อากาศร้อน ค่าไฟแพง ขณะนี้เป็นปัญหาที่ได้รับผลกระทบกับทุกคน ไม่ใช่แค่ภาคครัวเรือนที่ค่าไฟในเดือนที่ผ่านมาพุ่งกระฉูด ในภาคธุรกิจเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และสถานการณ์ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ดูจะมีความเปราะบางและความเสี่ยงที่สูง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกรายงานว่า สถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น เป็นไปตามปริมาณการใช้ไฟ และการขยับตามค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft มาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของทุกภาคส่วนทั้งครัวเรือน การผลิตอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ
อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของภาคธุรกิจบริการ ปี 2566 เพิ่มขึ้น 12-17%
ปี 2566 ต้นทุนค่าไฟฟ้าของธุรกิจบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และคาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปี 2566 ของภาคธุรกิจ จะยังเพิ่มขึ้นราว 12-17% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปี 2565 และปริมาณการใช้ไฟฟ้าของธุรกิจบริการในปีนี้ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับในปี 2565 โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ภัตตาคารและไนต์คลับ อพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ ห้างสรรพสินค้า ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย จึงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการธุรกิจบริการในปีนี้มีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น (ยิ่งใช้ไฟมาก ยิ่งจ่ายเพิ่มตาม Progressive rate)
ความเสี่ยงภัยแล้งส่งผลต้นทุนค่าน้ำ-วัตถุดิบอาหารเพิ่ม
โดยธุรกิจบริการยังมีความท้าทายจากต้นทุนค่าน้ำและค่าวัตถุดิบอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าคาด แม้ว่าอัตราค่าน้ำประปาน่าจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้ แต่การเคลื่อนเข้าสู่ภาวะซูเปอร์เอลนีโญหรือภัยแล้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีความเสี่ยงที่สถานการณ์อาจจะรุนแรงและลากนานกว่า 3 ปี อาจทำให้ธุรกิจบริการอาจเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารที่น่าจะยืนตัวในระดับสูงหรืออาจขยับสูงขึ้น เช่น ข้าว ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ต่างๆ เนื่องจากผลผลิตภาคเกษตรมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากความไม่เพียงพอของปริมาณน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำก็มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ต้นทุนอื่นๆ ก็ขยับขึ้น อาทิ ค่าจ้างแรงงาน ส่วนหนึ่งจากการขาดแคลนแรงงานหลังแรงงานคืนถิ่นหรือเปลี่ยนอาชีพไปในช่วงโควิดและการเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ ต้นทุนทางการเงิน ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระบบการเงิน ค่าเช่าพื้นที่ จากการปรับขึ้นของราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศและการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทยอยกลับมาเป็นปกติ เป็นต้น
รายได้ภาคท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเป็นปกติ
นอกจากนี้ ธุรกิจบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวยังเผชิญความเปราะบางจากการฟื้นตัวของรายได้ที่น่าจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ แม้มีสัญญาณการเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจนก็ตาม และยังมีความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัว ทั้วค่าครองชีพสูง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดด้านการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว/ผู้บริโภค เทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางและการใช้จ่าย ความสามารถในการแข่งขันระหว่างแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจกระทบความเชื่อมั่นและต้นทุนการเดินทาง ภาวะโลกร้อนและประเด็นความยั่งยืน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานหรืออุปสรรคด้านอื่นซึ่งอาจกระทบความพร้อมในการให้บริการ เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่า โรงแรมที่พัก และร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า น้ำ) และต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สะท้อนจากการคาดการณ์ว่ารายได้หรือมูลค่าตลาดในปี 2566 ที่จะยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด
โดยโรงแรมที่พัก มีสัดส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าและน้ำกว่า 18% ของต้นทุนรวม ส่วนร้านอาหารมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 3% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ที่สัดส่วนนี้อยู่ที่ราว 2.6% ประกอบกับร้านอาหารจะเผชิญการปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาหารจากผลกระทบของภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงกว่าคาดด้วย
ปีนี้ต้นทุนโดยรวมของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารปรับเพิ่ม 9-16%
ทั้งนี้ คาดว่าต้นทุนโดยรวมของทั้งโรงแรมที่พักและร้านอาหารอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 9-16% ในปี 2566 ส่งผลให้กิจการโรงแรมที่พักและร้านอาหารที่มีความสามารถในการปรับตัวต่ำ หรือมีความยืดหยุ่นในการปรับค่าบริการหรือราคาขายได้น้อย ขณะที่มีหนี้เดิมอยู่ในระดับสูง และการขยายฐานลูกค้าไม่ได้เพิ่มมากนัก เนื่องจากทำเลและที่ตั้ง ทำให้จะเผชิญแรงกดดันที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (จากข้อมูล ธปท. พบว่า ณ สิ้นปี 2565 ยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีธุรกิจที่พักแรมและบริการด้านอาหารอยู่ที่กว่า 3.16 แสนล้านบาท)