Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
World Economic Forum กำลังตั้งคำถามอะไรกับโลก?
โดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

World Economic Forum กำลังตั้งคำถามอะไรกับโลก?

11 ก.พ. 68
13:37 น.
|
18
แชร์

เพิ่งผ่านพ้นไปกับการประชุมใหญ่ประจำปีของ World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2025 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นอีเวนต์แห่งปีที่ไม่ใช่แค่ ‘การประชุม’ แต่เป็นห้วงเวลาที่ผู้นำระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนมารวมตัวกันเพื่อกำหนดทิศทางบางอย่างร่วมกัน

World Economic Forum

ปีนี้มาในธีม Collaboration for The Intelligent Era ให้น้ำหนักเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศราฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าทีมงานของ WEF คงประชุม ระดมสมอง และเตรียมการกันเป็นปีกว่าที่เลือกหัวข้อที่เหมาะสมกับสถานการณ์โลกออกมาได้ แต่แล้วปีนี้ สิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ก็ถูกแย่งซีนจากการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งรอบสองของประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ทรัมป์’ ของสหรัฐอเมริกาจนได้

เพราะวันสาบานตนของทรัมป์นั้นก็ตรงกับวันแรกของการประชุม 20 มกราคม 2025 ทั่วโลกต่างรอฟังแถลงของผู้นำสหรัฐอย่างใจจดใจจ่อ ไม่แปลกที่กิจกรรมวันแรกของ WEF อาจจะไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่เคยเป็นมา และยิ่งวันต่อมาที่ทรัมป์กล่าวปาฐกถาออนไลน์เข้าไปที่คองเกรส เซ็นเตอร์ ศูนย์กลางการประชุมจุดสำคัญ ทุกอย่างก็ชัดเจนว่าเขา(ในนามของสหรัฐอเมริกา)ต้องการประกาศศักดาว่าเป็นพี่ใหญ่ของดาวดวงนี้และเปิดฉากบลัฟผู้นำประเทศต่างๆแบบไม่เกรงใจ ซึ่งก็ไม่เหนือความคาดหมายสไตล์ทรัมป์ที่ไม่สนเรื่องมารยาททางการเมืองระหว่างประเทศอะไรทั้งนั้น

สีหน้าของผู้นำโดยเฉพาะฝั่งยุโรปบนเวทีดูบึ้งตึงอย่างชัดเจนจากคำขู่เรื่องภาษีสินค้านำเข้า การโยนหินถามทางเรื่องลดอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแรงกดดันเพื่อต้องการน้ำมันในราคาที่ต่ำลงจากสหรัฐอเมริกาที่โยนไปถึงกลุ่มโอเปค

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของยุโรปในรอบนี้ก็ดูจะพร้อมเผชิญหน้ามากกว่ารอบก่อน เห็นได้จากท่าทีของ อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป หญิงเหล็กชาวเยอรมันที่แน่พอจนได้คุมกระทรวงกลาโหมต่อเนื่องหลายปี เธอกล่าวปาฐกถาในช่วงพิธีเปิดอย่างเป็นทางการของ WEF โดยเรียกร้องให้ชาติยุโรปจับมือกันให้แน่นมากขึ้น สร้างการจ้างงานและการลงทุนในภูมิภาคหลังจากหลายสิบปีที่ผ่านมายุโรปแทบจะหยุดพัฒนาเทคโนโลยีใหม่และนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีน ซึ่งตอนนี้เธอมองว่าถึงเวลาแล้วที่ยุโรปจะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ขนาดผู้เขียนเป็นคนไทย พอได้นั่งฟังเธอพูดในห้องประชุมแล้วก็ยังรู้สึกฮึกเหิมตามเลย

World Economic Forum

สิ่งที่น่าคิดคือ ยุโรปเลือกที่จะไปตามทางของตนเอง พร้อมตอบโต้สหรัฐอเมริกาแต่ก็ไม่ได้แสดงท่าทีอยากจะญาติดีกับจีนเพื่อหาพวกเท่าใดนัก สถานการณ์ของภูมิภาคไม่ง่ายเลยเพราะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคาราคาซัง หาทางลงไม่ได้ ซึ่งเกมนี้หนีไม่พ้นต้องให้สหรัฐอเมริกาเปิดหน้าเข้ามาช่วยเคลียร์ ขณะที่เศรษฐกิจในภาพรวมแทบจะไม่เติบโต ขยายตัวไม่ถึง 1% ซึ่งประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลีก็ยังปวดหัวกับการแก้ไขปัญหาในบ้านของตัวเองอยู่

