กรณี ‘แบงค์ เลสเตอร์’ ถูกจ้างดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด เพื่ออัดคลิปเป็นคอนเทนต์ลงโซเชียล จนต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย จุดกระแสให้สังคมไทยตั้งคำถามถึงการทำคอนเทนต์ของอินฟูลเอนเซอร์ที่หวังยอดไลก์ ยอดแชร์ และค่าตอบแทน จนเกินความปลอดภัย ซึ่งมันคุ้มขนาดนั้นเลยหรือที่จะต้องเสี่ยงตาย และบรรดาคนดังผู้ติดตามแน่น ๆ กำลังทำคอนเทนต์แบบไหนกันอยู่ Spotlight จึงถอดบทเรียนอันน่าเจ็บปวดจากทั่วโลก จากกรณี “คอนเทนต์เป็นเหตุ”
กรณีอินฟลูเอนเซอร์ที่ดื่มเหล้าจนเสียชีวิต ไม่ได้เกิดขึ้นกับแบงค์ เลสเตอร์ เพียงคนเดียวเท่านั้น เมื่อกลางปี 2023 ‘หวัง โม่เฝิง’ หรือที่รู้จักในชื่อ “เฮียซานเฉียน” สตรีมเมอร์หนุ่มชื่อดังวัย 34 ปี ชาวเมืองเหลียนหยุนกัง มณฑลเจียงซู ของจีน ได้ไลฟ์สดแนวแข่งขันกับสตรีมเมอร์คนอื่น เพื่อเรียกยอดโหวตจากผู้ติดตาม โดยเขาได้ซด ‘ไป่จิ๋ว’ เหล้าขาวของจีน ไปมากถึง 4 แก้วยักษ์ และเสียชีวิตเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากจบไลฟ์สด ด้วยสาเหตุการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด จุดกระแสให้สังคมจีนตั้งคำถามถึงวัฒนธรรม Binge-Drinking การดื่มมากเกินไป จนเป็นอันตรายถึงชีวิต
แต่ดูเหมือนว่า กรณีการทำคอนเทนต์กิน-ดื่มเกินความพอดี ไม่ได้สิ้นสุดลงที่เฮียซานเฉียนเป็นคนสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นแค่ปีเดียว เหตุน่าสลดใจและช็อกสังคมมากกว่าเดิม เกิดขึ้นกับอินฟลูเอนเซอร์สาวชาวจีนวัย 24 ปี ‘ปัน เสี่ยวถิง’ เธอโด่งดังจากการไลฟ์สตรีมวิดีโอกินจุหรือที่ชาวโซเชียลรู้จักกันในชื่อ ‘ม็อกบัง’ (Mukbang) โดยเธอเสียชีวิตคาไลฟ์ ระหว่างการถ่ายทอดสดกินอาหารต่อเนื่องมากถึง 10 กิโลกรัม ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ในช่วงหลังของการทำคอนเทนต์ เธอมักจะท้าทายสถิติการกินใหม่ ๆ ให้หนักหน่วงกว่าเดิม เช่น โชว์ไลฟ์สดกินต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง ซึ่งก่อนหน้านี้ เธอเคยเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการเลือดออกในกระเพาะ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอหยุดทำคอนเทนต์แบบเดิมเสิร์ฟให้แฟน ๆ จนจบชีวิตลงด้วยอาการอาหารไม่ย่อยและกระเพาะผิดรูป
การเสียชีวิตจากคอนเทนต์ม็อกบัง เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย โดย ‘มานอย อปาทาน’ คอนเทนต์ครีเอเตอร์หนุ่มชาวฟิลิปปินส์ ที่โด่งดังจากการทำอาหารปริมาณมาก ๆ และไลฟ์กินอาหารที่เขาทำ จนมีผู้ติดตามมากกว่า 4.5 แสนคน เขาได้โพสต์รีลวิดีโอไก่ทอดในกระทะ 13 ชิ้น ก่อนที่จะกินกับข้าวอย่างเอร็ดอร่อย ต่อมาในวันเดียวกัน น้องสาวของเขาได้โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งข่าวร้ายว่าพี่ชายได้เสียชีวิตลงแล้ว โดยแพทย์วระบุสาเหตุว่ามีอาการเส้นเลือดในสมองแตก จากการความดันขึ้นและลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ออกมาประกาศว่าจะพิจารณาแบรนด์การทำคอนเทนต์แบบม็อกบังเลยทีเดียว
