดิจิทัลที่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว Spotlight ก็อยากให้คุณกลับมามองที่ตัวคุณเองว่า ตัวคุณชื่นชอบ และสนุกกับสายงานไหน เพราะเราทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะฝึกฝนจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกทักษะ
ลองเริ่มต้นจากการเลือกสายงานที่ถูกจริตกับคุณ มองหาทักษะที่เป็นที่ต้องการของสายงานนั้นๆ แล้วเริ่มลงมือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จากหลากหลายคอร์สออนไลน์ที่สถาบันทั้งใน และต่างประเทศ ‘การลงทุนกับตัวเอง’ ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้คุณมีการเติบโตด้านรายได้แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คุณเติบโตในสายอาชีพในภายภาคหน้าอีกด้วย
ที่มา : AWS, SalaryExplorer, PMAT