ค่อนข้างชัดเจนว่าบรรดาผู้นำยุโรปตอนนี้ต่างก็อึดอัดกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ หนีไม่พ้นเรื่องพลังงานเป็นแน่ เพราะทรัมป์เองประกาศเดินหน้าขุดเจาะและสนับสนุนธุรกิจน้ำมันอย่างชัดเจน ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ ‘ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช’ ซีอีโอของกลุ่มบางจาก ที่ไปเข้าร่วมประชุมกับองค์กรด้านพลังงานระดับโลกที่จัดคู่ขนานกับเวทีใหญ่ของ WEF โดยชี้ว่าสหรัฐอเมริกามีกำลังการผลิตน้ำมันอยู่มาก ถ้านับรวมน้ำมันดิบและสินค้าพลังงานจากระบวนการขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งหมดจะสูงถึง 35 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากเดินหน้าผลิตด้วยปริมาณมหาศาลระดับนี้ต่อเนื่องจริงๆ ก็อาจจะเจอกับภาวะ Peak Oil หรือการขุดเจาะปิโตรเลียมจนถึงระดับสูงสุด จากนั้นจะผลิตได้น้อยลงเรื่อยๆ จนหมดไปได้ พูดง่ายๆคือ ราคาน้ำมันในระยะสั้นอาจถูกกดดันให้ต่ำลงมาจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นแต่ในระยะยาว หากเกิดภาวะดังกล่าวจริง ระดับราคาก็อาจะปรับสูงขึ้นจนสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติการณ์ได้

World Economic Forum

สิ่งที่ถูกพูดถึงดังมากขึ้นจากปีก่อนและประชาคมโลกเริ่มหันมามองมากขึ้นคือ พลังงานนิวเคลียร์ ที่เป็นพลังงานสะอาดและมีศักยภาพมากพอในการใช้ผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันมีทางเลือกมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นขนาดใหญ่ที่ต้นทุนสูงมากและเป็น’ภาพจำ’ ของโศกนาฏกรรมที่ยากจะลบเลือนออกไปจากประวัติศาสตร์ ขณะนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบ SMR หรือ Small Modular Reactor เป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กเป็นที่พูดถึงมากขึ้น โดยกลุ่มทุนจากไทยทั้งบางจาก เครือซีพี หรือกลุ่มบ้านปู ต่างก็สนใจอยากจะลงทุนเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในวันข้างหน้า

โลกในตอนนี้จึงเป็นภาพที่ทับซ้อนกันมากกว่าการหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวแบบเมื่อก่อน ฝั่งสหรัฐอเมริกาเลือกใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแต้มต่อในการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของชาติตนเอง ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสและไม่เอาด้วยกับเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสักเท่าไหร่ ส่วนยุโรป จีนและชาติอื่นๆ ยังคงพูดเรื่องโลกาภิวัฒน์ การค้าเสรีรวมทั้งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของสหประชาชาติ

พูดคนละเรื่องบนโลกเดียวกันและทางเดินดูท่าจะแตกแยกออกไปเรื่อยๆ

เหนือสิ่งอื่นใด ก็ต้องชมรัฐบาลไทยในยุคคุณเศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องมาถึงคุณแพทองธาร ชินวัตร ที่ให้ความสำคัญกับการประชุมเวทีนี้ หากเทียบกับยุคของรัฐบาลก่อนหน้า แทบจะไม่เห็นพื้นที่ของประเทศไทยในเวทีโลกสักเท่าไหร่นัก คนไทยเพิ่งจะรู้จัก World Economic Forum ในวงกว้างก็จากช่วงสองปีนี้นี่เอง โดยเฉพาะล่าสุดที่ร่วมมือกับทาง ChefCares เอาอาหารไทยทั้งต้มยำกุ้ง มัสมั่น แกงเขียวหวาน หรือไก่กอและไปเสริฟในศูนย์ประชุม สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงานที่มายืนต่อคิวยาวเหยียด จนผู้เขียนได้ยินข่าวแว่วมาว่า ปีหน้าก็อาจจะได้เห็นอาหารไทยมาเสิรฟที่ดาวอสอีกในรูปแบบที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมก็เป็นได้

World Economic Forum

ภาพของผู้นำระดับประเทศหรือซีอีโอเบอร์ใหญ์กำลังซดต้มยำกุ้งของไทยนี่ก็ดูเข้าท่าดีเหมือนกัน

World Economic Forum

แม้การประชุมที่ดาวอสนี้จะถูกค่อนขอดว่าเป็นการรวมตัวของบรรดามหาเศรษฐี เป็นเวทีของคนขาวที่ครองโลกมาพูดคุยกันเพื่อดีลทางธุรกิจมากกว่าจะทำให้โลกดีขึ้นจริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นการประชุมที่ ‘ไม่มาไม่ได้’ เพราะบรรดาคนจากจุดยอดสุดของปีระมิดมารวมตัวกันทีนี่ วาระสำคัญที่จะส่งผลกับการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นที่นี่ และทาง WEF ก็ตั้งใจอย่างต่อเนื่องในการสร้างพันธกิจเพื่ออนาคต จากจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเล็กๆของผู้มีอันจะกินที่มาเล่นสกีเมื่อเกือบ 6 ทศวรรษก่อน จนมาเป็นการประชุมใหญ่ของโลกได้

ความร่วมไม้รวมมือกัน (Collaboration) จึงเป็นคำตอบที่ต้องการมาโดยตลอดและก็หวังว่ามันจะช่วยให้เราเลี่ยงพ้นจากวันโลกาวินาศ (Doomsday) ได้จริงๆ 

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวเศรษฐกิจและผู้ก่อตั้งเพจ BizKlass

แชร์
World Economic Forum กำลังตั้งคำถามอะไรกับโลก?