Google ร่วมฉลอง "วันชามตราไก่" เปลี่ยนโลโก้ Doodle เฉลิมฉลองชามไก่สุดคิ้วท์ ครบรอบ 9 ปี ชามดังจากจังหวัดลำปางได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI
หลายคนเปิด Google วันนี้แล้วคงประหลาดใจไม่น้อย ที่เห็น Doodle หรือการเปลี่ยนโลโก้ของกูเกิลเป็นรูป "ชามตราไก่" สินค้าที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยมาเป็นดูเดิลที่ขยับได้ดุ๊กดิ๊กสุดน่ารัก จนอดไม่ได้ที่ต้องกดเข้าไปดู
ปกติแล้ว Google จะเปลี่ยนโลโก้รับวันสำคัญๆ ในประเทศต่างๆ และวันนี้ 12 กันยายน 2565 ก็ถือเป็น "วันเฉลิมฉลองชามตราไก่ลำปาง" หรือวันครบรอบ 9 ปี ที่ "ชามตราไก่" ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์" หรือ GI ของ จ.ลำปาง
รัฐบาลไทยขึ้นทะเบียนชามตราไก่เป็นสินค้า GI ของจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 ถือเป็นสินค้าที่ได้รับการยืนยันคุณภาพโดยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ถึงชื่อเสียงของชามตราไก่ที่ผลิตในภูมิภาค
ชามตราไก่ จ.ลำปาง มีความพิเศษจากเนื้อดินขาวลำปาง ผสมกับดินดำ และการทำน้ำเคลือบใส มีลวดลายเป็นรูปไก่หางดำ ดอกโบตั๋น และใบตอง ซึ่งต้องเพ้นท์ด้วยมือเท่านั้น
เปิดที่มาชามตราไก่จาก "จีน" มาสู่ "ไทย"
ต้นกำเนิดของชามตราไก่นั้นมาจากจีน จากกลุ่มชาวจีนแคะ (ฮากกา) และชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งถิ่นฐานเดิมที่ทำเริ่มทำชามตราไก่นั้นอยู่ที่ตำบล กอปี อำเภอไท้ปู มณฑลกวางตุ้ง (กว่างตง) ประเทศจีน คาดว่ามีมานานกว่า 200 ปีแล้ว
แต่เดิมชามไก่ไม่ปรากฏการเขียนลาย เป็นเพียงชามขาวธรรมดา ต่อมาเมื่อผลิตเสร็จได้จัดส่งมาเขียนลายเผาสีบนเคลือบ ที่ตำบลปังเคย แต้จิ๋ว หลังจากนั้นจึงกลายเป็นชามตราไก่สำเร็จรูปและส่งออกจำหน่ายในตลาดทั่วไป โดยเรือสำเภา
โดยเฉพาะหลังจากที่มีชาวจีนอพยพลี้ภัยมาอยู่ในประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย แต่ชาวจีนก็ยังคุ้นชินกับการใช้ชามไก่ในการพุ้ยข้าว ดังนั้นชามไก่จึงกลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
สำหรับจุดเริ่มต้นการผลิตชามตราไก่ในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นจริงจังในปี พ.ศ. 2503 โดยนายซิวกิม แซ่กวอก และนายซิมหยู แซ่ฉิน สองชาวจีนซึ่งได้ร่วมกันตั้งโรงงานทำถ้วยตราไก่แบบเมืองจีนขึ้น นับเป็นโรงงานทำถ้วยตราไก่แห่งแรกของลำปาง
คนแต้จิ๋วเรียกชามตราไก่ “โกยอั้ว” หรือ “แกกุงหว่อน” แต่เมื่อเข้ามาในประเทศไทย คนเมืองเหนือเรียกว่า “ชามก๋าไก่” หรือ “ถ้วยก๋าไก่” กระทั่งเพี้ยนเสียงมาเป็น “ชามตราไก่” หรือ “ชามไก่” ในปัจจุบัน
ด้านพิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี จ.ลำปาง ระบุว่า อาปาอี้ ซิมหยู แซ่ฉิน เป็นต้นตระกูลธนบดีสกุล ซึ่งเป็นผู้ค้นพบแร่ดินขาวและก่อตั้งโรงงานเซรามิคแห่งแรกของลำปาง ปัจจุบันชามตราไก่ที่ยังคงผลิตและวาดลวดลายแบบดั้งเดิม โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ไก่ ดอกโบตั๋น ใบไม้ ต้นกล้วย ต้นหญ้า ซึ่งเป็นลวดลายที่มาจากวิถีชีวิตของคนจีนที่มีอาชีพเกษตรกรรม เป็นสิ่งใกล้ตัวซึ่งมีความหมายที่ดีทั้งสิ้น
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) คืออะไร?
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical in dication) หรือ GI เป็นชื่อหรือสัญลักษณ์เฉพาะที่ใช้บนผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่อิงไปถึงตำแหน่งหรือจุดเริ่มต้นทางภูมิศาสตร์ เช่นเมือง ภูมิภาค หรือประเทศ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อาจจะใช้เป็นมาตราวัดคุณภาพของสิ่งบางสิ่ง หรือมีชื่อเสียงในทางใดทางหนึ่ง โดยมีผลมาจากจุดกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสิ่งนั้น โดยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า รวมถึงสิทธิบัตร
ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ให้แก่ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน
ปัจจุบัน มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้ว 182 รายการ โดยมีตั้งแต่สินค้าในกลุ่มอาหาร ข้าว ผัก/ผลไม้ ผ้า สินค้าหัตถกรรม และไวน์/สุรา