ปี 2567 มีเรื่องร้อนทางเศรษฐกิจหลายเรื่อง ได้แก่ เงินดิจิทัล 10,000 บาท , หนี้ครัวเรือนไทยสูงสุดในรอบ 20 ปี , สินค้าจีนทะลัก กระทบธุรกิจไทยปิดกิจการ และ ลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบ 4 ปี SPOTLIGHT สรุปทั้ง 4 เรื่องร้อนในบทความนี้
หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล นโยบายที่ถูกจับจ้องมากที่สุดคือ การแจกเงินดิจิทัล10,000 บาท จากนโยบายที่เคยหาเสียงว่า คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไปจะได้รับเงินดิจิทัลทุกคน รวมกว่า 50 ล้านคน แต่หลังคำนวณที่มาของแหล่งเงินที่จะแจกแล้วคาดว่าสูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาท บวกกกับกระแสการคัดค้านว่าผลลัพธ์ของนโยบายนี้อาจได้ไม่คุ้มเสียและยังมีความเสี่ยงต่อการทุจริตด้วย
ทำให้ในปี 2567 นี้ เรื่องราวความอลเวงของ เงินดิจิทัลเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่เป็น “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ” ชื่อเปลี่ยนแปลงตามรูปแบบและเงื่อนไขใหม่ โดยการแจกเงินแบ่งเป็น 3 เฟส คือ
เฟส 1 รัฐให้เงินสด 10,000 บาทกับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จำนวนรวมทั้งสิ้น 14.55 ล้านคน ซึ่งได้ทยอยโอเนเงินเข้าบัตรสวัสดิการฯตั้งแต่เดือนปลายกันยายน 67 จนสิ้นสุดวันที่ 19 ธ.ค. 67 มีการโอนเงินรอบสุดท้าย
กระทรวงการคลังสรุปว่า ภาครัฐได้จ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายเฟสแรกรวมทั้งสิ้น 14,450,168 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.19 % ของกลุ่มเป้าหมายที่ครม.ได้อนุมัติไว้ ทำให้มีเม็ดเงินจากโครงการฯนี้ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 144,501.68 ล้านบาท
ส่วนเฟส 2 คือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีผู้สูงอายุผ่านการตรวจคัดกรองคุณสมบัติแล้ว 3.2 ล้านคน ซึ่งจะได้รับเงินก่อนช่วงตรุษจีน หรือประมาณวันที่ 29 ม.ค.2568 นี้ โดยรัฐฯใช้เงินงบรวม 3.2 หมื่นล้านบาท
เฟส 3 เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนเงินดิจิทัลไว้ก่อนหน้านี้ผ่านแอปฯทางรัฐ ซึ่งจะมาในรูปแบบซูเปอรแอปคาดว่าจะได้รับเงินในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี2568 ส่วนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนที่ยังไม่เคยลงทะเบียนใดๆมาก่อนคงต้องรอความชัดเจนจากคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการเงินดิจิทัลนี้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างแต่ไม่มากนัก เพราะสภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เผชิญหลายปัญหาทั้งหนี้ครัวเรือนยังสูงและประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ปี 2567 เป็นปีที่ท้าทายธุรกิจไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีน ยังทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าจีนที่มีจุดแข็งในเรื่องราคาถูกกว่าสินค้าไทย เข้ามาตีตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2567 นี้พบว่า ไม่เพียงแค่ตัวสินค้าเท่านั้นที่เข้ามาในไทย แต่ยังรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น แพลตฟอร์ม คลังสินค้า และ การขนส่ง จากจีนก็หลั่งไหลเข้ามาในไทยด้วยเช่นกัน
หลายธุรกิจในไทยโดยเฉพาะ SME เริ่มค่อยๆปิดกิจการเพราะไม่สามารถแข่งขันได้นอกจากรายเล็กๆแล้ว ในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอย่างหนัก ผลพวงจากการเปลี่ยนผ่านรถยนต์สันดาปที่ไทยเคยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญและมีการจ้างงานมากกว่า 7 แสนคน กำลังกระทบหนักจากยอดขาย ที่ถูกยานยนต์ไฟฟ้าเบียดบังมากขึ้น แม้ค่ายรถจากจีนจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น แต่ก็พบว่า ยังใช้ชิ้นส่วนจากผู้ประกอบการในไทยในสัดส่วนที่น้อย
คาดว่าในปี 2568 อุตสาหกรรมรถยนต์ และธุรกิจของไทยอาจตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนอาจรุนแรงขึ้น หลังการเข้ามารับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์
สำหรับตัวเลขการปิดกิจการของไทยในปี 2567 อัพเดท ณ สิ้นเดือน พ.ย.67 มีทั้งสิ้น 17,614 ราย คาดว่าตลอดทั้งปี มีโอกาสพุ่งทะลุเกิน 20,000 ราย ซึ่งสถานการณ์การเลิกกิจการเร่งตัวสูงสุดในปี 2566 ที่ผ่านมาที่ 23,380 ราย ดังนั้นคงต้องติดตามตัวเลขทางการของปี 2567 กันอีกครั้งว่าจะแซงปีที่ผ่านมาหรือไม่
