Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดวิธีไปทำงานที่ ‘เยอรมนี’  ไปวีซ่าแบบไหน? งานอะไรกำลังเป็นที่ต้องการ?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เปิดวิธีไปทำงานที่ ‘เยอรมนี’ ไปวีซ่าแบบไหน? งานอะไรกำลังเป็นที่ต้องการ?

5 เม.ย. 67
18:47 น.
|
15K
แชร์

เมื่อพูดถึงการไปทำงานที่ต่างประเทศ คนไทยมักจะนึกถึงประเทศยอดฮิตอย่างออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น และมักจะตัดประเทศแถบยุโรปออกไปเป็นอันดับต้นๆ เพราะมองว่าไปยาก ต้องเก่ง โปรไฟล์ดี หรือมีเงิน ถึงจะไปอยู่ประเทศเหล่านั้นได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายๆ คนอาจไม่รู้ คือประเทศในแถบยุโรปกำลังต้องการแรงงานจำนวนมากไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้มักจะมีอัตราการเกิดต่ำ จนปัจจุบันมีคนวัยทำงานไม่พออุดตำแหน่งงานที่ว่างอยู่

นั่นก็รวมไปถึงประเทศ ‘เยอรมนี’ เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป ที่ในปัจจุบันกำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจนอัตราการเติบโตของ GDP ต่ำเหลือไม่ถึง 1% และได้ออกวีซ่ามาหลากหลายรูปแบบเพื่อดึงทั้งแรงงานสายอาชีพและแรงงานทักษะสูงจากประเทศทั้งในและนอกสหภาพยุโรปเข้าไปช่วยทำงานจ่ายภาษีให้ประเทศ

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปดูกันว่า ปัจจุบันเยอรมนีเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าไปทำงานผ่านช่องทางใด และผู้ที่อยากเข้าไปทำงานที่เยอรมนีต้องมีคุณสมบัติแบบใดบ้าง เพราะหากดูรายละเอียดจริงๆ การไปทำงานและเป็นประชากรในหนึ่งในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดในโลกอย่างเยอรมนีอาจไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมก็ได้
woman-traveling-in-berlin-202

ทำไมเยอรมนีถึงเป็นประเทศที่น่าไปทำงาน?

สำหรับคนไทยทั่วไป เยอรมนีเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านวิศวกรรมและวิทยาการ เศรษฐกิจขนาดใหญ่ และระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมทุกอย่างทั้งสุขภาพ การศึกษา การว่างงาน และการเกษียณอายุ ที่ทำให้ชาวเยอรมนีเป็นหนึ่งในประชากรที่ถือได้ว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในโลก 

ทั้งนี้ นอกจากระบบสวัสดิการที่ดีเยี่ยมแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เยอรมนีเป็นประเทศที่น่าไปทำงานคือ “ความเปิดกว้าง” เพราะปัจจุบันเยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังขาดแคลนประชากรวัยทำงานอย่างหนัก จากอัตราการเกิดที่ต่ำ และการรับผู้อพยพจำนวนมากจากพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น ซีเรีย ตุรกี อัฟกานิสถาน และอิรัก เข้ามาพำนักอาศัยในประเทศ ซึ่งบางส่วนรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลทุกเดือนแต่ไม่ได้ทำงาน ทำให้เยอรมนีขาดแรงงานที่ทำงานจ่ายภาษีให้กับประเทศ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 รัฐบาลเยอรมนี เผยว่า ปัจจุบันเยอรมนีมีตำแหน่งงานว่างถึง 700,000 ตำแหน่ง ทำให้ศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมนีเหลือเพียง 0.7% จาก 2% ในช่วงปี 1980s และมีโอกาสที่จะตกไปเหลือ 0.5% ได้ในอนาคต หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้น การดึงดูดแรงงานต่างประเทศจึงถือเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับเยอรมนี ซึ่งนำไปสู่การออกนโยบายและมาตรการมากมายที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่อยากเข้าไปทำงานในเยอรมนี เช่น การลดหรือผ่อนปรนกฎเกณฑ์สำหรับการขอวีซ่าทำงานในประเทศลง หรือการลดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ

ดังนั้น ผู้ที่สนใจทำงานในเยอรมนี โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูง จึงมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในเยอรมนีสูงมาก หากผู้สนใจมีกำลังทรัพย์และเวลามากพอที่จะเรียนรู้ภาษาเยอรมันระดับพื้นฐานหรือระดับกลางเพื่อเตรียมตัวไปทำงานและใช้ชีวิตในเยอรมนีได้

work-germany-job-checklist-em

ปัจจุบันเยอรมนีกำลังต้องการแรงงานสายใด?

