Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
80% ของธุรกิจโรงแรมไทย รายได้ยังไม่ฟื้นเท่าก่อนโควิด
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

80% ของธุรกิจโรงแรมไทย รายได้ยังไม่ฟื้นเท่าก่อนโควิด

19 ก.ย. 66
12:56 น.
|
1.3K
แชร์

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม ที่จัดทำโดย สมาคมโรงแรมไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำเดือน ส.ค. 2566 พบว่า รายได้ของธุรกิจโรงแรม เกือบ 80% ยังไม่ฟื้นได้เท่ากับก่อนโควิดระบาด แต่ส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วง Q4/66 หรือ Q4/67 ซึ่งเป็นช่วง high season

สำหรับโรงแรมที่มีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วง COVID-19 แล้ว ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และอยู่ในภาคกลางและภาคใต้ ขณะที่โรงแรมที่คาดว่ารายได้ไม่สามารถกลับไปสู่ระดับเดิมได้ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมน้อยกว่า 3 ดาวและอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออก

คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม ว่าโรงแรมส่วนใหญ่ 22% คาดว่ารายได้รวมของธุรกิจจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาส 4/2566 ขณะที่สัดส่วน 22% เช่นกันคาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 4/2567 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือ “ไฮซีซัน” เหมือนกัน แต่ต่างกันคือต้องรอถึงไฮซีซันปีหน้า รองลงมาสัดส่วน 11% คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 1/2567 ส่วนอีก 5% คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 2/2567 และอีก 10% คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3/2567

สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือน ส.ค. 2566 เป็นรายภูมิภาค พบว่าภาคเหนือมี 43.6% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 39.6% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40% เท่ากับเดือนก่อน ด้านภาคตะวันออก 61.3% ลดลงจากเดือนก่อนที่มี 68% ส่วนภาคกลาง 69.5% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มี 66.2% และภาคใต้ 55.5% ลดลงจากเดือนก่อนที่มี 58%

capture

312500

มาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ

1.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่อง เช่น มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงมาตรการที่ดึงดูดตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอยากให้มีปรับกระบวนการขอวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวที่รวดเร็วขึ้นและดูแลราคาตั๋วเครื่องบินให้อยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

2.มาตรการช่วยเหลือด้านการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และลดภาษีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ

3.มาตรการด้านการเงิน โดยมีมาตรการพักชำระหนี้สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าที่เข้าพักโรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลางยังกลับมาไม่เป็นปกติจนทำให้ธุรกิจมีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ประกอบกับต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นทำให้ธุรกิจเหล่านี้มีกระแสเงินสดไม่เพียงพอ นอกจากนี้ อยากให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือสินเชื่อ refinance สำหรับธุรกิจโรงแรมแบบไม่มีเงื่อนไข (ยกเว้นธุรกิจที่ติดเครดิตบูโร) เพื่อการปรับปรุงโรงแรม และเสริมสภาพคล่องในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ขาขึ้น 

4.มาตรการด้านแรงงาน เช่น การอบรมและพัฒนาแรงงานในธุรกิจโรงแรม และกำหนดค่าจ้างแรงงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

ประเมินจำนวนลูกค้าจีนที่เข้าพักใน
Q3/66 และ Q4/66 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ในภาพรวมโรงแรมส่วนใหญ่ประเมินว่าใน Q3/66 จะมีลูกค้าจีนเดินทางมาเข้าพักใกล้เคียงกับ Q2/66 (สัดส่วน 37%) ทั้งนี้ โรงแรมในภาคใต้ส่วนใหญ่คาดว่าลูกค้าจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงแรมในภาคเหนือส่วนใหญ่คาดว่าลูกค้าจีนจะลดลง สำหรับ Q4/66 โรงแรมในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเมินว่าลูกค้าจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก Q3/66 และส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับตั้งแต่ 4 ดาวขึ้นไป

รัฐบาลนายกฯเศรษฐา กำลัง กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ด้วยการ ฟรีวีซ่า ให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 ซึ่งจะครอบคลุมช่วงไฮซีซัน และโกลเด้นวีค ช่วงหยุดยาวสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ต้องมาตามลุ้นกันว่า จะมำให้มีนทท.จีนเข้าไทยมากขึ้นแค่ไหน เพราะจะเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้เร็วขึ้น 

ขณะเดียวกัน 1 ใน5นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลคุณเศรษฐาคือ การผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว  ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว และ ธุรกิจเชื่อมโยงเป็นอย่างมาก  แต่ !! สำหรับเรื่องที่ต้องเร่งรัดดำเนินการมากที่สุด ได้แก่ การลดต้นทุน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า รวมถึงแก้ไขปัญหาหนี้ผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ต้นทุนเชื้อเพลิงและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 

รวมถึงเร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยว  โดยการไปให้ถึงเป้าหมายของภาคการท่องเที่ยวไทยในทุกเซกเตอร์ ทั้งตลาดต่างชาติเที่ยวไทยและตลาดไทยเที่ยวไทย  การยกระดับซัพพลายไซด์ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจเชื่อมโยงจะต้องมีมาตรฐานความยั่งยืน และอีกสิ่งสำคัญในตอนนี้ คือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ทั้งแก้ไขข่าวลือเชิงลบ เร่งสร้างความมั่นใจในการท่องเที่ยวไทย ว่าสามารถเดินทางมาเที่ยวได้อย่างปลอดภัย มีคุณภาพ ได้รับประสบการณ์และความสุขกลับไป

สมาคมโรงแรมไทย อยากเห็นการปรับสมดุลโครงสร้างนักท่องเที่ยวใหม่ มุ่งสู่นักท่องเที่ยวคุณภาพ ใช้จ่ายสูง อยู่นานขึ้น ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รัฐควรมีการบริหารแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำกัดจำนวนผู้เข้าเยี่ยมแหล่งท่องเที่ยวที่เปราะบาง และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆเหมือนในอดีต เช่น ปัญหาจีนเทา หรือทัวร์ศูนย์เหรียญ และควรส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในประเด็นความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และการควบคุมผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวไม่ให้เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว  

สำหรับนโยบายรัฐบาลใหม่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี สมาคมโรงแรมจึงขอให้ยับยั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้ตระหนักถึงความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และศักยภาพในแต่ละพื้นที่จังหวัดที่หลายพื้นที่ยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัว ยังมีประเด็นเรื่องของราคาพลังงาน ค่าแก๊ส ค่าไฟ ที่ยังคงเป็นต้นทุนที่สูงมากในภาคธุรกิจโรงแรม รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการด้วย สมาคมโรงแรมไทย หวังว่า การร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะช่วยผลักดันและสนับสนุนให้การท่องเที่ยวเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง  เพราะการท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล ภายใต้แรงกดดันแห่งความท้าทาย และการแข่งขันที่รวดเร็วของโลกปัจจุบัน

ที่มา สมาคมโรงแรมไทย 

แชร์
80% ของธุรกิจโรงแรมไทย รายได้ยังไม่ฟื้นเท่าก่อนโควิด