ธุรกิจการตลาด

อิตาลีแบน ChatGPT พบข้อมูลรั่วไหล AI นำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

5 เม.ย. 66
อิตาลีแบน ChatGPT พบข้อมูลรั่วไหล AI นำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

อิตาลีนำร่องเป็นประเทศแรกที่แบนการใช้ ChatGPT (แชทจีพีที) หรือ AI แชทบอทตอบคำถามชื่อดัง หลังพบ ChatGPT เสี่ยงทำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้รั่วไหล และอาจนำข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนให้ไปใช้ ‘เรียนรู้’ แบบไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ชาติยุโรปอื่นๆ เริ่มพิจารณาทำตาม 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ Generative AI เป็นสิ่งที่เรียกความสนใจจากคนได้ตลอดด้วยความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เช่น ภาพวาด เสียงพูด และบทความได้รวดเร็วเหนือมนุษย์ ซึ่งหลังจากมีการปล่อย AI วาดรูปอย่างเช่น DALL-E และ Midjourney ออกมาแล้ว AI ในรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ตอนนี้ก็คือ AI แชทบอทและนักเขียนอย่าง ChatGPT ที่สามารถเขียนงานรวมไปถึงโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ง่ายๆ ตามคำสั่งผู้ใช้ได้ 

แต่ถึงจะมีความสามารถน่าตื่นตาตื่นใจ และถูกมองว่าจะเป็นผู้ช่วยที่สำคัญของมนุษย์ในอนาคต ข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะมีต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายๆ ประเทศมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาเพื่อทำให้การพัฒนาและใช้ AI มีความปลอดภัยและมีประโยชน์สูงสุดต่อมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ‘อิตาลี’ ได้กลายเป็นประเทศแรกแล้วที่มีการสั่งแบนไม่ให้มีการใช้ ChatGPT ในประเทศ โดยคำสั่งนี้ออกโดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอิตาลี หรือที่เรียกกันว่า Garante ซึ่งให้เหตุผลในการแบนว่า ทางหน่วยงานได้พบว่าระบบของ ChatGPT (แชทจีพีที) มีช่องโหว่ทำให้ผู้ใช้สามารถเห็นการสนทนาระหว่างผู้ใช้คนอื่นและ ChatGPT (แชทจีพีที) ได้ ซึ่งอันตรายเพราะในนั้นอาจมีข้อมูลสำคัญเช่น ข้อมูลทางการเงิน

นอกจากนี้ Gerante ยังบอกอีกว่า ChatGPT (แชทจีพีที) ไม่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปใช้เพื่อการ ‘เรียนรู้’ ของ AI อีกทั้งยังไม่มีการจำกัดอายุผู้ใช้ ซึ่งเมื่อประกอบกับช่องโหว่ในระบบอย่างที่กล่าวไว้แต่แรกแล้วอาจจะทำให้ข้อมูลสำคัญของเยาวชนรั่วไหล และยังทำให้ประชาชนที่มีอายุน้อยและยังไม่มีวิจารณญาณมากพอเสี่ยงได้รับข้อมูลผิดๆ ที่ในบางครั้ง ChatGPT (แชทจีพีที) ก็สร้างมาให้ผู้ใช้จากการนำข้อมูลจำนวนมหาศาลในอินเทอร์เน็ตและชุดข้อมูลมายำมั่ว

โดยจากคำอธิบายของ Garante นี่เป็นการสั่งแบนเพื่อ ‘เตือน’ บริษัท OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT (แชทจีพีที) เพราะก่อนหน้านี้ Garante ได้ส่งเรื่องไปให้ OpenAI ชี้แจงกรณีเหล่านี้แล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ดังนั้น Garante จึงตัดสินใจสั่งแบนเพื่อให้ OpenAI เร่งส่งคำชี้แจงและแก้ไขปัญหาที่พบภายใน 20 วันนับตั้งแต่มีการสั่งแบนในวันที่ 31 มีนาคม มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงถูกปรับถึง 20 ล้านยูโร หรือราว 742 ล้านบาทจากการปล่อยให้มีช่องโหว่นี้ในระบบ ซึ่งคิดเป็นถึง 4% ของรายได้ทั่วโลกของ OpenAI

การออกมาดำเนินการของหน่วยอิตาลีในครั้งนี้ ทำให้หน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของชาติยุโรปอื่นๆ เริ่มพิจารณาการสั่งแบนในลักษณะเดียวกันบ้าง โดยเฉพาะหน่วยงานของฝรั่งเศสและไอร์แลนด์ที่ได้ติตด่อ Garante เพื่อขอข้อมูลเพิ่ม และหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเยอรมนีที่ได้ออกมาให้ข่าวกับสำนักข่าวท้องถิ่นว่าหน่วยงานอาจตัดสินใจแบน ChatGPT (แชทจีพีที) ตามอิตาลีไปในเร็วๆ นี้

 

หลากประเทศทั่วโลกเร่งออกกฎหมายควบคุมการใช้ AI

นอกจากหน่วยงาน Garante ของอิตาลีแล้ว หน่วยงานด้านการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอื่นๆ ก็ได้ออกมาดำเนินการออกมาตรการเพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยี AI ในพื้นที่ของตัวเองเช่นกัน

โดยในระดับภูมิภาค ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีทั้ง General Data Protection Regulation (GDPR) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมการใช้ข้อมูลโดยรวม และ EU AI Act ซึ่งเป็นกฎหมายในการควบคุมการใช้เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะ ที่ถึงแม้ในตอนนี้รายละเอียดยิบย่อยจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ก็มีสาระสำคัญคือการกีดกันไม่ให้มีการใช้ AI ในภาคส่วนที่สำคัญกับคนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย และระบบตุลาการ

อย่างไรก็ตาม ในตอนที่มีการร่างกฎหมาย AI Act ขึ้นมา Generative AI ยังไม่แพร่หลายจนใครๆ ก็เข้าถึงได้แบบในปัจจุบัน โดยถึงแม้ Generative AI จะสามารถถูกจัดให้อยู่ใน AI ประเภท High-risk AI หรือ AI ที่กระทบต่อการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยของมนุษย์ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เห็นว่าพวกเขาควรปรับปรุงกฎหมายในด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ เพราะเทคโนโลยี AI นั้นมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน 

นอกจากนี้ รัฐบาลของสหราชอาณาจักรยังมีการสั่งการให้หน่วยงานทุกแห่งของรัฐปรับกฎขององค์กรให้ครอบคลุมการควบคุมการใช้ AI เน้นในเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใส โดยจะยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อควบคุม AI โดยเฉพาะเหมือนในสหภาพยุโรป 

ในขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนนอกจากกลุ่มประเทศยุโรปที่มีการออกกฎหมายหรือมาตรการทางกฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมการใช้ AI โดยเฉพาะ 

 

ที่มา: Reuters, CNBC

 

advertisement

SPOTLIGHT