สำหรับกรณีการเสียชีวิตของแบงค์ เลสเตอร์ ยังจุดกระแสเรื่องการกลั่นแกล้งกันโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เพราะเกิดขึ้นจากการที่อินฟลูเอนเซอร์คนดังรุ่นพี่ ตั้งใจท้าทายให้ดื่มเหล้าเกินพอดี และนับเป็นการฉกฉวยผลประโยชน์จากอินฟลูเอนเซอร์รุ่นน้องที่มีความพิการทางสติปัญญา โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ของสหรัฐฯ เมื่อแก๊งวัยรุ่นอเมริกันถ่ายคลิปวิดีโอแกล้งคนในที่สาธารณะ หรือวิดีโอแนว Prank ซึ่ง ‘ทิโมธี วิลค์ส’ เด็กหนุ่มวัย 20 ปี และเพื่อนแกล้งถือมีดอีโต้เล่มใหญ่ เข้าใกล้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ในตอนกลางคืน คล้ายกับสร้างสถานการณ์ปล้นชิงทรัพย์ ทำให้เขาถูกยิงเสียชีวิตเพราะคนถูกแกล้างให้การกับตำรวจว่าเป็นการยิงเพื่อป้องกันตัว
อีกหนึ่งคอนเทนต์ Prank ที่สร้างความสลดใจไม่แพ้กัน คือกรณีของ ‘เปโดร รูอิซ’ และ ‘โมนาลิซา เปเรซ’ คู่รักวัย 20 ต้น ๆ ที่มักจะโพสต์คลิปวิดีโอแกล้งกันอย่างสนุกสนาน ทำให้มีผู้ติดตามชื่นชอบคลิปของพวกเขาเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเปโดรออกไอเดียให้แฟนสาว ยิงปืนเข้าหนังสือหนา 1.5 นิ้ว ที่เขาถือกำบังตัวไว้ในระดับหน้าอก หวังเป็นไวรอลในช่องยูทูป เพราะมั่นใจว่ากระสุนจะไม่สามารถวิ่งทะลุผ่านความหนาของหนังสือได้ และเขาเคยทำการทดลองมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เขาคิด เพราะในครั้งนี้ ระยะปืนอยู่ใกล้กว่าเดิม เขาจึงได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา และยังทำให้แฟนสาวต้องโทษในคดีอาญา ต้องจำคุกเป็นเวลา 180 วัน คุมประพฤติ 10 ปี และห้ามครอบครองอาวุธปืนตลอดชีวิต
นอกจาการเสียชีวิตระหว่างทำคอนเทนต์ด้วยสาเหตุการดื่ม-กินเกินขนาด และ การแกล้งกันโดยที่ไม่ระวังความปลอดภัย อินฟลูเอนเซอร์ส่วนใหญที่เสียชีวิต มักเกิดจากการวิดีโอโชว์เสี่ยงตายด้วย ไม่ว่าจะเป็นโชว์เล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม และโชว์สตันท์ ที่แม้ว่าคนดังเหล่านี้จะมีประสบการณ์โชกโชนและถ่ายคลิปกันมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังเกิดความผิดพลาดจนถึงขั้นสูญเสียชีวิตได้ เช่น กรณีของ ‘แกรนท์ ทอมป์สัน’ พิธีกรและยูทูปเบอร์ชาวอเมริกันชื่อดัง เจ้าของช่อง “ The King of Random ” ที่มักจะพาทำกิจกรรมน่าตื่นเต้น ถ่ายทอดลงยูทูป ซึ่งเขาต้องมาจบชีวิตลงจากอุบัติเหตุพาราไกล์ด หรือการเล่นเครื่องร่อน ซึ่งตำรวจสามารถรวบรวมหลักฐานการเสียชีวิตจากกล้องวิดีโอที่ติดตั้งไว้กับตัวเขานั่นเอง
นอกจากนี้ ชาวโซเชียลหลายคนยังชื่นชอบวิดีโอโชว์ ‘ปากัวร์’ (Parkour) และ ฟรีรันนิ่ง (Free running) มักมาในรูปแบบคลิปหวาดเสียวของคนกระโดดข้ามตึกสูง ทั่งตีลังกา ม้วนหน้าม้วนหลัง สลับกับวิ่งเร็วบนดาดฟ้า โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยใด ๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เกิดกับ ‘ปาเวล คาชิน’ ยูทูปเบอร์สุดแข็งแกร่งชาวรัสเซีย ที่จบชีวิตลงระหว่างอัดคลิปกระโดดตีลังกาบนขอบดาดฟ้าของตึกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นท่ากระโดดที่ค่อนข้างพื้นฐานสำหรับกีฬานี้ แต่เขากลับเสียการทรงตัวชั่วขณะ ทำให้ร่างของเขาร่วงลงมาจากตึก 13 ชั้น และเสียชีวิตในที่สุด
การทำคอนเทนต์ลงช่องทางโซเชียล เป็นวิธีการสร้างสรรค์ที่อินฟลูเอนเซอร์ได้แสดงความสามารถและโชว์ตัวตนให้ผู้ติดตามได้รู้จัก ทำให้ได้ประโยชน์กลับมาเป็นยอดผู้ติดตาม ยอดหัวใจ ไลค์ แชร์ แบบมหาศาล เป็นไวรอล สร้างชื่อเสียง และได้ค่าตอบแทนในท้ายที่สุด แต่คอนเทนต์ที่เรียกยอดได้ดี อยากเรียกชีวิตหนึ่งให้กลับคืนมาไม่ได้อีกเลย หากยังขืนทำคอนเทนต์ที่ไม่ปลอดภัยเช่นนี้