Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ชาติต่างๆ ตบเท้าค้านภาษีทรัมป์ เตรียมขึ้นภาษีโต้กลับ หากเจรจาไม่ลงตัว
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ชาติต่างๆ ตบเท้าค้านภาษีทรัมป์ เตรียมขึ้นภาษีโต้กลับ หากเจรจาไม่ลงตัว

3 เม.ย. 68
12:35 น.
แชร์

หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศ "ภาษีตอบโต้" ต่อชาติต่างๆ ในวันที่ 2 เมษายน 68 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ออกมาแสดงความไม่พอใจทันที เพราะมองว่า ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก และขัดต่อการค้าสากล

หลายประเทศเตรียมมาตรการตอบโต้แล้ว ถ้าหากว่าการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่เป็นผล และนี่คือปฏิกิริยาของประเทศต่างๆ ที่มีต่อนโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ

จีน

กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์เมื่อเช้าวันพฤหัสบดี (3 เมษายน 68) ระบุว่า จีนขอคัดค้านมาตรการนี้อย่างหนักแน่น และจะดำเนินมาตรการตอบโต้โดยเด็ดขาด เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของจีน

กระทรวงพาณิชย์ของจีนยังตำหนิความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศใหม่ โดยระบุว่า เป็นการกลั่นแกล้งฝ่ายเดียวโดยสมบูรณ์ พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีดังกล่าว และแก้ไขความขัดแย้งกับคู่ค้าผ่านการเจรจาอย่างเท่าเทียม

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ กำหนดสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาษีตอบโต้’ โดยมีพื้นฐานจากอคติและเป็นการประเมินฝ่ายเดียว ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของประเทศที่เกี่ยวข้อง"

สหภาพยุโรป

ด้านสหภาพยุโรปกำลังเตรียมมาตรการตอบโต้ต่อการประกาศภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ หลังสหรัฐฯ จะเก็บภาษีตอบโต้ 20 % จากชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดผลกระทบครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว เป็นตลาดรายใหญ่ที่สุดที่รองรับสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ แซงหน้าแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ ด้วยซ้ำไป

ด้านนางเออร์ซูลา วอน เดอร์ เลเยน ผู้อำนวยการสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า การประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์ต่อทั้งโลก รวมถึงสหภาพยุโรป เป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก และเธอรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจนี้ อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปกำลังเตรียมมาตรการตอบโต้ชุดแรกในขั้นสุดท้ายแล้ว เพื่อตอบโต้ภาษีเหล็ก และกำลังเตรียมมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม เพื่อปกป้องผลประโยชน์และธุรกิจของสหภาพยุโรป ถ้าหากว่าการเจรจาล้มเหลว

อิตาลี

นายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนีของอิตาลี วิพากษ์วิจารณ์ภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะใช้ต่อสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป และเรียกร้องให้มีข้อตกลง พร้อมเตือนว่า สงครามการค้าจะยิ่งทำให้ชาติยุโรปที่มีปัญหาอยู่แล้วอ่อนแอลงอีก

ผู้นำของอิตาลีออกแถลงการณ์บนโซเชียลมีเดียว่า การที่สหรัฐฯ ใช้กำแพงภาษีใหม่ต่อยุโรป ถือเป็นมาตรการที่เธอคิดว่า “ผิดพลาด” และไม่ได้เหมาะสมกับฝ่ายใดเลย ดังนั้นยุโรปควรจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อให้เกิดข้อตกลงกับสหรัฐฯ มุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามการค้า ซึ่งจะยิ่งทำให้ชาติตะวันตกอ่อนแอ

เธอยังระบุว่า รัฐบาลอิตาลีจะหารือในประเด็นดังกล่าวกับชาติสมาชิกประเทศอื่นของยุโรป และย้ำว่า จะเจรจาโดยยึดผลประโยชน์ของอิตาลีและเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของอิตาลีเปิดเผยว่า เขาจะหารือกับรัฐมนตรีการพาณิชย์ของสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลล์ในวันนี้ และรัฐบาลอิตาลีพร้อมที่จะทำงานร่วมกับสหภาพยุโรป รวมถึงชาติอื่นๆ ในยุโรป