ปัจจุบัน เยอรมนีกำลังขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานทักษะสูงที่ต้องมีประสบการณ์และวุฒิการศึกษาสูง และแรงงานสายอาชีพ ทำให้คนจากทุกระดับการศึกษามีโอกาสเข้าไปศึกษาและทำงานในเยอรมนีได้ทั้งหมด ไม่จำกัดแค่เฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูงเท่านั้น โดยสาขาอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงในเยอรมนี ได้แก่

1. งานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียว และความยั่งยืน (Green Jobs) 

ปัจจุบัน ประเทศในแถบยุโรป รวมถึงเยอรมนี ล้วนแต่เป็นผู้นำในการคิดค้นวัตกรรมพลังงานสะอาด หรือเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียน

นโยบายของรัฐฯ ทำให้งานทักษะสูงที่เป็นที่ต้องการเป็นอันดับต้นๆ ในเยอรมนี ขณะนี้คือ ช่างฝีมือ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และวิศวกร ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสีเขียวได้ เช่น 

  • ช่างหรือนักเทคนิคในการสร้าง ดูแล และบำรุงอุปกรณ์สำหรับสร้างพลังงานสะอาด หรือระบบทำความร้อน 
  • ที่ปรึกษาด้านพลังงาน วิศรกรด้านสิ่งแวดล้อม วิศวกรเครื่องยนต์พลังงานสะอาด
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล

ทั้งนี้ สำหรับเยอรมนี งานสีเขียวไม่ได้จำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานด้านการก่อสร้าง งานเกษตรกรรมยั่งยืนที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตวัตถุดิบอาหารและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งงานบางสายสามารถเรียนเป็นสายอาชีพได้

2. งานด้านการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งที่ดีเยี่ยม โดยมีทั้ง Autobahn เครือข่ายทางด่วนคุณภาพสูงที่ครอบคลุมทั้งประเทศไปถึงออสเตรีย และระบบรถไฟ รถราง และรถบัสสาธารณะที่แน่นหนา ทำให้ภาคการคมนาคมและการขนส่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี

ปัจจุบัน เยอรมนีต้องการผู้ขับรถยนต์ และเครื่องยนต์มืออาชีพ ทั้งสำหรับการขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้า และเจ้าหน้าที่ด้านโลจิสติกส์ที่ดูแลการขนส่งสินค้าทั้งการขนส่งสินค้าทางถนน ทางทะเล และทางอากาศ โดยอาชีพที่เป็นที่ต้องการก็อย่างเช่น 

  • คนขับรถบรรทุกหนัก หรือ Heavy Goods Vehicle (HGV) ที่ในปี 2023 ขาดคนทำงานถึง 70,000 ตำแหน่ง และมีตำแหน่งว่างอยู่เรื่อยๆ โดยผู้ที่สนใจต้องมีใบขับขี่แบบ C1, C1E, C, CE, D1, D1E, D หรือ DE ที่ออกโดยสหภาพยุโรป หรือ เขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) และต้องเข้ารับการฝึกอบรมใหม่ทุกๆ 5 ปี
  • คนขับรถไฟ คนขับรถบัส เจ้าหน้าที่ดูแลรถราง โดยเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการควบคุมยานยนต์พลังงานใหม่ เช่น พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจน
  • เจ้าหน้าที่โลจิสติกส์ เช่น กัปตันเดินเรือภายในประเทศ, ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ท่าเรือ, คนพายเรือประจำท่าเรือ / คนพายเรือประจำท่าเรือ, ผู้ช่วยนายเรือ, ช่างเรือ, ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่เทคนิค

572959

3. กลุ่มสายงานคอขวด (Bottleneck Professions)

‘สายงานคอขวด’ หรือที่รัฐบาลเยอรมนีเรียกว่า Bottleneck Professions คือ สายงานที่กำลังขาดแคลนแรงงานจำนวนมากในเยอรมนี ทั้งเพราะสายงานนี้เป็นงานในอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นสายงานใหม่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำลังปั้นให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ หรือเป็นสายงานที่ชาวเยอรมันไม่นิยมทำ เช่น งานบริการ และงานดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ 

