อุตสาหกรรม AI กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญและจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักที่ท้าทายความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา DeepSeek, สตาร์ทอัปด้านปัญญาประดิษฐ์ของจีนได้เปิดตัวโมเดล AI ที่มีประสิทธิภาพสูงในต้นทุนต่ำ ซึ่งอาจเปลี่ยนสมดุลของอุตสาหกรรม AI ในระดับโลก
เหตุการณ์นี้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วตลาดการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Nvidia บริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่สูญเสียมูลค่าตลาดกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 20 ล้านล้านบาทภายในวันเดียว
แต่คำถามสำคัญคือ อะไรทำให้ DeepSeek สร้างแรงสั่นสะเทือนในอุตสาหกรรม AI ได้มากขนาดนี้? และการมาของ DeepSeek สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรในสมรภูมิการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน? SPOTLIGHT จะพาไปหาคำตอบ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนและสหรัฐฯ แข่งขันกันอย่างสูสีในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรืออำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่เมื่อพูดถึง “อุตสาหกรรม AI” ต้องยอมรับว่า สหรัฐฯ เป็นผู้นำที่ทิ้งห่างคู่แข่งรายอื่นจนแทบไม่เห็นฝุ่น
เพราะสหรัฐฯ มีความได้เปรียบทางเทคโนโลยีและอำนาจทางเศรษฐกิจ จากการมีทั้งบริษัทระดับโลกอย่าง OpenAI, Microsoft และ Nvidia ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ Nvidia ที่แทบจะผูกขาดตลาดชิปประมวลผล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ AI ทั่วโลก
การที่สหรัฐฯ ควบคุมเทคโนโลยีหลักของอุตสาหกรรมนี้ทำให้สหรัฐฯสามารถกำหนดเงื่อนไขการส่งออกชิปประสิทธิภาพสูง และปิดกั้นไม่ให้คู่แข่งเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญ ซึ่งช่วยรักษาความเป็นผู้นำและป้องกันไม่ให้ประเทศอื่นพัฒนา AI ขึ้นมาแข่งขันได้
แต่แล้ว… เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา บัลลังก์ AI ของสหรัฐฯ ที่เคยดูแข็งแกร่งไร้เทียมทาน ก็ต้องสั่นสะเทือน
เมื่อ DeepSeek สตาร์ตอัปน้องใหม่จากจีน เปิดตัว DeepSeek R1 โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่สามารถประมวลผลข้อมูลและใช้เหตุผลได้ทัดเทียมกับ AI ชั้นนำของตะวันตกอย่าง ChatGPT แถมยังเหนือกว่า ChatGPT ในบางด้าน เช่น การแก้ปัญหาคณิตศาสตร์และการให้เหตุผล
โดยสิ่งที่ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาจับตา คือ ต้นทุนทรัพยากรในการพัฒนา ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เพราะในขณะที่ OpenAI ต้องใช้พนักงานถึง 4,500 คน ทุ่มงบมหาศาลกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ และใช้ชิประดับสูงหลักหมื่นชิ้น ในการฝึก GPT-4 ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ล่าสุดของ ChatGPT
DeepSeek กลับใช้พนักงานเพียง 200 คน เงินเพียงประมาณ 6 ล้านดอลลาร์ และชิปประมวลผลระดับสูงเพียง 2,000 ตัว ในการพัฒนา R1 ให้สำเร็จ
โดยเคล็ดลับความก้าวหน้านี้อยู่ที่ Mixture of Experts (MoE) สถาปัตยกรรมอัจฉริยะที่แบ่งโมเดล AI ออกเป็นหน่วยย่อย ซึ่งแต่ละส่วนถูกฝึกให้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ช่วยเพิ่มทั้งความเร็วและความแม่นยำของการประมวลผล โดยใช้ทรัพยากรน้อยลงอย่างเหลือเชื่อและการเปิดให้ DeepSeek เป็น โอเพ่นซอร์ส ที่เปิดให้ชุมชนวิจัยทั่วโลกนำไปพัฒนาต่อ
คุณสมบัติสุดล้ำของ DeepSeek ที่พัฒนาด้วยเงินทุนและทรัพยากรเพียงน้อยนิด ได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับวงการ AI
เพราะประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ทั่วโลกเริ่มตั้งคำถามว่า การพัฒนา AI จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลอย่างที่บริษัทใหญ่ๆ พร่ำบอกจริงหรือไม่?
คำถามนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ Nvidia ซึ่งเสียมูลค่าตลาดไปถึง 600,000 ล้านดอลลาร์ภายในวันเดียวหลังจากที่ DeepSeek เปิดตัว เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกังวลว่า AI ประสิทธิภาพสูงราคาประหยัดจากจีน อาจทำให้ความต้องการโมเดลที่ใช้ทรัพยากรสูงลดลง ส่งผลให้ตลาดชิปของ Nvidia อาจหดตัวตามไปด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น หุ้นของ Microsoft, Alphabet และ Meta ก็ดิ่งลงตามกันไป เพราะหากสตาร์ตอัปจากจีนสามารถสร้าง AI ที่ทรงพลังด้วยต้นทุนต่ำได้สำเร็จ คำถามสำคัญก็คือ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้ ทุ่มเงินมหาศาลไปกับอะไร?
และที่สำคัญกว่านั้นในอนาคต พวกเขาจะปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้? ลดงบประมาณด้าน AI หรือหาแนวทางใหม่เพื่อรักษาความได้เปรียบ?
การมาของ DeepSeek ทำให้วงการ AI ปั่นป่วนจนถึงขั้นมีการสืบสวนเพื่อตรวจสอบว่า DeepSeek อาจไม่ได้โปร่งใสอย่างที่อ้าง
โดยมีข้อสงสัยว่า บริษัทอาจใช้ชิป Nvidia มากกว่าที่เปิดเผยจริง และได้รับ เงินสนับสนุนจำนวนมหาศาลจากรัฐบาลจีน ซึ่งหมายความว่า ต้นทุนการพัฒนาอาจไม่ได้ต่ำอย่างที่กล่าวอ้าง
ไม่ว่าความจริงจะเป็นยังไง การเกิดขึ้นของ DeepSeek ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่ามาตรการกีดกันจีนจากชิประดับสูงของสหรัฐฯ ไม่ได้ผล แถมยังชี้ให้เห็นว่า ศูนย์กลาง AI โลกอาจไม่ได้อยู่แค่ Silicon Valley อีกต่อไป
นี่เป็นอีกครั้งที่จีนสามารถ ไล่ตามและท้าทายอำนาจของสหรัฐฯ ได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ DeepSeek ไม่ใช่ผู้เล่นเพียงรายเดียว ที่พัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำ แม้อยู่ภายใต้การควบคุมจากสหรัฐฯ โดยช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน AI ของจีน ต่างเปิดตัวโมเดลใหม่ที่อ้างว่าสามารถแข่งขันกับ DeepSeek และ OpenAI ได้ เช่น
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI ในจีนสะท้อนให้เห็นว่าประเทศนี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้ตามหลังสหรัฐฯ อีกต่อไปแต่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สามารถทัดเทียม หรืออาจแซงหน้าได้ในอนาคต
แม้ว่าจีนยังต้องเผชิญกับความท้าทายในบางด้าน เช่น การพึ่งพาชิปเซมิคอนดักเตอร์จากต่างประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ และแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากนโยบายการค้าโลก แต่จีนก็มีข้อได้เปรียบจาก เงินทุนจำนวนมหาศาล การสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาล
หนึ่งในก้าวสำคัญของจีนคือ การกำหนดเป้าหมายระยะยาว โดยในปี 2017 รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์เพื่อก้าวขึ้นเป็น ผู้นำ AI ของโลกภายในปี 2030 พร้อมกับเร่งผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถทัดเทียมระดับโลกภายในปี 2025
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จีนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ การพัฒนา "บุคลากร AI" โดยในปี 2022 กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัย กว่า 440 แห่ง เปิดสอนหลักสูตรด้าน AI และวิทยาการข้อมูล ส่งผลให้จีนผลิตนักวิจัย AI ชั้นนำของโลกเกือบครึ่งหนึ่ง ในขณะที่สหรัฐฯ มีเพียง 18% เท่านั้น สะท้อนถึง ศักยภาพและความทะเยอทะยานของจีน ที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยี AI และเป็นมหาอำนาจด้านนวัตกรรมในอนาคต
การพัฒนา AI ของจีนจึงไม่ได้เป็นเพียงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็น กลยุทธ์ระยะยาวที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นคู่แข่งที่ทรงพลังและน่าจับตามองมากขึ้นในเวทีโลก
ทุกคนคิดว่าใครจะเป็นผู้นำในศึกการแข่งขันด้าน AI ระหว่างประเทศต่างๆ? จีนที่กำลังมาแรง หรือสหรัฐฯ ที่ยังคงเป็นผู้นำ? หรืออาจมีประเทศอื่นที่ก้าวขึ้นมาเป็นตัวแปรสำคัญ?