รัฐบาลจีนเป็นแกนนำจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Consortium) ระหว่างหน่วยงานและบริษัทที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมผลิตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วจีน รวมไปถึง CATL, BYD และ Nio เพื่อพัฒนาซัพพลายเชนแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตต (Solid-State) ภายใน 2030 แข่งกับญี่ปุ่น และประเทศตะวันตก
ในปัจจุบัน ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากการที่คนเริ่มหันไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้ากันแทนยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในกันมากขึ้น เพราะมองว่าเป็นตัวเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในหลายๆ ประเทศแข่งขันกันเพื่อพัฒนาและผลิตตัวเลือกที่ตรงใจของผู้บริโภคมากที่สุดเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด และหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ก็คือธุรกิจผลิตและพัฒนา ‘แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดในการชี้วัดสมรรถภาพของรถยนต์ไฟฟ้า
ในปัจจุบัน ‘จีน’ เป็นผู้ครองตลาดแบตเตอรี่ไฟฟ้าอยู่ เพราะมีทั้งเทคโนโลยีและแหล่งวัตถุดิบที่พร้อมสำหรับการผลิต โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมฟอสเฟต หรือ LFP แต่มีคู่แข่งสำคัญคือ ‘ญี่ปุ่น’ ที่กำลังเร่งพัฒนาแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตต ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีสมรรถภาพสูงกว่า มีความหนาแน่นของพลังงานมากกว่า และติดไฟได้ยากกว่าอยู่
ดังนั้น เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดไว้ รัฐบาลจีนจึงต้องเร่งสนับสนุนให้มีการพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตตภายในประเทศอย่างเร็วที่สุด และเร็วกว่า Toyota Motor และบริษัทอื่นๆ ของญี่ปุ่นที่ในปัจจุบันเป็นผู้นำในการวิจัยด้านนี้อยู่ และได้จดสิทธิบัตรของแบตเตอรี่โซลิดสเตตแล้วกว่า 1,300 แบบ ขณะที่จีนมีอยู่ไม่ถึง 100 แบบ
กิจการร่วมค้ารวมพลคู่แข่ง ดันจีนเป็นเจ้าตลาดแบตฯ โซลิดสเตต
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดตั้ง China All-Solid-State Battery Collaborative Innovation Platform (CASIP) หรือกิจการร่วมค้าและแพลตฟอร์มความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตตขึ้นมา เพื่อผสานความร่วมมือของทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนในการพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว
จากการรายงานนิกเกอิเอเชีย CASIP เป็นความร่วมมือหน่วยงานรัฐและเอกชนกว่า 200 หน่วยงาน รวมไปถึงสำนักวิจัยและหน่วยงานด้านวิชาการต่างๆ โดยหน่วยงานรัฐที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งมีทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ คณะกรรมการกำกับและบริหารทรัพย์สินของรัฐ
ทั้งนี้ CASIP ยังมีความพิเศษอีก ในแง่ที่เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและบริษัทที่เป็นคู่แข่งกันภายในประเทศ เช่น CATL และ BYD ซึ่งเคยมีปัญหาฟ้องร้องในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากันมาก่อน จึงนับว่า CASIP เป็นมาตรการสำคัญของรัฐบาลจีนในการรวมพลังและความสามารถของบริษัทที่มีในประเทศ ไม่ให้แข่งขันกันจนกลายเป็นขัดขากันเอง จนบริษัทในประเทศอื่นๆ ได้ชัยชนะในการพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตตไป
Ouyang Minggao ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua) กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวกิจการร่วมค้าดังกล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้จีนก้าวขึ้นไปอีกขั้นในการพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ โดยจะอาศัยทั้งความรู้และความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย
นอกจากนี้ CASIP ยังมุ่งสร้างศักยภาพให้จีนสามารถสร้างซัพพลายเชนเพื่อผลิตแบตเตอรี่โซลิดสเตตได้ภายในปี 2030 หมายความว่าจีนจะต้องพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตตที่สามารถใช้งานได้จริงในระยะเวลาก่อนหน้านั้น ซึ่งถึงแม้จะถือว่ารวดเร็ว แต่ก็ช้ากว่าเป้าหมายของ Toyota ที่ตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่โชลิดสเตตภายในปี 2027-2028
ที่มา: Nikkei Asia