กลายเป็นเรื่องใหญ่ในเกาหลีใต้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศูนย์เก็บข้อมูลและระบบของบริษัท Kakao Corporation เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคมจนทำให้แอพพลิเคชั่นสื่อสารที่มีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของเกาหลีอย่าง Kakao Talk ล่มไปพร้อมกับบริการอื่นๆ บนแอพเช่น บริการธนาคาร และชำระเงินออนไลน์ เป็นเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง
และในยุคที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆ อย่างอยู่บนโลกออนไลน์อย่างในทุกวันนี้ แน่นอนว่าการล่มของแอพพลิเคชั่นที่คนใช้ติดต่อธุรกิจรวมไปถึงใช้ติดต่อทำงานกันย่อมสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
การล่มของ Kakao 10 ชั่วโมง สร้างความเสียหายร้ายแรงมาก เพราะต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งมีบริษัทหลักทรัพย์คาดการณ์ว่าจะคิดเป็นเงินสูงถึง 12 พันล้านวอน หรือราว 3.2 ร้อยล้านบาท มีผู้บริหารต้องลาออกรับผิดชอบไปหนึ่งคน และต้องมีการทบทวนกฎหมายในการดูแลอาคารสำนักงานของบริษัทใหญ่ที่ดูแลระบบโครงสร้างโทรคมนาคม
รวมไปถึงมีการสืบสวนเพื่อปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับ ‘การผูกขาด’ ของธุรกิจเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อลดอำนาจทางการตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ และลดผลกระทบที่จะมีต่อลูกค้าลงในกรณีที่เกิดเหตุแบบนี้ขึ้น
Kakao Corp. ใหญ่แค่ไหน ทำไมการที่บริการของบริษัทนี้ล่มจึงส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมเกาหลี และเราจะเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ได้บ้าง ทีมข่าว Spotlight สรุปมาได้ให้อ่านกัน
Kakao บริษัทแอพพลิเคชั่นที่มีประชากรเกาหลี 90% เป็นลูกค้า
ในเมืองไทย หากจะพูดถึงบริการและสินค้าจาก Kakao Corp. ที่คนไทยน่าจะรู้จักมากที่สุด คือแอพลิเคชั่นส่งข้อความอย่าง Kakao Talk และสินค้าที่มีตัวละครอย่าง หมีไรอัน (Ryan) และเอพีช (Apeach) แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมของคนไทยมากเท่ากับแอพ Line
แต่ในประเทศเกาหลีใต้ Kakao Talk แทบจะเรียกได้ว่าเป็นแอพสื่อสารแห่งชาติเลยก็ว่าได้ เพราะมีผู้ใช้มากกว่า 47 ล้านคน หรือกว่า 90% ของประชากรเกาหลีที่ ณ ปัจจุบันมีอยู่ 51.78 ล้านคน
นอกจาก Kakao Talk แล้ว บริการอื่นๆ ของ Kakao เช่น KakaoPay บริการชำระเงินออนไลน์ก็มีผู้ใช้งานมากไม่แพ้กัน รวมไปถึง KakaoBank ธนาคารออนไลน์, Kakao T บริการเรียกรถรับส่งคล้าย Grab, Kakao Webtoon บริการด้านความบันเทิง แพลตฟอร์มลงผลงานการ์ตูนออนไลน์ และแอพสตรีมเพลง Melon ที่สาวกเคป็อปน่าจะรู้จักกันดี
จะเห็นได้ว่า Kakao Corp. แทบจะเป็นผู้ให้บริการที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การเงิน การธนาคาร การขนส่ง รวมไปถึงความบันเทิงออนไลน์ ทำให้เมื่อศูนย์เก็บข้อมูลและระบบทำงานของบริษัทนี้รวน ชีวิตคนเกาหลีก็รวนตามไปด้วย ซึ่งถ้าจะให้คิดเปรียบเทียบง่ายๆ ในบ้านเรา สถานการณ์ที่คนเกาหลีเจอเมื่อวันเสาร์คงเหมือนคนไทยเจอแอพลิเคชั่น Line ล่มไปพร้อมๆ กับ Grab และแอพธนาคารที่ใช้