ญี่ปุ่น

เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายโยชิมาสะ ฮายาชิ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ญี่ปุ่นขอบอกกับรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้งว่า การกระทำเช่นนี้ เป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง และญี่ปุ่นขอยื่นคำร้องอย่างเข้มแข็งให้สหรัฐฯ ทบทวนมาตรการดังกล่าวอีกที

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ฮายาชิ โยชิมาสะ ระบุว่า ญี่ปุ่นกำลังตรวจสอบว่าการที่สหรัฐฯ กำหนดภาษี 24% สำหรับสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นนั้น ละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงการค้าญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ปี 2019 หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ลงนามภายใต้รัฐบาลทรัมป์ชุดแรก

ส่วนโยจิ มุโตะ รัฐมนตรีพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า มาตรการภาษีของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทญี่ปุ่นในการลงทุนในสหรัฐฯ และท้ายที่สุดจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง

ทั้งนี้ หลังข่าวภาษีทรัมป์ถูกเผยแพร่ออกมา ดัชนีหุ้นหลักของญี่ปุ่น Nikkei 225 ร่วงลงเกือบ 4% เมื่อเปิดตลาดในเช้าวันพฤหัสบดี แตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ

 

เกาหลีใต้

นายฮัน ด็อกซู ประธานาธิบดีรักษาการ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ร่างมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของทรัมป์ โดยสำนักข่าวยอนฮัพของทางการเกาหลีใต้รายงานว่า นายฮันได้กล่าวในการประชุมฉุกเฉินว่า ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงกับการมาถึงของสงครามภาษีโลก รัฐบาลจะต้องใช้ทุกศักยภาพที่มี เพื่อเอาชนะวิกฤตการค้านี้ให้ได้

สำหรับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ มาโดยตลอด ถูกตั้งภาษีตอบโต้ถึง 25 %

แคนาดา

นายกรัฐมนตรีมาร์ค คาร์นีย์ของแคนาดา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า แคนาดาจะสู้กับภาษีของทรัมป์ด้วยมาตรการโต้กลับ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องแสดงออกถึงเจตจำนงและด้วยพลังอำนาจที่แคนาดามี

อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีรอบล่าสุดที่ทรัมป์ประกาศนี้ ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงกับแคนาดา ซึ่งก่อนหน้านี้ โดนภาษีนำเข้า 25 % จากสหรัฐฯ ไปแล้ว

ออสเตรเลีย

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโทนี อัลบาเนซี ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่ก็ชี้ว่า ภาษีดังกล่าวไม่เกินความคาดหมาย แต่ไม่มีความชอบธรรมเลย และบอกด้วยว่าภาษีนี้ไม่สมเหตุสมผล และจะส่งผลต่อมุมมองของชาวออสเตรเลียที่มีต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

การแถลงดังกล่าวมีขึ้น สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีขั้นต่ำ 10% กับสินค้านำเข้าจากออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ

นิวซีแลนด์

คริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ แสดงความกังวลต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยระบุว่า ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก หลังนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับอัตราภาษีขั้นต่ำ 10% ตามประกาศล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ

ผู้นำนิวซีแลนด์เปิดเผยว่า ภาษีและสงครามการค้าไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก สินค้าส่งออกจากนิวซีแลนด์ราว 900 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ จะถูกเก็บภาษีเพิ่ม และสุดท้ายผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะต้องเป็นคนจ่ายภาระนี้ พร้อมเตือนว่า ภาษีไม่ใช่ทางออก เพราะมันจะทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ สูงขึ้น ดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างแรงกดดันต่อทั้งโลก"

อย่างไรก็ตาม วินสตัน ปีเตอร์ส รัฐมนตรีต่างประเทศของนิวซีแลนด์มีมุมมองเชิงบวก โดยมองว่าการประกาศของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ควรฉลอง เพราะบางประเทศได้รับผลกระทบที่หนักกว่านิวซีแลนด์อีก


CNN, Aljazeera

แชร์
ชาติต่างๆ ตบเท้าค้านภาษีทรัมป์ เตรียมขึ้นภาษีโต้กลับ หากเจรจาไม่ลงตัว