ส่วนในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ มีการประเมินกันว่า ธุรกิจไทยยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง และมีโอกาสที่จะได้เห็นการเลิกหรือปิดกิจการเกิดขึ้นตามมาอีก ภาครัฐฯจะมีมาตรการเพิ่มเติมในการปกป้องธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SME ไทยอย่างไร ถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลในปี 2568 เช่นกัน
ไตรมาสแรกของปี 2567 หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งทะลุไปอยู่ที่ 90.7% ต่อ GDP มูลค่ามากกว่า 16.32 ล้านล้านบาท แต่เริ่มลดลงในไตรมาส 2 เหลือ 89.6 %ต่อGDP แม้หนี้จะลดลงเมื่อเทียบต่อไตรมาส แต่สถานการณ์คนไทยมีหนี้สินเรื้อรังยังคงกัดกินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปั 2568 ที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง จะยังคงเป็นความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจไทย
สาเหตุเพราะเมื่อดูไส้ในของหนี้ครัวเรือนไทยที่แม้จะปรับลดลงต่ำกว่า 90% ต่อ GDP แต่หนี้ครัวเรือนในระดับกว่า 80%ก็ยังมีความน่าเป็นห่วง อีกคุณภาพของสินเชื่อก็ปรับลดลง นั่นหมายถึง คนยังผ่อนจ่ายหนี้ไม่ไหว และทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ การก่อนหนี้ใหม่จึงไม่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะคนไทยจ่ายหนี้คืนได้มากขึ้น
ในขณะที่หนี้เสียหรือ NPL ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในช่วงท้ายปลายปีกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" เพื่อแก้หนี้ จำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านคน และมียอดหนี้รวมประมาณ 890,000 แสนล้านบาท โดยเปิดใหhลงทะเบียนวันแรกเมื่อ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนถึง 28 ก.พ.2568
อย่างไรก็ตามยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มาตราการนี้มุ่งช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีปัญหาในการจ่ายหนี้แล้ว แต่กลุ่มคนที่มีปัญหาแต่ยังพยายามจ่ายอยู่ไม่เข้าเกณฑ์ในโครงการนี้ ทั้งนี้มีการประเมินว่า โครงการคุณสู้เรา เราช่วย จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ลดลงมากว่า 10%
การลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจ เพราะดอกเบี้ยเป็นนโยบายการเงินที่มีผลต่อเศรษฐกิจและในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อไม่สูง ฝั่งของภาครัฐที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
แต่แบงก์ชาติเองก็มีจุดยืนและมุมมองที่ชัดเจนว่ายังไม่ลดดอกเบี้ยโดยเร็ว จนกระทั่ง 16 ต.ค.67 กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จากระดับ 2.50% เป็น 2.25%ต่อปี โดยให้มีผลทันที เท่ากับว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนั้นเป็นการลดครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี โดย กนง.ปรับได้ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 62 ที่ระดับต่ำสุด 0.50% ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบแจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
แต่แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยแค่ไหนก็ตาม ตลอดปี 2567 นี้ กนง.ก็ได้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพียงแค่ครั้งเดียว และยืนดอกเบี้ย 2.25% ในการประชุมเดือน พ.ย.และ ธ.ค.ที่ผ่านมา
มุมมองจากหลายสำนักวิจัยและนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน ต่างประเมินว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่กนง.พิจารณาในปี 2568 มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจเห็น กนง.ลดดอกเบี้ยชัดเจนมากขึ้นในปี 2568 โดยเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยนโยบายอาจลดลงไปต่ำกว่าระดับ 2%
อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงนี้ก็หวังว่า จะส่งให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยในขาเงินกู้หรือสินเชื่อลงไปได้อีก เพื่อช่วยฟื้นสถานการณ์หนี้ครัวเรือน และหนุนเศรษฐกิจปี 2568 ที่เต็มไปด้วยความท้าทายได้บ้าง