45,000 ล้าน คือ มูลค่าของตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทย ที่กำลังสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึง มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนไทยจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่ง มาจากการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น และการเปิดใจยอมรับของสังคมไทยมากขึ้น
ล่าสุด ‘Tellscore’ มาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์มครบวงจร และผู้นำด้านอินฟลูเอนเซอร์ของไทย ชี้ว่า ปี 2024 เป็นปีแห่ง ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ สะท้อนได้จากคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลกที่หันมาเป็น ‘full-time’ หรือทำเป็นงานประจำ ทำงานเต็มเวลา มากขึ้นทั่วโลก
จากสถิติของ Linktree พบว่า ปัจจุบัน มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประมาณ 200 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 3% จากประชากรโลก ด้วยขนาดตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์โลกที่สูงถึง 5.5 ล้านล้านบาท
ส่วนประเทศไทย แม้เศรษฐกิจอาจไม่เติบโตสูงเท่าประเทศในภูมิภาคอาเซียน แต่การตลาดดิจิทัลเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ยังขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยมีอัตราการเติบโตที่ 25-30% ในช่วง 2-3 ปีนี้ ด้วยขนาดตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยที่ 45,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบัน คนไทยที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีมากถึง 9 ล้านคน โดย 2-3 ล้านคน ทำงานคอนเทนต์แบบ full-time ในขณะที่อีก 7 ล้านคน เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ part-time หรือ microinfluencer ที่เพิ่งผันตัวมาทำคอนเทนต์ได้ไม่นาน หรือเริ่มมีการรับเงินจากการทำคอนเทนต์แล้ว
สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore เปิดเผยว่า จากสถิติของ Linktree พบว่า สำหรับประเทศไทย คอนเทนต์ครีเอเตอร์ครอบคลุมตั้งแต่ในระดับ nano, macro, และ mega ทั้งที่เป็น full-time และ part-time สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย และการใช้เวลาบนโลกออนไลน์ของคนไทย ที่มีอัตราสูงในอันดับต้นๆ ของโลก
โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พบว่า ประชากรไทยมีการอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณ 89.5% และมีช่องทางโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน คิดเป็น 71.5% ของประชากรทั้งหมด
จากสถิตเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ เป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่มีความสัมพันธ์และอิทธิพลกับผู้บริโภค ประกอบกับพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ที่ติดตามข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในสื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่ออื่น
นักการตลาดจึงเลือกโฟกัส และให้ความสำคัญในการเลือกร่วมงานกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากงบการตลาดที่ใช้กับผู้สร้างคอนเทนต์โดยเฉลี่ย มีสัดส่วนที่ 30% ทำให้ตลาดมีการเติบโตขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้การแข่งขันเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
โดยกลุ่มคอนเทนต์ที่มีกำลังซื้อสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความสวยความงาม (beauty) ไลฟ์สไตล์ และการเงิน ซึ่งกลุ่มไลฟ์สไตล์มีการเติบโตมากที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยที่ชอบสอดรู้สอดเห็น มีความสนใจใจชีวิตคนอื่น รวมทั้ง การทำคอนเทนต์แนวนี้ ไม่ต้องลงแรงมากเท่าแนวอื่น เพียงแค่ใส่ความเป็นตัวเองไปเท่านั้น
นอกจากนี้ คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น คือ คอนเทนต์ข่าว วิทยาศาสตร์ และการศึกษา แม้ในอดีต สถานีโทรทัศน์และสำนักข่าว มักไม่อนุญาตให้ผู้ประกาศข่าวหรือผู้สื่อข่าว ทำคอนเทนต์ของตัวเองได้ แต่ในปัจจุบัน พฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป ที่เน้นความเร็ว ความแตกต่าง และการเข้าถึงที่ง่าย ทำให้สื่อหลายราย หันมาแย่งชิงพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น
ในขณะที่คอนเทนต์อสังหาฯ และยานยนต์มีกำลังซื้อที่ลดลง เนื่องจากตลาดคอนเทนต์ของสองอุตสาหกรรมนี้ เริ่มถึงจุดอิ่มตัว ผู้ใช้งานเริ่มเห็นคอนเทนต์รีวิวบ้าน คอนโด รถยนต์ มากขึ้น และอาจไม่เห็นถึงความแตกต่างมาก ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่อยู่ในสายนี้ พยายามหนีการนำเสนอแบบเดิม และหาช่องทางที่ตัวเองสามารถสร้างควมแตกต่างได้
สุวิตา เสริมว่า ด้วยอัตราการเติบโตในตลาดคอนเทนต์ ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ผลิตคอนเทนต์จึงต้องสร้างความแตกต่างออกมา เพื่อให้เห็นถึงความโดดเด่น แต่ในเวลาเดียวกัน ยังต้องคงความเป็นตัวเอง มีความจริงใจ และได้อะไรบางอย่างกลับไปหลังจากรับชมหรือติดตามคอนเทนต์ชิ้นนั้นๆ
นอกจากนี้ การทำคอนเทนต์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแพลตฟอร์มก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดย ‘คลิปสั้น’ ยังคงเป็นคอนเทนต์ที่มาแรง เห็นได้จาก TikTok ที่ยังเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำในตอนนี้ จากการถูกดันขึ้นหน้าฟีดในหลายครั้ง และตัวเลือกที่มากมาย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกเสพสิ่งที่ตัวเองต้องการได้
ในขณะที่ YouTube ยังเป็นแพลตฟอร์มที่นักการตลาดและเอเจนซีเชื่อถือมากที่สุด มักทุ่มงบการตลาดไปที่แพลตฟอร์มนี้มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ส่วนแพลตฟอร์ม X เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น และคนที่ต้องการเสพข่าวแบบสั้น รวดเร็ว และได้ใจความ
ส่วน Facebook แม้ผู้ใช้งานฝั่งตะวันตกจะมีการใช้งานน้อยลง แต่สำหรับประเทศไทย Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ ที่มีส่วนร่วมสูงกว่า ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ เน้นส่องมากกว่าโพสต์
ทั้งนี้ สุวิตา กล่าวปิดท้ายว่า ตลาดคอนเทนต์คงไม่ถึงจุดอิ่มตัว หากผู้คนยังมีการสื่อสารปากต่อปาก ตลาดก็จะสามารถไปต่อได้ แต่จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้นมาก และอาจไม่ใช่ในรูปแบบเดิมเท่านั้น เห็นได้จาก TikTok ที่หันมาให้ความสำคัญกับ e-commerce มากขึ้น และการดันคลิปสั้นที่มีความยาวมากขึ้น จากเดิม 60-90 วินาที สู่ 2 นาทีขึ้นไป