ความโกลาหลที่เกิดกับประชาชนและธุรกิจในเกาหลีใต้วันนั้น ทำให้ ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเกาหลีใต้ ถึงกับเรียก Kakao Corp. ว่าเป็น ‘เครือข่ายโครงสร้างระบบโทรคมนาคมพื้นฐานแห่งชาติ’ (a fundamental national telecommunications network) ของเกาหลีใต้
และออกปากว่า “ถ้าตลาด[ด้านการสื่อสาร] มันบิดเบี้ยวจนบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งหรือไม่กี่บริษัทสามารถกินรวบตลาดจนกลายเป็นคนคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแบบนี้ได้ รัฐบาลย่อมต้องออกมาตรการที่จำเป็นออกมาใช้คุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน”
หลายสำนักข่าวในเกาหลีเช่น The Korea Heralds และ The Korea Times ก็ได้ออกมารายงานแล้วว่า คณะกรรมการการค้าของเกาหลีใต้ หรือ The Fair Trade Commission (FTC) จะเป็นผู้เข้ามาสอบสวน รวมไปถึงปรับแก้กฎหมายที่มีอยู่ หรือออกกฎหมายใหม่เพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดของบริษัทด้านการสื่อสารในประเทศจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
นอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลของยุนซอกยอล ยังได้ออกมาให้สัมภาษณ์อีกด้วยว่าปัญหานี้เกิดจากการ ‘ขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกับบริษัทอื่น และการเสนอขายหุ้นอย่างไร้ความรับผิดชอบ’ ของ Kakao
และปัญหานี้อาจถูกยกระดับเป็น ‘ปัญหาความมั่นคงระดับชาติ’ เพราะการรวมบริการสื่อสารออนไลน์ไปไว้กับบริษัทเอกชนเจ้าเดียวแบบนี้ทำให้การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเกาหลีใต้อ่อนแอ จนอาจถูกผู้ไม่ประสงค์ดี โดยเฉพาะเกาหลีเหนือใช้โอกาสนี้เป็นช่องโจมตีทางไซเบอร์ได้
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเหตุการณ์นี้?
จากผลกระทบที่มีต่อชีวิตของคนเกาหลี และปฏิกิริยาของหน่วยงานทางรัฐที่มีต่อเหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า “การปล่อยให้บริษัทหนึ่งๆ เป็นผู้คุมกิจกรรมทางดิจิทัลของประชาชนทั้งประเทศนั้นเป็นเรื่องอันตรายและสร้างจุดอ่อนให้กับทั้งระบบเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประเทศ”
ถึงแม้ในไทยเราเองจะยังไม่มีบริษัทไหนที่ใหญ่พอให้บริการครอบคลุมทุกด้านในชีวิตเราแบบนี้ การปล่อยให้บริษัทเอกชนใดๆ ก็ตามมีอำนาจในการควบคุมตลาดในอุตสาหกรรมหนึ่งๆ มากเกินไปก็อาจส่งผลร้ายต่อสังคมมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ศูนย์ข้อมูลในการดำเนินงาน เช่นธุรกิจสื่อสาร
อีกทั้งยังเป็นอุทาหรณ์ให้บริษัทต่างๆ ต้องกระจายความเสี่ยงในการวางบริการในแต่ละศูนย์ข้อมูลให้ดี เพราะถึงแม้ Kakao จะมีศูนย์ข้อมูลถึง 4 แห่งภายในประเทศ ศูนย์ข้อมูลในโซลที่เกิดเหตุไฟไหม้ก็มีเป็นสถานที่รันเซิร์ฟเวอร์ในการให้บริการของ Kakao ถึง 32,000 เซิร์ฟเวอร์ ทำให้ถึงแม้เหตุจะเกิดที่ศูนย์ข้อมูลเดียว ก็ทำให้บริการทั้งหมดของ Kakao ล่มไปได้ถึง 10 ชั่วโมง
ที่มา: The Korea Herald, The Korea Times, Bloomberg, CNA, The Washington Post