จากการจำกัดความของรัฐบาลเยอรมนี สายงานคอขวดในเยอรมนีมีดังนี้

  • งานในอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมก่อสร้าง งานในเหมืองแร่
  • งานช่าง เช่น ช่างบัดกรี, ช่างทำเหล็กวิลาส หรือสังกะสี, ช่างไฟ, ช่างประปา, ช่างแอร์,ช่างระบบทำความร้อน-ความเย็น, งานทำความสะอาดทางอุตสาหกรรม เช่น ทำความสะอาดโรงงาน โรงพยาบาล และขนส่งสาธารณะ
  • งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีการสื่อสาร
  • งานผู้ดูแลและผู้ให้การศึกษา เช่น ครู, ผู้ดูแลเด็ก, พยาบาล, ผู้ช่วยพยาบาล, และผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ 
  • งานในสาย วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หรือ STEM
  • งานวิชาการ เช่น นักวิชาการ และนักวิจัย โดยเฉพาะในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ การจัดการพื้นที่ วางผังเมือง และการขนส่งคมนาคมสาธารณะ 
  • งานสายสุขภาพ เช่น แพทย์ สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร

จากรายการอาชีพข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าเยอรมนีขาดแคลนแรงงานในหลายสาขา ทั้งสาขาอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ระดับสูง และสาขาอาชีพที่ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ในสายอาชีพ ซึ่งผู้ที่ต้องการหางานในแต่ละสาขาวิชาก็ต้องมีคุณสมบัติสำหรับขอใบอนุญาต และวีซ่าในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
tips-for-new-nurses

อยากไปทำงานในเยอรมนีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร? ขอวีซ่าอะไรได้บ้าง?

แรงงานจาก ‘ประเทศที่สาม’ หรือ แรงงานจากประเทศนอกสหภาพยุโรปและเขตเศรษฐกิจยุโรป ต้องทำตามข้อกำหนดเกี่ยวกับวีซ่า และต้องมีคุณสมบัติด้านการศึกษาและประสบการณ์ แตกต่างกันไปในแต่ละประเภทของงานที่ต้องการเข้าไปทำในเยอรมนี โดยแบ่งได้หลักๆ 5 ประเภท ดังนี้

1. วีซ่า EU Blue Card (Blaue Karte)

วีซ่า Blue Card คือ ใบอนุญาตทำงานที่ประเทศของสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งออกให้สำหรับแรงงานที่มีทักษะสูงที่มาจากนอกสหภาพยุโรป (Non-EU) สามารถเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตอย่างถูกกฏหมายในประเทศของสหภาพยุโรปได้ ซึ่งในบางรัฐจะสามารถยื่นขอสัญชาติได้เมื่อทำงานถึง 16 เดือน โดยผู้ที่สามารถขอ EU Blue Card ได้จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันศึกษาระดับอุดมศึกษาในเยอรมนี หรือ ถือวุฒิการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ระยะการเรียนไม่ต่ำกว่า 3 ปี ที่ได้รับการยอมรับและรับรองจากรัฐบาลเยอรมนีว่ามีคุณภาพเทียบเท่ากับวุฒิการศึกษาเดียวกันในเยอรมนี และอย่างน้อยต้องผ่านระดับ 6 ของมาตรฐานสากลการจัดจำแนกการศึกษา (International Standard Classification of Education: ISCED) ซึ่งคือ Framework ทางสถิติตัวชี้วัดทางการศึกษาในประเทศต่างๆ ที่จัดทำโดย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
  • ได้รับการเสนองานจากนายจ้างในเยอรมนีแล้ว โดยมีระยะการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เป็นงานที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียนมา
  • หากเป็นงานที่ต้องใช้ใบอนุญาตหรือใบประกอบการทำงาน หรืองานที่อยู่ในการควบคุมของหน่วยงานกำกับดูแล (Regulated Professions) เช่น แพทย์ พยาบาล ครู และทนายความ ผู้ขอ Blue Card จะต้องได้รับใบอนุญาตเหล่านี้ก่อน
  • งานดังกล่าวจะต้องมีค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า 45,300 ยูโรต่อปี หรือราว 1,803,300 บาทต่อปี หรือ 150,275 บาทต่อเดือน ยกเว้นงานในกลุ่มคอขวด (Bottleneck Professions) ที่มีข้อกำหนดเรื่องรายได้ต่ำกว่า อยู่ที่ 41,041.80 ยูโรต่อปี หรือ 1,633,962 บาทต่อปี หรือ 136,163.5 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ สำหรับ “ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ” (IT) ผู้สมัครสามารถขอ Blue Card ได้โดยไม่ต้องมีการศึกษาอย่างเป็นทางการ หากมีประสบการณ์การทำงานระดับสูงในอุตสาหกรรมมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในช่วง 7 ปีก่อนการสมัคร และได้รับการเสนองานจากนายจ้างชาวเยอรมัน ที่มีค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า 41,041.80 ยูโรต่อปีแล้ว

