เห็นจำนวนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากงาน Motor Expo 2023 ที่ผ่านมายอดสูงหลายหมื่นคัน นั่นแปลว่าในปี 2567 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังจะสูงขึ้นอีก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้รถคือ การทำประกันรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถEV ซึ่งที่ผ่าน มามีประเด็นเรื่องราคาที่แพงกว่า รถสันดาปทั่วไป เนื่องจากราคาของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่สูงนั่นเอง
Priceza Money ได้ออกบทวิเคราะห์ ประเด็น คปภ. ไฟเขียว! เกณฑ์ใหม่ประกันรถEV คุ้มครองแบตฯเหลือเท่าไหร่? โดยได้รวบรวมเงื่อนไขสำคัญของประกันรถ EV ทั้งความคุ้มครองแบตเตอรี่ , การระบุชื่อคนขับ , แนวโน้มเบี้ยประกันรถ EV ในปี 2567 ดังนี้
ความคืบหน้าของเกณฑ์ใหม่ของประกันรถEV นั้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เผยแพร่ ‘คำสั่งนายทะเบียนที่ 47/2566 เรื่อง ให้ใช้ แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ ‘เกณฑ์ใหม่ของประกันรถEV’ ที่ เลขาธิการ คปภ. นายชูฉัตร ประมูลผล ได้เซ็นอนุมัติใช้เรียบร้อยแล้ว
คำสั่งฉบับนี้จะมีผลให้บริษัทประกันภัย สามารถเพิ่มเงื่อนไขต่างๆ เข้าไปใน กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์EV ได้ ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2567 แต่ถ้าหากบริษัทประกันภัยไหนไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันก็มีเวลาเตรียมตัวไปจนถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ทุกบริษัทประกันภัยจะต้องถูกบังคับใช้เงื่อนไขในคำสั่งฉบับนี้
จากเกณฑ์ใหม่ประกันรถEV ฉบับนี้ จะมีผลโดยตรงกับความคุ้มครองแบตเตอรี่ High-Voltage ของรถEV จากความคุ้มครอง 100% จะคุ้มครองน้อยลงเรื่อยๆ ตามอายุการใช้งานของรถ EV
*เกณฑ์นี้ใช้ในกรณีเปลี่ยนแบตเตอรี่ High Voltage ใหม่ทั้งชุด โดยมีเงื่อนไขดังนี้
และเมื่อบริษัทประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายตามเกณฑ์นี้เรียบร้อยแล้ว เจ้าของรถและบริษัทประกันภัยจะมีส่วนเป็นเจ้าของซากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนเดียวกับเกณฑ์ที่ชดใช้ไป เมื่อแบตเตอรี่ก้อนที่เสียหายถูกขายได้ บริษัทประกันภัย ก็จะต้องแบ่งเงินมาให้กับเจ้าของรถตามสัดส่วนนี้
ตัวอย่าง เกิดอุบัติเหตุกับแบตเตอรี่ High Voltage ในปีที่ 2 ทำให้ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ทั้งชุด
ราคาแบตเตอรี่ 1,000,000 บาท บริษัทประกันจะจ่ายให้ 900,000 บาท ส่วนเจ้าของรถต้องออกเงินเอง 100,000 บาท และ เมื่อซากแบตเตอรี่ก้อนเดิมถูกขายได้ บริษัทประกันจะต้องจ่ายเงินให้เจ้าของรถจากยอดขายแบตเตอรี่ก้อนเดิมเป็นสัดส่วน 10%
ที่สำคัญถ้าหากเจ้าของรถไม่ต้องการใช้เกณฑ์ตามตารางด้านบน ก็สามารถซื้อความคุ้มครองแบตเตอรี่เพิ่ม หรือ Batterry Replacement เพื่อให้บริษัทประกันภัยคุ้มครองแบตเตอรี่ 100% ได้
อีกส่วนที่เกณฑ์ใหม่ประกันรถEV จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงก็คือ ‘การระบุผู้ขับขี่’ เมื่อทำประกันภัยรถยนต์ จากก่อนหน้านี้ ‘การระบุผู้ขับขี่’ เป็นเพียงตัวเลือกให้เจ้าของรถหลายๆ คนเลือกใส่เงื่อนไขเข้าไปเพิ่มเพื่อแลกรับส่วนลด
ในปี 2567 ที่จะถึงนี้ ‘การระบุผู้ขับขี่’ จะไม่ได้เป็นตัวเลือก แต่จะกลายเป็นเงื่อนไขที่ต้องระบุชื่อก่อนที่จะทำประกันรถEV โดยแนวทางนี้จะทำให้บริษัทประกันภัย และ คปภ. สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับแต่ละคน และนำมาเป็นส่วนลดสูงสุดถึง 40%
‘การระบุชื่อผู้ขับขี่แบบใหม่’ จะเป็นการให้รถทุกคันที่ต้องการทำประกันภัยรถยนต์ ต้องระบุชื่อผู้ขับ โดยจะสามารถระบุชื่อได้สูงสุดเป็นจำนวน 5 คน และถ้าหากมีคนขับรถที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อมาขับแล้วเกิดอุบัติเหตุ จะต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรกก่อนตั้งแต่ 2,000 - 8,000 บาท แล้วแต่อุบัติเหตุ
โดยการ ‘ระบุชื่อผู้ขับขี่แบบใหม่’ นี้จะเริ่มต้นใช้กับ ประกันรถEV เท่านั้น และอาจจะนำไปใช้กับ ประกันรถยนต์ทั่วๆไปในอนาคต
อีกส่วนที่รวมอยู่ใน เกณฑ์ใหม่ประกันรถEV ฉบับนี้ ก็คือ ‘การคุ้มครองเครื่องชาร์จรถEV’ ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มเติมที่เจ้าของรถสามารถเลือกซื้อประกันภัยเพิ่มให้กับเครื่องชาร์จรถEV ของตนเองได้
โดยจะคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุกับเครื่องชาร์จรถ EV ระหว่างที่ชาร์จ และคิดค่าเบี้ยประกันภัยเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 0.035% - 3.5% จากมูลค่าของเครื่องชาร์จรถEV นั้นๆ แล้วแต่บริษัทประกันภัยจะตั้งราคา
จากเกณฑ์ใหม่ประกันรถEV ที่จะออกมาใช้ในปี 2567 ที่จะถึงนี้ ตามการคำนวณของทีมงาน Priceza Money ผู้เขียนบทวิเคราะห์นี้ คาดว่าราคาประกันรถEV ในปีแรกเริ่มจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเท่าไหร่นัก
แต่ความแตกต่างที่จะเกิดขึ้นคือ ส่วนลดพฤติกรรมการขับขี่ตัวใหม่ ที่จะให้สูงสุดถึง 40% รวมทั้ง ส่วนลดประวัติดีของเดิม สูงสุดอีก 40% ที่เพิ่มเข้ามา จะทำให้ผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมการขับรถดี ไม่ได้มีเคลม มีแนวโน้มว่าจะได้เบี้ยประกันรถEV ที่ถูกลงอย่างแน่นอนในปี 2567
สุดท้ายการมีเกณฑ์ใหม่ประกันรถEV ออกมา ก็ทำให้เห็นว่าภาครัฐในฝั่งของ คปภ. และ ธุรกิจประกันภัย ยังให้ความสำคัญกับกระแสของรถEV ที่เข้ามามีบทบาทกับประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ของ ESG และ sustainability ด้วย