สัญญาณเตือนดังขึ้นอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา เมื่อวิกฤตหนี้รถยนต์กำลังก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ รายงานล่าสุด ของ Edmunds เผยตัวเลขที่น่าตกใจ ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลังเผชิญกับภาวะ "หนี้สินรถยนต์เกินมูลค่า" หมายความว่า พวกเขากำลังเป็นหนี้มากกว่าราคาขายรถยนต์ของตัวเองเสียอีก สถานการณ์นี้ยิ่งน่าเป็นห่วงเมื่อพบว่า ผู้บริโภคกว่า 1 ใน 5 คน มีหนี้สินส่วนนี้สูงกว่า 10,000 ดอลลาร์
ปัญหาหนี้สินรถยนต์ที่พุ่งสูงขึ้น ไม่เพียงสะท้อนถึงความยากลำบากในการจัดการเงินของผู้บริโภค แต่ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจและสังคม บทความนี้ SPOTLIGHT จะพาคุณเจาะลึกถึงสาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางการแก้ไขวิกฤตหนี้รถยนต์ในสหรัฐอเมริกา รวมถึง บทเรียนสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรตระหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินซ้ำรอยอีกในอนาคต
ล่าสุด Edmunds.com ได้เผยแพร่รายงาน ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยระบุว่า มีจำนวนผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อรถยนต์ที่กำลังเผชิญกับภาวะ "หนี้สินรถยนต์เกินมูลค่า" หรือกล่าวคือ มูลค่าหนี้สินที่คงค้างสูงกว่ามูลค่าตลาดของรถยนต์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลรถยนต์และการวิจัยผู้บริโภครายนี้ รายงานว่า ยอดหนี้สินรถยนต์โดยเฉลี่ยที่เกินมูลค่ารถยนต์ ได้พุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6,458 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสที่สามของปี เพิ่มขึ้นจาก 6,255 ดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสก่อนหน้า และ 5,808 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
แม้ว่าภาวะหนี้สินรถยนต์เกินมูลค่า อาจไม่ใช่สัญญาณบ่งชี้ถึงวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ร้ายแรงในทันที แต่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้บริโภคที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของครัวเรือนในสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลจากธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ โดยพบว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้สินรถยนต์ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทะลุระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่เคยลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขโลก
"การที่ผู้บริโภคมีภาระหนี้สินสูงกว่ามูลค่ารถยนต์ 1,000 หรือ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวลมากนัก" เจสสิก้า คาลด์เวลล์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของ Edmunds กล่าวในแถลงการณ์ "แต่การที่เราพบว่า ผู้บริโภคจำนวนมาก กำลังแบกรับภาระหนี้สินส่วนนี้สูงถึง 10,000 หรือแม้กระทั่ง 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัญญาณที่น่ากังวลอย่างยิ่ง"
Edmunds รายงานว่า ผู้บริโภคกว่า 1 ใน 5 คน ที่มีภาระหนี้สินรถยนต์เกินมูลค่า กำลังแบกรับหนี้ก้อนโตกว่า 10,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 333,180 บาทไทย โดย 22% ของกลุ่มนี้มีหนี้สินเกินมูลค่ารถยนต์อย่างน้อย 10,000 ดอลลาร์ ขณะที่ 7.5% ติดหนี้หัวโต มียอดหนี้สินพุ่งสูงเกิน 15,000 ดอลลาร์
แม้สถานการณ์ดูน่ากังวล แต่ Edmunds แนะนำว่า ผู้บริโภคสามารถรับมือกับภาวะหนี้สินรถยนต์เกินมูลค่าได้ ด้วยการใช้งานรถยนต์คันเดิมให้นานขึ้น ดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันมูลค่ารถยนต์ตกต่ำ และหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่ไม่จำเป็น
"ในยุคที่ราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงเช่นนี้ ผู้บริโภคต้องมองการณ์ไกล คิดให้รอบคอบกว่าแค่เรื่องภาระผ่อนชำระรายเดือน และต้องประเมินพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของตนเองอย่างตรงไปตรงมา" Ivan Drury ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของ Edmunds กล่าว "การผ่อนรถยนต์ยาวนานถึง 7 ปี อาจเป็นเส้นทางตรงสู่ภาวะหนี้สินเกินมูลค่า หากคุณรู้ตัวว่าไม่ใช่คนที่จะใช้รถยนต์คันเดิมนานขนาดนั้น"
สถานการณ์หนี้สินรถยนต์เกินมูลค่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ใหม่ในช่วงปี 2021 และ 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญปัญหาขาดแคลนสินค้าคงคลัง อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน ส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากต้องซื้อรถยนต์ในราคาเต็ม หรือสูงกว่าราคา แต่เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ มูลค่ารถยนต์กลับลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะหนี้สินเกินมูลค่ารถยนต์
วิกฤตหนี้รถยนต์ในสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค และผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์
แม้ว่า Edmunds จะแนะนำแนวทางการรับมือกับภาวะหนี้สินรถยนต์เกินมูลค่า เช่น การใช้รถยนต์คันเดิมให้นานขึ้น การดูแลรักษารถยนต์ และการพิจารณาเงื่อนไขการผ่อนชำระอย่างรอบคอบ แต่ในระยะยาว การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภค
ภาครัฐ ควรมีมาตรการควบคุมดูแล และสนับสนุน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งเงินทุน และข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ รวมถึงส่งเสริมการใช้รถยนต์อย่างคุ้มค่า และการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
ภาคเอกชน โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ทางการเงิน และการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภค อย่างรอบคอบ ก่อนอนุมัติสินเชื่อ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้สินเกินตัว
ในส่วนของผู้บริโภค ควรตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน การใช้จ่ายอย่างมีสติ และการประเมินความจำเป็นในการใช้รถยนต์ รวมถึงศึกษาข้อมูล และทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ หรือทำสัญญาเช่าซื้อ
วิกฤตหนี้รถยนต์ในสหรัฐฯ เป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมของผู้บริโภค การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ และความเข้าใจ จากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความสมดุล และความยั่งยืน ให้กับระบบเศรษฐกิจ และสังคม ในระยะยาว
อ้างอิง nbcnews