Blue Card จะมีอายุเท่ากับสัญญาการจ้างงาน แล้วเพิ่มไปอีก 3 เดือน มีอายุสูงสุดครั้งละ 5 ปี และสามารถต่อไปได้เรื่อยๆ หากยังมีคุณสมบัติตามที่รัฐบาลกำหนด และในขณะถือ Blue Card ผู้ถือสามารถเปลี่ยนงานได้ แต่งานนั้นต้องเป็นงานในสาขาวิชาที่เรียนมา มิเช่นนั้นจะต้องเปลี่ยนวีซ่าไปเป็นวีซ่าสำหรับผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ 

หลังทำงานไป 27 เดือน หรือราว 2 ปี 3 เดือน ผู้ถือ Blue Card สามารถขอใบอนุญาตตั้งถิ่นฐานระยะยาวในเยอรมนี (Settlement Permit) ซึ่งเทียบเท่ากับการเป็นประชากรเยอรมันได้ หากสอบวัดระดับภาษาเยอรมันแล้วได้อย่างน้อยระดับ A1 ตามกรอบอ้างอิงร่วมของยุโรปว่าด้วยมาตรฐานภาษาต่างประเทศหรือ GER (Gemeinsamer Europäischer Referenzrahmen) แต่หากมีความสามารถในการใช้ภาษาเยอรมันอย่างน้อยในระดับกลาง หรือสอบวัดระดับได้ระดับ B1 ขึ้นไป กระบวนการขอสัญชาติจะใช้เวลาประมาณ 21 เดือนเท่านั้น

20170615pht77520_original

2. วีซ่าสำหรับผู้ปฏิบัติงานมีทักษะ (Visa for Qualified Professionals)

วีซ่าสำหรับแรงงานทักษะสูง (Visa for Qualified Professionals) เป็นวีซ่าทำงานสำหรับผู้ที่จบหลักสูตรการฝึกสายอาชีพ และมีวุฒิศึกษาในสถานศึกษานอกเยอรมนีที่ต้องการเข้าไปทำงานเป็นแรงงานมีทักษะในประเทศ โดยผู้ที่สามารถขอวีซ่าสำหรับแรงงานมีทักษะได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • ถือวุฒิการศึกษาจากสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ นอกเยอรมนี ที่ได้รับการยอมรับและรับรองจากรัฐบาลเยอรมนีว่ามีคุณภาพเทียบเท่ากับวุฒิการศึกษาเดียวกันในเยอรมนี
  • หากเป็นงานที่ต้องใช้ใบอนุญาตหรือใบประกอบการทำงาน หรืองานที่อยู่ในการควบคุมของหน่วยงานกำกับดูแล (Regulated Professions) เช่น แพทย์ พยาบาล ครู และทนายความ ผู้ขอ วีซ่าจะต้องได้รับใบอนุญาตเหล่านี้ก่อน
  • ได้รับข้อเสนอเข้าทำงานจากนายจ้างในเยอรมนีแล้ว และต้องเป็นงานระดับสูงที่ใช้ความรู้ในระดับอุดมศึกษาหรือการฝึกสายอาชีพอย่างเป็นทางการในการเข้าทำงานเท่านั้น แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมา และไม่มีการจำกัดระดับรายได้ขั้นต่ำ
  • หากผู้สมัครวีซ่าประเภทนี้มีอายุเกิน 45 ปี ขึ้นไป และเข้าไปทำงานในเยอรมนีเป็นครั้งแรก จะต้องได้งานที่ให้รายได้ไม่ต่ำกว่า 49,830 ยูโรต่อปี หรือราว 1,981,675 บาทต่อปี หรือ 165,140 บาทต่อเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าเงินบำนาญที่จะได้รับหลังการเกษียนจะเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในเยอรมนีต่อ เพราะเงินบำนาญของเยอรมนีจะคิดตามภาษีที่ได้จ่ายให้แก่รัฐตลอดชีวิตการทำงาน ทำให้หากระยะการทำงานสั้น และจ่ายภาษีไม่มากพอ เงินบำนาญจะไม่เพียงพอใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลาย

ผู้ถือวีซ่าชนิดนี้จะมีสิทธิพำนักและทำงานในเยอรมนีได้อย่างถูกกฎหมายเป็นระยะเวลา 4 ปี หากสัญญาการจ้างงานสั้นกว่า 4 ปี ผู้ถือวีซ่าจะได้ระยะเวลาการถือวีซ่าเท่ากับระยะจ้างงานบวกไปอีก 3 เดือน และผู้ที่ถือวีซ่าประเภทนี้สามารถขอใบอนุญาตตั้งถิ่นฐานระยะยาวในเยอรมนีได้ หากทำงานในเยอรมนีติดต่อกัน 3 ปีขึ้นไป

3. วีซ่าสำหรับผู้มีประสบการณ์ทำงาน (Visa for Professionally Experienced Workers)

วีซ่าสำหรับผู้มีประสบการณ์ทำงาน (Visa for Professionally Experienced Workers) เป็นวีซ่าสำหรับแรงงานมีประสบการณ์ที่ต้องการทำงานที่ไม่ได้อยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแล และไม่ต้องมีใบอนุญาตเพื่อทำงาน (Unregulated Professions) ในเยอรมนี โดยผู้ที่สามารถขอวีซ่าประเภทนี้ได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • ผ่านการศึกษาในหลักสูตรสายอาชีพหรือวุฒิการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ได้การรับรองจากรัฐบาลประเทศที่สถานศึกษาดังกล่าวตั้งอยู่ ผู้ที่เรียนสายอาชีพจะต้องมีประสบการณ์ฝึกงานไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ ผู้ที่จบการศึกษาและผ่านการฝึกงานจากหอการค้าเยอรมันนอกประเทศเยอรมนี (AHK) ที่มีคุณสมบัติตรงกับที่ระบุไว้ใน Vocational Training Act (BBiG) ของเยอรมนี
  • ต้องได้รับผลการรับรองคุณสมบัติและความสามารถในการทำงานจาก The Central Office for Foreign Education (ZAB) หรือศูนย์รับรองความสามารถและคุณสมบัติของแรงงานที่จบจากสถานศึกษานอกเยอรมนี
  • ต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีประสบการณ์ทำงานจริงมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ในช่วง 5 ปีก่อนการยื่นขอวีซ่า และต้องเป็นประสบการณ์ที่สอดคล้องกับงานที่กำลังจะเข้ามาทำในเยอรมนี
  • ได้รับข้อเสนอเข้าทำงานในสายที่ไม่ต้องใช้ใบอนุญาตจากนายจ้างในเยอรมนีแล้ว และเป็นงานที่สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 40,770 ยูโรต่อปี หรือราว 1,622,600 บาทต่อปี หรือ 135,217 บาทต่อเดือน หรือมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรและมีผลบังคับทางกฎหมายที่แน่นอนว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงเท่าที่ตกลงกันไว้
  • มีหนังสือรับรองการจ้างงานจาก Federal Employment Agency (BA) ของเยอรมนีว่าสภาพการทำงานและค่าแรงที่ได้ผ่านตามมาตรฐานแรงงานภายในประเทศ แต่เอกสารนี้เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องแจ้งและยื่นขอเอกสารจากหน่วยงานดังกล่าว

ทั้งนี้ เช่นเดียวกับการขอ Blue Card ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานในด้านข้อมูล การสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาด้านนี้โดยตรง เพียงแต่ต้องมีประสบการณ์ทำงานจริง และได้รับข้อเสนอเข้าทำงานจากนายจ้างในเยอรมนีแล้ว 

ผู้ที่ถือวีซ่าประเภทนี้ สามารถต่อวีซ่าไปได้เรื่อยๆ หากยังมีงานทำและมีรายได้เพียงพอใช้ชีวิตในเยอรมนี และสามารถขอใบอนุญาตตั้งถิ่นฐานระยะยาวในเยอรมนีได้ หากทำงานในเยอรมนีไปอย่างน้อยแล้ว 5 ปี

skilled-professionals

4. วีซ่าสำหรับแรงงานมีทักษะเพื่อเข้ากระบวนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Visa for Employment Within the Framework of a Recognition Partnership)

วีซ่าประเภทนี้เป็นวีซ่าสำหรับผู้ที่มีวุฒิการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและประสบการณ์ทำงาน แต่ต้องการเข้ามาทำงานในเยอรมนีก่อนที่จะเข้ากระบวนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Recognition Procedure) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละวิชาชีพ โดยผู้ที่ขอวีซ่าประเภทนี้ได้จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • ผ่านการศึกษาในหลักสูตรสายอาชีพหรือวุฒิการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ได้การรับรองจากรัฐบาลประเทศที่สถานศึกษาดังกล่าวตั้งอยู่ ผู้ที่เรียนสายอาชีพจะต้องมีประสบการณ์ฝึกงานไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ ผู้ที่จบการศึกษาและผ่านการฝึกงานจากหอการค้าเยอรมันนอกประเทศเยอรมนี (AHK) ที่มีคุณสมบัติตรงกับที่ระบุไว้ใน Vocational Training Act (BBiG) ของเยอรมนี
  • ได้รับผลการรับรองคุณสมบัติและความสามารถในการทำงานจาก The Central Office for Foreign Education (ZAB) หรือศูนย์รับรองความสามารถและคุณสมบัติของแรงงานที่จบจากสถานศึกษานอกเยอรมนี
  • ได้รับข้อเสนอเข้าทำงานจากนายจ้างในเยอรมนีแล้ว และต้องเป็นงานระดับสูงที่ใช้ความรู้ในระดับอุดมศึกษาหรือการฝึกสายอาชีพอย่างเป็นทางการในการเข้าทำงานเท่านั้น ยกเว้นงานที่ต้องใช้ใบอนุญาตที่ทำไม่ได้ แต่สามารถทำงานเป็นผู้ช่วยก่อนได้
  • สอบวัดระดับภาษาเยอรมันได้ระดับ A2 ขึ้นไป แต่งานในบางสาขาอาจต้องการระดับภาษาที่สูงกว่านี้
  • มีการเซ็นข้อตกลงกับนายจ้างว่านายจ้างจะสนับสนุนให้ลูกจ้างเข้ากระบวนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (Recognition Procedure) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระหว่างที่มีการจ้างงาน

