ธุรกิจการตลาด

บางกอกแอร์เวย์ส มั่นใจปี 66 ธุรกิจการบินฟื้น ผู้โดยสารเพิ่มเฉียด 400%

23 มี.ค. 66
บางกอกแอร์เวย์ส มั่นใจปี 66 ธุรกิจการบินฟื้น ผู้โดยสารเพิ่มเฉียด 400%
ไฮไลท์ Highlight
สำหรับในปีนี้คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารจะอยู่ที่ 70-80% ของปี 2562 จากปัจจัยความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ยังคงแข็งแกร่ง และการเปิดประเทศของหลายๆประเทศ และผ่อนปรนนโยบายการเดินทางช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 

หลังการเปิดประเทศทั้งในไทย และหลายประเทศในโลกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ปริมาณผู้โดยสารและการเดินทางเพิ่มขึ้นทั่วโลก ล่าสุด บางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยผลประกอบการปี 2565 ขาดทุนลดลง 64.9% ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเกือบ 400 %  เปิดแผนธุรกิจปี 2566 ขยายตลาดต่างประเทศเพิ่ม พร้อมให้บริการ 4 หมื่นเที่ยวบิน ดึงผู้โดยสาร 4.4 ล้านคน พร้อมชูกลยุทธ์ครบ 55 ปีธุรกิจ สร้างประสบการณ์เดินทางสุดพรีเมี่ยม


  ธุรกิจการบินปี 65 ฟื้นตัว ขนส่งผู้โดยสาร 2.7 ล้านคน  

ในโอกาสที่ บางกอกแอร์เวยส์ ทำธุรกิจครบ 55 ปี ผู้บริหารได้ร่วมกันประเมินถึงธุรกิจการบิน หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า การเดินทางระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว ทยอยฟื้นตัวและมีการเดินทางของผู้โดยสารจากทั่วโลก ได้ส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการบิน ในส่วนของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส พบว่ายอดจองบัตรโดยสารเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ทั้งการเดินทางในประเทศ และระหว่างประเทศ ทำให้ปี 2565 มียอดขนส่งผู้โดยสารรวม 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 394.8 และ มีจำนวนเที่ยวบินให้บริการรวม 29,892 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 243.8 เมื่อเทียบกับปี 2564 เท่ากับว่า ภาพรวมจำนวนผู้โดยสารปี 2565 อยู่ที่ระดับ  45% ของปี 2562 โดยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 และแตะระดับที่ 65% ของช่วงก่อนโควิดในเดือนธันวาคม 

สำหรับในปีนี้คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารจะอยู่ที่ 70-80% ของปี 2562 จากปัจจัยความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ยังคงแข็งแกร่ง และการเปิดประเทศของหลายๆประเทศ และผ่อนปรนนโยบายการเดินทางช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบัน บางกอกแอร์เวยส์ ให้บริการเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศ 15 เส้นทาง เส้นทางระหว่างประเทศ  7 เส้นทาง บริษัทฯ วางเป้าหมายในปี 2566 ในการดึงนักท่องเที่ยวไทย – ต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทยและในภูมิภาค ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสาร 15,000 ล้านบาท รวมเที่ยวบินกว่า 4 หมื่นเที่ยวบิน อัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 76% 

บางกอกแอร์เวยส์

ในโอกาสครบรอบ 55 ปี ในการดำเนินธุรกิจ บางกอกแอร์เวย์สยังคงมุ่งมั่นที่จะยกระดับและพัฒนาการให้บริการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารไปถึงยังจุดหมายปลายทาง( Connect Your Happiness)  โดยดึงจุดเด่นของการเป็นสายการบินที่มีบริการครบครัน อาทิ บริการเลือกที่นั่งก่อนการเดินทาง บริการสัมภาระฟรี 20 กก. บริการห้องรับรองผู้โดยสารแก่ผู้โดยสารทุกคน บริการอาหารในทุกเที่ยวบิน การบริการระดับพรีเมียมในราคาที่เข้าถึงได้ และจุดแข็งของการเป็นเจ้าของและบริหารงานสนามบิน 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย ที่จะสามารถรองรับเที่ยวบิน และเป็นศูนย์กลางการบินในการเชื่อมต่อระหว่างจุดหมายปลายทางต่างๆ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพเพื่อการรองรับการเดินทาง ในด้านระบบการจัดการ การปรับปรุงด้านกายภาพ การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะอยู่ภายใต้ข้อบังคับและกฎระเบียบของหน่วยราชการ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล”

ผู้บริหาร บางกอกแอร์เวยส์

  ผลประกอบการ ปี 65 ขาดทุนลดลง 64.9%  

ด้านผลประกอบการของบางกอกแอร์เวย์ส นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี เปิดเผยว่า ปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 12,742.1 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 124.8 ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารร้อยละ 609.8 รายได้จากธุรกิจสนามบินร้อยละ 465.4 และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินร้อยละ 71.6 จากการกลับมาปฏิบัติการบินของสายการบินต่าง ๆ   บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 889.3 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปี 2564 จำนวน 1,643.2 ล้านบาท หรือร้อยละ  64.9  

“ในปี 2565 บริษัทฯ ย่อยของบริษัทฯในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์ได้จัดตั้งกองทรัสต์และนำทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (BA Airport Real Estate Investment Trust: BAREIT) ซึ่งเป็นกองทรัสต์ธุรกิจสนามบินกองแรกของประเทศไทย เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 14 กันยายน 2565 โดยมีมูลค่าการระดมทุน 14,300 ล้านบาท

 แผนการตลาด ปี 66 ขยายตลาดต่างประเทศเพิ่ม 

นายคมกริช งามวงศ์วิโรจน์ ผู้อำนวยการแผนกลูกค้ารายใหญ่และผลิตภัณฑ์รายได้เสริม เปิดเผยว่า ในปีนี้ บริษัทฯ คาดการณ์ว่าสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและพร้อมเดินทางจะกลับมาอย่างชัดเจน และจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 60 % ของรายได้ทั้งหมด โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน BSP agents ในตลาดหลักอาทิ ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน แอฟริกาใต้ และอีกกว่า 20 ตลาดทั่วโลก รวมถึงการขายผ่านเครือข่ายสายการบินพันธมิตรอีกกว่า 100 สายทั่วโลก  และอีกช่องทางหนึ่งที่เรามุ่งเน้นในปีนี้คือช่องทางกลุ่มตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก  

นายคมกริช งามวงศ์วิโรจน์ ผู้อำนวยการแผนกลูกค้ารายใหญ่และผลิตภัณฑ์รายได้เสริม

นอกจากนี้แผนขยายการขายเชิงรุกในตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ ได้มีการแต่งตั้งตัวแทนขายและการตลาดเพิ่มขึ้นอีก 12 สำนักงาน รวมทั้งสิ้นเป็น 41 สำนักงาน โดยเป็นการเปิดสำนักงานในประเทศกลุ่มนอดิกส์หรือสแกนดิเนเวีย และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ และแต่งตั้งตัวแทนขายและการตลาดในกลุ่มประเทศเยอรมัน ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ ประเทศฮ่องกง และออสเตรเลีย 

สำหรับการขายในตลาดในประเทศ บริษัทฯ วางกลยุทธ์การออกโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ในช่วงเทศกาล การส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงการขายสินค้า บริการของพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆเสริมให้มากขึ้น คลอบคลุมทุกความต้องการของผู้โดยสาร เช่นประกันการเดินทาง รถเช่า โรงแรม หรือการขายล่วงหน้า ให้เกิดประสบการณ์ที่ดีในการเดินทางกับสายการบินของเรา 

ด้านแผนการตลาด บริษัทฯ มุ่งเน้นการนำกลยุทธ์สร้างตลาดด้วยสีสัน (Color Marketing) โดยจะทำการสื่อสารผ่านแนวคิด “สีฟ้าคือสีแห่งความสุข” ที่นำเอกลักษณ์จากสีของบางกอกแอร์เวย์ส มาสื่อสารเพื่อสร้างการจดจำภาพแห่งความสุขในการเดินทางกับสายการบินฯ ตั้งแต่บริการผ่านพนักงานคอลเซ็นเตอร์ การเลือกจองที่นั่ง บริการห้องรับรองผู้โดยสาร จนถึงจุดหมายปลายทาง โดยมี “ญาญ่า อุรัสยา” เป็นพรีเซนเตอร์ ที่มีสไตล์เฉพาะตัว มีความเป็นมิตร การสื่อสารที่จริงใจ สามารถแบ่งปันความสุขให้กับทุกคนในทุกครั้งที่พบเจอ

ส่องธุรกิจสนามบินสมุยและอู่ตะเภา 

ในปี 2565 ที่ผ่านมาสนามบินสมุยมีแนวโน้มของปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น โดยมียอดขนส่งผู้โดยสารรวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 ล้านคน และมีจำนวนเที่ยวบินใช้บริการรวมทั้งสิ้นกว่า 15,000 เที่ยวบิน เพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2564   ซึ่งถึงแม้ว่าจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่เทียบเท่ากับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เป็นสัญญานดีที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย

ด้านความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ผู้รับสัมปทานโครงพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านการออกแบบวางแผนงาน และการจัดสรรบุคลากร ตลอดจนถึงการเตรียมงานด้านการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมได้อย่างทันท่วงทีเมื่อได้รับการลงนามในสัญญาด้านการส่งมอบพื้นที่สำหรับการก่อสร้างในอนาคต 

 แนวทางปฏิบัติสู่เป้าหมาย “การเติบโตอย่างยั่งยืน” 

นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนในด้านธุรกิจ บางกอกแอร์เวย์สมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนสำคัญในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการบิน  โดยปัจจุบัน บริษัทได้ดำเนินโครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

นอกจากนี้ในระดับนานาชาติ บริษัทฯยังได้เข้าร่วมโครงการ Carbon  offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ของ ICAO เพื่อสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของภาคการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และบริษัทฯ ได้มีการศึกษาการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel (SAF)ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินลงได้ โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมการบินวางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon Emission หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์  ในปี ค.ศ. 2050 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนดำเนินการในขอบเขตอื่น ๆ เช่น การศึกษาการใช้พลังงานหมุนเวียน การประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร แผนพัฒนาโครงการแยกขยะได้ประโยชน์ซึ่งดำเนินการอยู่เดิม อีกทั้งริเริ่มศึกษาโครงการ Upcycling อาทิ ชุดยูนิฟอร์มพนักงาน ขวดน้ำพลาสติกไร้ฉลาก โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่และนำกลับมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการธุรกิจ รวมถึงการ Upcycling ขยะชุมชน เช่น เปลือกหอยนางรม (พื้นที่ทดลอง ณ ต.ท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด) โดยออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้ชุมชน

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT