การเลิกจ้างในอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงรุนแรงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากข้อมูลเว็บไซต์ Layoffs.fyi ที่รายงานว่า ใน 8 เดือนแรกของปี 2567 มีการเลิกจ้างพนักงานเทคฯ ไปแล้ว 136,782 คน จาก 422 บริษัททั่วโลก
โดยมีตั้งแต่บิ๊กเทคฯ อย่าง Tesla, Amazon, Google, TikTok, Snap, และ Microsoft ที่มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ทั้งจากการประกาศอย่างเป็นทางการ หรือแม้แต่การปลดเงียบ เช่นเดียวกับบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กที่มีการเลิกจ้างเช่นกัน และในบางกรณีถึงขั้นต้องปิดกิจการไปเลย
แม้ว่าตลาดแรงงานทั่วโลกเริ่มเห็นถึงสัญญาณของการฟื้นตัว แต่การเลิกจ้างในอุตสาหกรรมเทคฯ ยังเห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีขนาดใหญ่มาก ทำให้การเลิกจ้างแม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ผู้คนหลายพันคนต้องพลิกผัน
SPOTLIGHT ได้ร่วมรวม 5 ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดกระแสการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบันไว้ให้แล้ว ในบทความนี้
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี 2565 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งที่ตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจในวงกว้าง แม้ว่ามาตรการเหล่านี้ จะเริ่มควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ แต่ก็ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมและการบริการหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทำให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยี มีความจำเป็นต้องลดการลงทุนลง เช่นเดียวกับต้องลดการจ้างงานลง เนื่องจากต้องหมุนเงินสดที่หามาอย่างยากลำบากไปชำระหนี้ ซึ่งผลกระทบดังกล่าว มีความรุนแรงสำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่กู้ยืมเงินจำนวนมากในช่วงทศวรรษที่อัตราดอกเบี้ยเกือบเป็นศูนย์ แถมยังมีเงินทุนมากมาย ส่งผลให้ต้องลดต้นทุนอย่างมาก มีมาตรการรัดเข็มขัด และต้องเลิกจ้างพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะตกต่ำ และมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก จากความปั่นป่วนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้น ความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาล ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในยูเครนและตะวันออกกลาง และผลกระทบที่ยังคงอยู่ของการระบาดใหญ่
ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งผลกำไรต่อพนักงานมีความสำคัญ การเลิกจ้างจึงกลายเป็นมาตรการลดต้นทุนที่จำเป็น เนื่องจากบริษัทต่างๆ ต้องเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
AI เข้ามาสร้างทั้งโอกาสให้กับธุรกิจและคนทำงานจำนวนมาก ทั้งสร้างงานใหม่ และเพิ่มผลผลิตได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็สร้างภัยคุกคามได้เช่นกัน และยิ่งมีเสี่ยงอย่างมากสำหรับคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้
อย่างเช่น IBM ที่ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน 3,900 คน ในแผนกการตลาด และการสื่อสาร ในขณะที่หยุดจ้างพนักงานในตำแหน่งที่อาจถูกแทนที่ด้วย AI เช่นกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประสิทธิภาพที่ขับเคลื่อนด้วย AI กำลังบังคับให้บริษัทต่างๆ ต้องคิดกลยุทธ์ด้านกำลังคนใหม่
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 บริษัทเทคฯ ได้จ้างพนักงานมากเกินไป โดยเชื่อว่า ความต้องการทางดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นอย่างถาวร และในขณะเดียวกัน บริษัทต่างๆ จึงดิ้นรนเพื่อหาพนักงานในตำแหน่งต่างๆ โดยเสนอสิทธิพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังจากกระแสการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) และการเพิ่มขึ้นของการลาออกอย่างเงียบๆ (Quiet Quitting)
อย่างเช่น Meta ที่ได้เพิ่มจำนวนพนักงานเกือบสองเท่าในช่วงโควิด-19 แต่หลังจากนั้นกลับพบว่า บริษัทมีพนักงานมากเกินไป เมื่อโลกเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ทำให้ปัจจุบัน บริษัทเหล่านี้กำลังแก้ไขแนวทางอย่างเร่งด่วน จึงได้นำไปสู่การเลิกจ้างอย่างกว้างขวาง
บริษัทเทคโนโลยีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก จากนักลงทุนในการรักษาหรือเพิ่มผลกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน นักลงทุนให้ความสำคัญกับผลตอบแทน และเมื่อสภาวะตลาดผันผวน พวกเขามักจะเรียกร้องให้มีการดำเนินการทันทีเพื่อปกป้องการลงทุนของตน
วิธีที่เร็วที่สุดวิธีหนึ่งที่บริษัทต่างๆ จะตอบสนองได้ คือ การลดจำนวนพนักงาน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและปรับปรุงผลกำไรสุทธิได้อย่างรวดเร็ว กลยุทธ์นี้ช่วยให้บริษัทต่างๆ นำเสนอผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นในรายงานประจำไตรมาส ซึ่งในทางกลับกันสามารถทำให้ราคาหุ้นคงที่หรือเพิ่มขึ้นได้ ความจำเป็นในการตอบสนองความคาดหวังของนักลงทุนมักผลักดันให้บริษัทเทคโนโลยีต้องตัดสินใจที่ยากลำบากเหล่านี้
ที่มา Layoffs, Tech Story, Analytics Insight, TechCrunch, News X, Forbes, PYMNTS