ผู้ที่ถือวีซ่าประเภทนี้จะสามารถทำงานในเยอรมนีได้นาน 12 เดือน และต่อได้ครั้งละ 1 ปี สูงสุด 3 ปี และสามารถทำงานพิเศษนอกเหนือจากงานหลักได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากอยู่เกิน 3 ปีแล้วยังไม่ผ่านกระบวนการรับรองความสามารถจะต้องเปลี่ยนไปใช้วีซ่าประเภทอื่นเพื่ออยู่ในเยอรมนีต่อ

ทั้งนี้ หากผู้ถือวีซ่าประเภทนี้ทำงานและผ่านกระบวนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแล้วได้รับการรับรองความสามารถอย่างเต็มรูปแบบ (Full Recognition) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ถือวีซ่าสามารถเปลี่ยนไปถือวีซ่าสำหรับแรงงานมีทักษะ หรือขอวีซ่า Blue Card ได้ หากยังทำงานอยู่ที่เดิมหรือได้ข้อเสนองานใหม่ แต่หากผ่านการรับรองความสามารถแล้วไม่มีงาน ผู้ถือวีซ่าจะต้องเปลี่ยนไปถือวีซ่าผู้หางาน และจะมีเวลา 12 เดือนในการหางาน

อย่างไรก็ตาม หากผ่านกระบวนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแล้วผู้ถือวีซ่าได้รับการรับรองบางส่วน (Partial Recognition) ซึ่งหมายความว่ามีคุณสมบัติพอทำงานได้แต่ยังขาดความเชี่ยวชาญด้านทฤษฏีและการปฏิบัติบางส่วน ผู้ถือวีซ่าจะสามารถต่อวีซ่าเพื่ออยู่ในเยอรมนีได้อีก 2 ปี เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมที่จำเป็นเพื่อให้สามารถผ่านการรับรองอย่างเต็มรูปแบบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น การฝึกอบรมในที่ทำงาน คอร์สอบรมพิเศษด้านวิชาชีพ และคอร์สภาษาเยอรมันสำหรับการทำงาน

5. วีซ่าสำหรับการฝึกงานสายอาชีพ (Visa for Vocational Training)

การศึกษาหลักสูตรสายอาชีพ หรือที่บ้านเราเรียกว่าอาชีวะ เป็นสายงานที่รัฐบาลเยอรมนีให้ความสำคัญและสนับสนุนให้คนทั้งภายในและนอกประเทศเข้าเรียนมาก เพราะถือเป็นกลุ่มแรงงานที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญจนเรียกได้ว่าเป็น “กระดูกสันหลังของประเทศ”

ปัจจุบัน เยอรมนีมีระบบการศึกษาสายอาชีพที่เรียกว่า “Ausbildung” ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่จบชั้นมัธยมและไม่ศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย เข้าฝึกอบรมในหลักสูตรวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง เพื่อสร้างทักษะเลี้ยงชีพแบบ “ฟรีๆ” โดยมีให้เลือกทั้งหมด 480 หลักสูตร ใช้เวลาเรียนประมาณ 2-3 ปี และมีข้อดีคือมี “duale Ausbildung หรือ ระบบคู่” ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าเรียน และทำงานสร้างรายได้ไปพร้อมกันได้ โดยใน 1 สัปดาห์ นักเรียนอาจจะเรียนที่สถาบันการศึกษา 1 วัน และฝึกงานอีก 4 วัน

