ธุรกิจการตลาด

เจาะลึกเม็ดเงิน 7,139 ล้านเหรียญฯ ช่วย อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์

7 พ.ค. 65
เจาะลึกเม็ดเงิน 7,139 ล้านเหรียญฯ ช่วย อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์

ชำแหละเม็ดเงินก้อนใหญ่ 7,139 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกลุ่มนักลงทุนที่ให้เม็ดเงินนี้แก่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในการเข้าซื้อทวิตเตอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนักลงทุนหลายคนก็มีความสนิทสนมกับตัวเขาเอง หรือแม้แต่บางคนก็เคยขวางดีลของเขามาแล้วก่อนที่จะเปลี่ยนใจในท้ายที่สุด

 

หลังจากที่ อีลอน มัสก์ ประกาศดีลช็อกโลกยื่นข้อเสนอซื้อทวิตเตอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ และปฏิเสธการนั่งเป็นบอร์ดของบริษัท โดยเจ้าตัวชี้ว่าเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงบริษัท และะเชื่อในศักยภาพที่ทวิตเตอร์จะสามารถเป็นแพลตฟอร์มสำหรับแสดงความเห็นอย่างเสรีทั่วโลกได้

 

ล่าสุด อีลอน มัสก์ ได้ยื่นเอกสารต่อ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ว่าเขาได้เม็ดเงินลงทุนก้อนใหม่กว่า 7,139 ล้านเหรียญสหรัฐ จากบรรดาบริษัทลงทุน รวมถึงเหล่ามหาเศรษฐี สถาบันการเงิน กองทุนความมั่งคั่ง หรือแม้แต่หนึ่งในราชวงศ์ของซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่ได้ยื่นข้อเสนอซื้อทวิตเตอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่าสูงถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ในบทความนี้ Spotlight จะพาไปเจาะลึกว่าบริษัทการลงทุน หรือแม้แต่ผู้ลงทุนที่น่าสนใจ และน่าทำความรู้จักในเม็ดเงินก้อนนี้ ว่าเป็นใครและมาจากไหนบ้าง

 อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์


เจ้าชาย อัลวาลีด บิน ทาลาล

 

เจ้าชายจากซาอุดิอาระเบียผู้มีสินทรัพย์กว่า 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นเจ้าของบริษัทลงทุนอย่าง Kingdom Holding Company ซึ่งเป็นถือหุ้นรายใหญ่ของทวิตเตอร์ ก่อนหน้านี้เจ้าชายได้ออกมากล่าวว่าข้อเสนอของ อีลอน มัสก์ นั้นไม่สมเหตุสมผล และปฏิเสธการซื้อกิจการนี้ 

 

ท้ายที่สุดจากก้างขวางคอ กลายเป็นมิตรคนใหม่ เจ้าชายรายนี้ยอมรับข้อเสนอการซื้อกิจการ อย่างไรก็ดีในกรณีของเจ้าชายจากซาอุดิอาระเบียนี้จะแตกต่างจากคนอื่นที่ได้ให้เงินในการซื้อกิจการ นั่นก็คือเขาจะนำหุ้นของทวิตเตอร์ที่ถือไว้มูลค่า 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐแปลงสภาพให้กลายเป็นหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ 

 

แลร์รี เอลลิสัน

 

มหาเศรษฐีอันดับ 11 ของโลกผู้มีสินทรัพย์มากถึง 92,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และเขายังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดังอย่างออราเคิล (Oracle) นอกจากนี้เขาเองยังถือหุ้นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า (Tesla) มูลค่าสูงถึง 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 

 

โดยเขาได้ลงทุนเป็นเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

Sequoia Capital Fund

 

กองทุนชื่อดังที่เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพจากสหรัฐอเมริการายนี้ได้ลงทุน 800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกองทุนดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ใน สเปซเอ็กซ์ กิจการอวกาศ ของ อีลอน มัสก์ ขณะที่ โรเอลอฟ โบธา พาร์ตเนอร์ของกองทุนดังกล่าวนี้ก็เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) ของ PayPal สมัยที่ อีลอน มัสก์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) มาแล้ว

 

VyCapital 

 

กองทุนสัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีสำนักงานที่ดูไบรายนี้ได้ลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกองทุนเน้นลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่มีศักยภาพต่อมนุษย์ในอนาคต นอกจากนี้กองทุนได้เคยลงทุนในอาณาจักรของ อีลอน มัสก์ มาแล้วไม่ว่าจะเป็น Neuralink และ Boring Company

 

Binance

 

หากคุณเคยซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่มาแล้ว ชื่อนี้อาจไม่ได้สร้างความแปลกใจเท่าไหร่นัก โดย Binance ของ ฉางเผิง จ้าว ได้ลงทุนถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Binance ได้ประกาศลงทุนในสื่อด้านธุรกิจอย่าง Forbes มาแล้ว ดังนั้นการลงทุนในทวิตเตอร์เองนั้น ฉางเผิง จ้าว น่าจะเห็นโอกาสใหม่ๆ ในแพลตฟอร์มนี้ก็เป็นได้

 

AH Capital Management

 

สำหรับกองทุนนี้ก่อตั้งโดย มาร์ค แอนเดรสเซน หนึ่งในคนดังของวงการธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) ได้แสดงความสนใจที่จะสนับสนุนเงินทุนหลังจาก อีลอน มัสก์ ประกาศที่จะซื้อกิจการทวิตเตอร์ และได้ติดต่อกันผ่านทางทวิตเตอร์ จนท้ายที่สุดได้ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

กองทุนความมั่งคั่งของกาตาร์

 

หนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ได้ลงทุนเป็นมูลค่า 375 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกองทุนนั้นได้พยายามที่จะกระจายการลงทุนในหลายภูมิภาค นอกจากในทวีปยุโรป

 

Aliya Capital Partners

 

กองทุนจากไมอามี สหรัฐอเมริการายนี้ ได้ลงทุนมูลค่า 360 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกองทุนเองได้เน้นการลงทุนในบริษัทที่มีจุดเด่นด้านนวัตกรรม และเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ โดยกองทุนได้ลงทุนในบริษัทชื่อดังอย่างเช่น Didi บริการเรียกรถในประเทศจีน หรือแม้แต่ Robinhood แพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นในสหรัฐอเมริกา

 

Fidelity Management & Research

 

อีลอน มัสก์ ได้รับเงินลงทุนจากสถาบันการเงินอย่าง Fidelity Management & Research เป็นเงินมากถึง 316 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสถาบันการเงินดังกล่าวมีทรัพย์สินในการบริหารจัดการมากถึง 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

 

Brookfield

 

บริษัทด้านการลงทุนที่มีทรัยพ์สินมากกว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐจากประเทศแคนาดา ที่เน้นการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เช่น พลังงานสะอาด ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ได้ลงทุนมูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยเช่นกัน 

 

นอกเหนือจากรายชื่อข้างต้นแล้วยังมีบริษัทด้านการลงทุนรายอื่นๆ เช่น Strauss Capital, DFJ Growth, Honeycomb Asset Management เป็นต้น บางรายได้ลงทุนเป็นเม็ดเงินราวๆ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปจนถึงบางรายลงทุนด้วยเม็ดเงินกระจุ๋มกระจิ๋มพองามแค่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐก็มี

 

ไม่เพียงเท่านี้ในเอกสารที่ยื่นให้ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ทาง อีลอน มัสก์ ได้ระบุว่ากำลังคุยกับนักลงทุน หรือบริษัทลงทุนรายอื่นๆ หรือแม้แต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลายคน (รวมถึง แจ็ค ดอร์ซีย์ ที่เป็นอดีต CEO ของทวิตเตอร์) ให้ถือหุ้นไว้ เพื่อที่จะได้นำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

 

คาดว่าไม่นานเกินรอนี้เราน่าจะได้เห็น อีลอน มัสก์ ประกาศความสำเร็จในดีลนี้อย่างแน่นอน

 

ที่มา  Blooomberg   Al Jazeera

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

อีลอน มัสก์ เทหุ้น เทสลา 1.4 แสนล้านบาท คาดโปะดีลซื้อทวิตเตอร์

Twitter ยอมขายแล้ว! Elon Musk ทุ่มซื้อ 4.4 หมื่นล้าน ดัน DOGE พุ่ง20%

อีลอน มัสก์ "เทกโอเวอร์" Twitter จ่อถอนตลาดหุ้น มุ่งสู่แพลตฟอร์ม Free Speech

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT