มูลค่าการลงทุนในสื่อโฆษณาทางดิจิทัลในประเทศไทยฟื้นตัวดีในปี 2566 โดยคาดว่า ทั้งปีจะเป็นมูลค่ารวมถึง 28,999 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2565 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมือง ด้านแพลตฟอร์มพบ Meta ยังครองแชมป์ มีสัญญาณเริ่มอยู่ในช่วงขาลง ในขณะที่ TikTok มาแรง รับเม็ดเงินลงทุนเพิ่มถึง 95%
สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) จับมือ คันทาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลสำรวจมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2566 เจาะลึกใน 59 ประเภทอุตสาหกรรม และ 17 ประเภทสื่อดิจิทัล พบว่า ในปี 2566 แพลตฟอร์มและสื่อดิจิทัลในประเทศไทยจะมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านโฆษณามากถึง 28,999 ล้านบาท เพื่มขึ้นถึง 13% จากปีก่อนหน้า
โดยปี 2566 ถือเป็นปีแรก ที่มีมูลค่าการใช้จ่ายด้านโฆษณากลับเติบโตเป็นเลขสองหลัก หลังจากตกไปเหลือเพียง 4% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งเปิดประเทศหลังจากการระบาดของโควิด-19
คุณภารุจ ดาวราย นายกสมาคม DAAT มองว่า การเติบโตนี้เกิดขึ้นจากจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ
จากทั้ง 3 ปัจจัยนี้ จะเห็นได้ว่า เกิดขึ้นทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบกับการบริโภคสื่อ ทำให้ธุรกิจที่ต้องการลงโฆษณาหันไปเจาะกลุ่มลูกค้าทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น
ในปีนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ยังคงดึงดูดเม็ดเงินจากนักโฆษณาได้มากที่สุด ก็คือ ‘Meta’ หรือ ก็คือ โฆษณาบน Facebook และ Instagram โดยในปีนี้ DAAT และ คันทาร์คาดการณ์ว่า Meta จะกวาดเงินไปได้ถึง 8,183 ล้านบาท รองลงมาเป็น YouTube และการทำสื่อวีดีโอออนไลน์ ที่จะได้เงินไป 4,751 และ 2,254 ล้านบาทตามลำดับ
แม้ว่า Meta จะยังเป็นเจ้าใหญ่ที่มีโอกาสจะล้มไม่ได้ในเร็วๆ นี้ เห็นได้จาก มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาใน Meta กลับอยู่ในช่วงขาลง โดยลดลงถึง 6% จากปีก่อนหน้า แตกต่างจากช่องทางอื่นๆ ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะ TikTok ที่จะได้รับเงินลงทุนด้านโฆษณาถึง 2,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95% จากปีก่อนหน้า และวิธีการทำการตลาดแบบ Affiliated Marketing หรือการโปรโมตสินค้าผ่านพันธมิตรและการใช้พาร์ทเนอร์คนนอก เช่น อินฟลูเอนเซอร์ ที่จะได้เงินไปถึง 949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114% จากปีก่อนหน้า
โดยข้อมูลของ DAAT แนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงนี้ แสดงให้เห็นว่า คนไทยนิยมดูโฆษณาและหาข้อมูลสินค้าที่อยากซื้อผานการดูวีดีโอมากกว่าจะอ่าน ทำให้ตัวเลขลงทุนด้านโฆษณาในแพลตฟอร์มที่คอนเทนต์หลักเป็นวีดีโอ โดยเฉพาะวีดีโอสั้นๆ มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น YouTube ที่เพิ่มขึ้น 34% และวีดีโอออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น 4%
นอกจากความเปลี่ยนแปลงด้านแพลตฟอร์มแล้ว ด้านธุรกิจที่ลงทุนในโฆษณาดิจิทัลก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เพราะในปีนี้กลุ่มธุรกิจสกินแคร์ขึ้นมาเป็นกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนในโฆษณาออนไลน์มากที่สุด โดยลงทุนไปทั้งหมด 3,268 ล้านบาท ตามมาด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปีนี้คาดว่าจะลงทุน 2,520 ล้านบาท และแชมปเก่าในปี 2565 อย่างกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ ที่จะลงทุน 2,228 ล้านบาท
โดยข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ในปีนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตด้านการลงทุนในโฆษณาดิจิทัลมากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตนเอง และรูปร่าง เช่น กลุ่มเครื่องสำอางค์ที่เติบโต้ก้าวกระโดดที่ 139% กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก และผลิตภัณฑ์สุขอนามัยช่องปาก เติบโตถึง 69% และกลุ่มสกินแคร์ที่เติบโตสูงถึง 32%
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ DAAT พบว่า แนวโน้มที่เปลี่ยนไปนี้ อาจเกิดขึ้นจากการที่มีการเปิดประเทศ และคนกลับมาใช้ชีวิตแบบเจอกันต่อหน้ามากขึ้น ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าเพื่อดูแลรูปร่างหน้าตาของตัวเองให้พร้อมกับการกลับเข้าไปเข้าสังคม
สะท้อนให้เห็นในข้อมูลของ Krungsri Compass ที่ระบุว่า มูลค่าการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทยระหว่างปี 2566-2567 จะเพิ่มขึ้นไปถึง 6.5-7 ล้านล้านบาท และสินค้าที่จะถูกจำหน่ายออกไปมากที่สุดก็คือ สินค้าเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง และสินค้าเกี่ยวกับการดูแลบ้าน
ที่ผ่านมา โฆษณาดิจิทัลมีศักยภาพของในการสร้างความตระหนักรู้ของแบรนด์และผลิตภัณท์ต่างๆ และความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มต่างๆได้ดี และยังช่วยเรื่องของ brand consideration และ lead generation ด้วย ส่งผลให้นักการตลาดให้ความสำคัญกับโฆษณาดิจิทัลมากขึ้น
นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีทางการตลาด เพื่อเสริมประสิทธิภาพและความรวดเร็วของการตลาดดิจิทัล ทั้งด้านของ e-commerce marketing tool และการใช้ data analytics platform รวมไปถึง AI และเครื่องมือในการติดตามและวัดผล return on investment ต่างๆ ทำให้ในอนาคตการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลน่าจะมีการเติบโต และมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น