ระบบที่ทำให้ได้เรียนและทำงานไปพร้อมกันนี้ทำให้วีซ่าฝึกงานสายอาชีพเป็นวีซ่าที่ชาวต่างชาตินิยมขอเพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าไปทำงานในเยอรมนีมากที่สุด แต่มีข้อแม้คือผู้ขอวีซ่าประเภทนี้จะต้องรู้ภาษาเยอรมันพื้นฐานเสียก่อน เพราะถ้าไม่รู้ภาษาเยอรมัน สถานศึกษาหรือที่ทำงานส่วนมากจะไม่รับพิจารณาเข้าฝึกงาน 

จากข้อมูลของรัฐบาล ผู้ที่ต้องการขอวีซ่าฝึกงานสายอาชีพในเยอรมนีจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • ต้องได้รับการตอบรับเข้าฝึกงานในบริษัทในเยอรมนี หรือเข้าศึกษาในหลักสูตรสายอาชีพที่มีการฝึกงานภายในประเทศ
  • ต้องสอบวัดระดับภาษาได้เดินระดับที่กำหนดสำหรับการฝึกงานสายอาชีพ ส่วนมากจะเป็นระดับ B1 ขึ้นไป
  • มีรายได้และเงินทุนพอสำหรับการใช้ชีวิตในเยอรมนีได้ตลอดการฝึกงานหรือการศึกษา ซึ่งปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 903 ยูโร หรือราว 35,886 บาทต่อเดือน ผู้ที่เข้าเรียนกับสถาบันสามารถพิสูจน์ความสามารถนี้ได้ด้วยการเปิดบัญชีธนาคารและใส่เงินทุนสำหรับการใช้ชีวิตในแต่ละเดือนไว้เพื่อยื่นเป็นหลักฐาน หรือยื่นหลักฐานรายได้ที่จะได้รับจากการฝึกงานในแต่ละเดือนที่ต้องมากกว่าระดับที่กำหนดไว้

วีซ่าสำหรับการฝึกงานจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี และครอบคลุมระยะเวลาการเรียนและฝึกงานเต็มหลักสูตร และผู้ถือวีซ่าประเภทนี้สามารถทำงานหารายได้เพิ่มได้อีกไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องเข้าเรียนหลักสูตรภาษาเยอรมันเพิ่มเติมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต ซึ่งจะเป็นคอร์สภาษาในสถาบันอาชีวะหรือว่าคอร์สภาษาอื่นๆ ที่มีหลักสูตรสำหรับการทำงานสายอาชีพก็ได้

หลังจากเรียนและฝึกงานเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ถือวีซ่านี้สามารถเปลี่ยนไปถือวีซ่าหางาน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหางานได้ใน 12 เดือน และสามารถทำงานอะไรก็ได้เพื่อหาเลี้ยงชีพไปก่อนได้งาน แต่ส่วนมากนักเรียนที่ผ่านการฝึกงานสายอาชีพจะมีงานรองรับหลังจบการศึกษาอยู่แล้วจากภาวะขาดแคลนแรงงานที่ได้อธิบายไปข้างต้น

นอกจากนี้ ผู้ที่เรียนสายอาชีพยังสามารถยื่นขอใบอนุญาตตั้งถิ่นฐานระยะยาวได้หากทำงานในประเทศเยอรมนีมาแล้ว 2 ปี 
deutsche-unternehmen-suchen-i_1

มีคุณสมบัติผ่านแล้วต้องดำเนินการอย่างไร? ยื่นสมัครวีซ่าที่ไหน?

ผู้ที่ตรวจสอบแล้วพบว่าตัวเองมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้สำหรับทำงานแต่ละประเภท สามารถนัดหมายเพื่อยื่นใบสมัครและเอกสารที่กำหนดแก่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี เอกสารทั้งหมดที่เป็นภาษาไทยจะต้องได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมันโดยผู้ที่มีอนุญาต โดยพื้นฐานผู้ขอวีซ่าทำงานจะมีเอกสารและสิ่งที่จะต้องเตรียม ดังนี้ 

  • หนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งาน และสำเนาหน้าที่มีข้อมูลส่วนตัว 2 ชุด ในบางกรณีอาจต้องใช้หนังสือเดินทางเก่า
  • รูปถ่ายไบโอเมตริก 2 ใบ
  • แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าที่กรอกข้อความครบถ้วน 2 ฉบับ
  • แบบฟอร์มสำหรับวีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาวในประเทศเยอรมนี
  • สัญญาการทำงานภาษาเยอรมัน ที่ระบุหน้าที่ชัดเจน เงินเดือน เวลาทำงาน จำนวนวันลาพักร้อนและระยะเวลาจ้างงาน เช่น วันเริ่มและวันสิ้นสุดการทำงาน
  • หนังสืออธิบายรายละเอียดในการจ้างงาน (Erklärung zum Beschäftigungsverhältnis)
  • หลักฐานการสำเร็จการศึกษา/การฝึกวิชาชีพ
  • ประวัติการทำงานโดยย่อ (Resume) ซึ่งระบุปี ตำแหน่งงาน บริษัทหรือที่ทำงาน
  • หลักฐานการประกอบอาชีพ รวมไปถึงหนังสือรับรองการทำงานฉบับจริง พร้อมหลักฐานประกันสังคมตลอดระยะเวลาที่ประกอบอาชีพ
  • หลักฐานแสดงความรู้ภาษาเยอรมัน และ/หรือภาษาอังกฤษ

สำหรับวิชาชีพเฉพาะ เช่น พยาบาล หรือผู้ประกอบอาชีพทำอาหาร อาจมีเอกสารที่ต้องเตรียมเพิ่มสำหรับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อทำงานในเยอรมนีอีก ซึ่งผู้ยื่นสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ในหัวข้อ “วีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาวในประเทศเยอรมนี (National Visa)” (link: https://bangkok.diplo.de/th-th/service/visa-einreise/national-visa/1353050)

ระดับภาษาเยอรมันมีกี่ระดับ? สอบที่ไหน?

จากรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าไปทำงานในเยอรมนี จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติสำคัญที่ทุกคนต้องมีคือความรู้ภาษาเยอรมันตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับกลาง และถ้าหากไม่รู้ภาษาเยอรมันหรือมีผลการทดสอบก็แทบจะไม่มีโอกาสเลยที่จะเข้าไปทำงานในเยอรมนี

ปัจจุบัน การทดสอบภาษาเยอรมันอิงตามกรอบ CEFR ซึ่งย่อมาจาก Common European Framework of Reference for Languages หรือกรอบมาตรฐานสากลที่ใช้ในการอธิบายความสามารถทางภาษาทั้ง 4 ทักษะของยุโรป (ฟัง พูด อ่าน เขียน) แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ระดับใหญ่ และ 6 ระดับย่อยคือ

  • การใช้ภาษาเบื้องต้น แบ่งเป็นระดับ A1 และ A2 
  • การใช้ภาษาระดับกลาง แบ่งเป็นระดับ B1 และ B2
  • การใช้ภาษาระดับสูง แบ่งเป็นระดับ C1 และ C2

ในประเทศไทย ผู้สนใจสามารถสมัครสอบวัดระดับภาษาเยอรมันที่เรียกว่า Goethe-Zertifikat ได้กับสถาบันเกอเธ่ โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน และลงทะเบียนสอบพร้อมชำระผ่านบริการพร้อมเพย์ หรือชำระเป็นเงินสด ในวันเวลาทำการห้องลงทะเบียนของสถาบัน หรือหากไม่สะดวกไปที่สถาบันสามารถสอบถามและทำการลงทะเบียนสอบผ่านทางอีเมล

สำหรับค่าใช้จ่าย ค่าสอบภาษาเยอรมันจะแตกต่างกันไปในแต่ละระดับ โดยหากระดับสูงมากจะยิ่งแพง ปัจจุบัน การสอบแต่ละระดับต้องใช้ค่าใช้จ่าย ดังนี้

  • Goethe-Zertifikat A1 ราคา 105 ยูโร
  • Goethe-Zertifikat A2 ราคา 125 ยูโร
  • Goethe-Zertifikat B1 ราคา 210 ยูโร
  • Goethe-Zertifikat B2 ราคา 240 ยูโร
  • Goethe-Zertifikat C1 ราคา 270 ยูโร
  • Goethe-Zertifikat C2 ราคา 295 ยูโร

จากข้อมูลของสถาบันเกอเธ่ ผลการสอบวัดระดับจะประกาศ อย่างช้า 3 วันทำการ (จ.–ศ.) หลังวันสอบ และผู้สอบสามารถตรวจสอบผลการสอบ โดยไปติดต่อที่ห้องลงทะเบียนของสถาบัน หรือตรวจสอบผลทางเว็บไซต์ และระบบ MeinGoethe.de โดยใช้เลขที่ผู้สอบ 6 หลักแรก ในการตรวจผลสอบ

ตามกฎระเบียบ ผลสอบ Goethe-Zertifikats ตั้งแต่ระดับ A1 ถึง C2 ไม่มีวันหมดอายุ แต่สถาบันและนายจ้างหลายแห่งมักจะรับคะแนนที่มีอายุไม่เกินสองปี 






อ้างอิง: Make It In Germany, Anerkennung in Deutschland, Goethe Institut

แชร์
เปิดวิธีไปทำงานที่ ‘เยอรมนี’  ไปวีซ่าแบบไหน? งานอะไรกำลังเป็นที่ต้องการ?