Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
บริษัทในญี่ปุ่นล้มละลายกว่า 4,931 รายและคนญี่ปุ่นกว่า 60% อยู่ยากลำบาก
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

บริษัทในญี่ปุ่นล้มละลายกว่า 4,931 รายและคนญี่ปุ่นกว่า 60% อยู่ยากลำบาก

9 ก.ค. 67
01:12 น.
|
2.0K
แชร์

ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจจนมีบริษัทล้มละลายกว่า 4,931 รายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เท่านั้น แต่ยังกัดกินความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปอย่างหนัก โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่าครัวเรือนเมือปี 2566 กว่า 60% กำลังเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก สวนทางกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ยังคงมีผลประกอบการที่ดี

เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่ง!

บริษัทในญี่ปุ่นล้มละลายกว่า 4,931 รายและคนญี่ปุ่นกว่า 60% อยู่ยากลำบาก

บริษัทในญี่ปุ่นล้มละลายกว่า 4,931 รายและคนญี่ปุ่นกว่า 60% อยู่ยากลำบาก

เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานจาก สำนักข่าวซินหัว ระบุว่า จากผลสำรวจของโตเกียว โชโก รีเสิร์ช จำกัด ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 6 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจที่มีหนี้สินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเยน (ประมาณ 2.26 ล้านบาท) ประสบภาวะล้มละลายรวม 4,931 ราย เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับการล้มละลายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เป็นผลมาจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557

จากนี้รายงานยังเผยว่า บริษัทที่ประสบปัญหาล้มละลายเนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เช่น ต้นทุนการจัดซื้อที่เพิ่มขึ้น มีจำนวน 374 ราย คิดเป็นสัดส่วน 23.4% ของจำนวนธุรกิจที่ล้มละลายทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากภาวะค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง นอกจากนี้ บริษัทวิจัยยังคาดการณ์ว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและประสบภาวะล้มละลายอาจเพิ่มขึ้นอีก โดยอาจสูงถึง 10,000 รายต่อปี

วิกฤตธุรกิจญี่ปุ่น เมื่อเงินเฟ้อและขาดแคลนแรงงานบีบรัด SME

บริษัทในญี่ปุ่นล้มละลายกว่า 4,931 รายและคนญี่ปุ่นกว่า 60% อยู่ยากลำบาก

ถึงแม้ว่าบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีผลประกอบการที่ดี แต่ผลสำรวจกลับพบว่าธุรกิจขนาดเล็กกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต โดย 88.4% ของบริษัทที่ล้มละลายมีจำนวนพนักงานน้อยกว่า 10 คน หากเมื่อพิจารณาในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรม พบว่า 8 ใน 10 อุตสาหกรรมมีจำนวนบริษัทที่ประสบภาวะล้มละลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการก่อสร้างและการขนส่ง ซึ่งจำนวนบริษัทที่ล้มละลายในภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 20.6% คิดเป็น 947 ราย สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและต้นทุนวัสดุที่พุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับภาคแรงงานประสบภาวะล้มละลายเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว โดยมีจำนวนถึง 145 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 โดยผลสำรวจยังระบุเพิ่มเติมว่าในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว มีบริษัทที่ประสบภาวะล้มละลายถึง 820 ราย เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อนหน้า นับเป็นเดือนที่ 27 ติดต่อกันที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ยังคงส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

เงินเฟ้อกัดกิน ชีวิตความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นกว่า 60% 'ยากลำบาก'

บริษัทในญี่ปุ่นล้มละลายกว่า 4,931 รายและคนญี่ปุ่นกว่า 60% อยู่ยากลำบาก

จากผลสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยกระทรวงสวัสดิการและแรงงานของญี่ปุ่นประจำปี 2566 ระบุว่า สัดส่วนครัวเรือนที่ประเมินสภาพความเป็นอยู่ของตนเองว่า "ยากลำบาก" เพิ่มขึ้น 8.3 จุด จากปีก่อนหน้า เป็น 59.6% โดยกระทรวงฯ ประเมินว่าสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับการสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2566 โดยเก็บข้อมูลจาก 40,526 ครัวเรือน และอีก 4,768 ครัวเรือนเกี่ยวกับรายได้

ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามที่ประเมินสภาพความเป็นอยู่ของตนเองว่า "ยากลำบาก" 26.5% ระบุว่า "ยากลำบากมาก" และ 33.1% ระบุว่า "ค่อนข้างยากลำบาก" เมื่อจำแนกตามประเภทครัวเรือน พบว่า 59% ของครัวเรือนผู้สูงอายุ และ 65% ของครัวเรือนที่มีบุตร ต่างประสบปัญหาความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า รายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนลดลง 215,000 เยน หรือ 3.9% จากปีก่อนหน้า คิดเป็น 5,242,000 เยน โดยครัวเรือนผู้สูงอายุมีรายได้เฉลี่ยลดลง 134,000 เยน เหลือ 3,049,000 เยน

ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนที่มีบุตรกลับมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 276,000 เยน เป็น 8,126,000 เยน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสัดส่วนของมารดาที่ทำงานนอกบ้านที่เพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจ พบว่า 77.8% ของครัวเรือนที่มีบุตรมีมารดาออกไปทำงาน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด และ 32.4% ของมารดาทำงานเต็มเวลา ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสถิติที่ดูน่าสนใจ

เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่ง! ธุรกิจล้มครืน คนอยู่ยาก นี้อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยได้เรียนรู้อะไรบ้าง

จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญ สะท้อนให้เห็นภาพความยากลำบากของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ก็กำลังถูกบีบรัดอย่างหนักจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและปัญหาขาดแคลนแรงงาน สถานการณ์นี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และเราควรเตรียมรับมืออย่างไร?

บทเรียนจากญี่ปุ่นเมื่อเงินเฟ้อไม่ใช่แค่เรื่องของราคา

บริษัทในญี่ปุ่นล้มละลายกว่า 4,931 รายและคนญี่ปุ่นกว่า 60% อยู่ยากลำบาก

สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจ การจ้างงาน และคุณภาพชีวิตของประชาชน ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีสายป่านยาวพอจะปรับตัวรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการว่างงานและซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจให้รุนแรงยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังไม่สูงเท่าญี่ปุ่น แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณเตือนถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีสัดส่วนสูงถึง 99.5% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด หากภาครัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันท่วงที SMEs ไทยอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับญี่ปุ่นได้

สำหรับปัญหาขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของประชาชน แต่สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงเท่าญี่ปุ่น แต่ก็มีสัญญาณเตือนให้เห็นบ้างแล้ว โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมบางประเภทที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างชาติในประเทศไทย หากสถานการณ์เงินเฟ้อยังคงยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม อาจทำให้เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นและกระทบต่อรายได้ของแรงงานไทยในที่สุด

เตรียมรับมืออย่างไร?

ภาครัฐต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่อาจรุนแรงขึ้น โดยออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs ทั้งในด้านการเงินและการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุน นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและสร้างความมั่นคงในการทำงาน ในส่วนของประชาชน ควรเริ่มวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มรายได้เสริม เพื่อรับมือกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนในความรู้และทักษะใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานและสร้างความมั่นคงในชีวิต

สรุป วิกฤตเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญเป็นบทเรียนสำคัญที่ไทยไม่ควรมองข้าม เราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น และเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึง ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจึงควรเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

ที่มา Xinhua และ japantime

แชร์

บริษัทในญี่ปุ่นล้มละลายกว่า 4,931 รายและคนญี่ปุ่นกว่า 60% อยู่ยากลำบาก