ธุรกิจการตลาด

Uniqlo-Muji เตรียมถอนการผลิตจากพม่า เหตุกังวลกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน

30 มี.ค. 66
Uniqlo-Muji เตรียมถอนการผลิตจากพม่า เหตุกังวลกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน

Uniqlo, Muji และ Marks & Spencer เตรียมถอนการผลิตออกจากพม่า เหตุกังวลว่าความไม่สงบทางการเมืองหลังมีการรัฐประหารในปี 2021 จะกระทบการผลิตในพม่า รวมไปถึงอยากหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

การรัฐประหารของกองทัพพม่าในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ทำให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากทยอยถอนธุรกิจออกจากพม่าในช่วง 2021-2022 ทั้งเพราะกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการรัฐประหารที่จะมีต่อการดำเนินธุรกิจในพม่า และเป็นการถอนออกมาเพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนการกระทำของกองทัพพม่า

โดยบริษัทที่ถอนธุรกิจออกจากพม่านับตั้งแต่มีการรัฐประหารส่วนมากเป็นบริษัทด้านพลังงาน เช่น Chevron, TotalEnergies, Posco และ Woodside Petroleum ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งรายได้จากบริษัทต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของพม่า

ก่อนหน้านี้ บริษัทผลิตเสื้อผ้าใหญ่ๆ ที่มีการ outsource หรือจัดจ้างผู้ผลิตภายในพม่าให้ผลิตสินค้าให้ เช่น Fast Retailing ซึ่งเป็นเจ้าของ Uniqlo และ Marks & Spencer ยังลังเลที่จะถอนการผลิตออกมาจากพม่า เพราะต้องการสร้างรายได้ให้ประชาชนในพม่าอยู่ในช่วงที่มีความลำบาก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังบริษัทเหล่านี้พบว่าการดำเนินธุรกิจในพม่ามีความเสี่ยงสูง เพราะโครงสร้างพื้นฐานรวมไปถึงไฟฟ้ากำลังย่ำแย่ รวมไปมีกรณีบริษัทเจ้าของโรงงานผลิตในพม่ามีปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน รวมไปถึงการกดค่าแรงและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่

จากการรายงานของ Nikkei Asia ค่าแรงขั้นต่ำของคนงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่พม่าอยู่ที่เพียงประมาณ 4,800 จัต หรือ 78 บาทต่อวัน นอกจากนี้ยังมีรายงานออกมาว่าในสถานการณ์การเมืองตอนนี้สหภาพแรงงานของพม่าไม่สามารถต่อรองด้านค่าแรงและสภาพการทำงานได้อย่างปลอดภัยได้

ด้วยเหตุนี้ บริษัท Fast Retailing จึงประกาศถอนการผลิตทั้งหมดในพม่าหลังโรงงานในพม่าได่ส่งมอบสินค้าในคอลเลคชั่นฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวของปี 2023 เรียบร้อยแล้ว โดย Fast Retailing เป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้าล่าสุดที่ออกมาประกาศว่าจะถอนการผลิตออกจากพม่า 

ก่อนหน้านี้ Muji ได้ออกมาประกาศแล้วว่าจะถอนการผลิตสินค้าทั้งหมดของ Muji ในเดือนสิงหาคม ในขณะที่ Mark & Spencer ประกาศปีที่แล้วว่าจะถอนการผลิตออกในเดือนมีนาคม เพราะว่าบริษัท “ไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบในทุกขั้นตอนการผลิตสินค้าของบริษัท”

สำหรับบริษัทผลิตเสื้อผ้า การถอนการผลิตออกจากพม่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะงานในโรงงานเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้ของคนรายได้ต่ำ และหากเลิกใช้บริการ แน่นอนว่าถึงแม้จะเป็นการตัดรายได้ของนายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงานในพม่า แต่ก็เป็นการตัดรายได้ของลูกจ้างที่กำลังลำบากอยู่เช่นกัน

โดยบริษัทหนึ่งที่ยังคงยืนหยัด outsource งานให้บริษัทพม่าต่อไปก็คือ Inditex บริษัทเบื้องหลัง H&M และ Zara เพราะมองว่าคนพม่าส่วนมากยังคงต้องพึ่งพาการจ้างงานของพวกเขาอยู่ 

ในช่วงที่ผ่านมา อัตราการส่งออกเสื้อผ้าในพม่ามีจำนวนมากขึ้นจากค่าเงินจัตที่อ่อนลง โดยมีลูกค้ารายใหญ่คือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่นำเข้าเสื้อผ้าที่ผลิตในพม่ามูลค่ารวมถึง 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ที่ผ่านมา

 

ที่มา: Nikkei Asia, Reuters







advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT