ปัจจุบันกิจกรรม MICE (Meetings-Incentive-Travel-Conventions- Exhibitions) ได้เข้าไปแทรกซึมอยู้ในทุกองค์กรและทุกอุตสาหกรรมเพราะ “การจัดแสดงสินค้า” “การจัดประชุม” หรือ “ทริปท่องเที่ยวประจำปี” ล้วนมีผลธุรกิจ และแม้ว่างานจัดแสดงสินค้า หรือการประชุม อาจจะกินเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่รู้หรือไม่ว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมเหล่านั้นอาจอยู่บนโลกของเรานานกว่าที่หลายคนคิด
บทความของ Global Climate Initiatives ชี้ถึงปัจจัยที่งาน Event ต่างๆอาจปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลกใบนี้ได้ อาทิ การใช้พลังงานในการจัดแสดง แสง สี เสียง มันคือการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก อาหารและเครื่องดื่ม ป้าย แผ่นพับ สื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ในการออกบูธ ทั้งของผู้จัด สินค้า อุปกรณ์ในงาน และผู้เข้าร่วมงาน รวมไปถึงการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในงาน การเดินทางของทุกๆคน ล้วนแต่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นให้กับชั้นบรรยากาศ
ผลกระทบที่เกิดจากการจัดแสดงสินค้าถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในงาน Thailand MICE X-Change 2025 (TMX25) ที่มีแนวคิดประจำปีคือ “NEXHIBITION - ต่อยอดก้าวใหม่ที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมแสดงสินค้า” โดยพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจ MICE ที่แปลเป็นไทยคือการประชุม การท่องเที่ยว การประชุมนานาชาติหรือการสัมนาขนาดใหญ่ และการจัดแสดงสินค้าหรือบริการ
การดำเนินธุรกิจ MICE ให้มีความยั่งยืนจากมุมมอง “ธุรกิจ” ซึ่งต้องมีการคำนึงถึงประกอบการที่แข็งแกร่งด้วยนั้น ควรจะดำเนินแนวทางความยั่งยืนแบบไหนถึงจะ ‘พอดี’ กับการดำเนินธุรกิจ MICE
SPOTLIGHT พาไปพูดคุยกับผู้บริหารในวงการธุรกิจ MICE ที่หลายคนรู้จักกันดีนั่นคือ งานบ้านและสวนแฟร์
คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด ในเครือ AMARIN Group และผู้จัดงาน “บ้านและสวนแฟร์” ได้ให้ 5 แนวทางที่ใช้ในการสร้างสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจและความยั่งยืนที่ AME ยึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอด
คุณเจรมัยยกตัวอย่างการใช้แนวนี้กับงานบ้านและสวน Select 2025 ที่เพิ่งจบไปเมื่อวั้นที่ 30 มีนาคม
โดยบ้านและสวนแฟร์เป็นงานแฟร์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยบูธราว 2,000-3,000 คูหา หากผู้ที่มาออกร้านสร้างบูธเองเราคงจะได้เห็นวัสดุเหลือทิ้งและขยะที่หลากหลาย ตั้งแต่เริ่มงานจนงานจบ
สิ่งที่สามารถทำได้จากแนวคิด Creative Uniformity คือการตั้งต้นใช้วัสดุแบบเดียวกันทั้งงาน แต่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป โดยวัสดุที่เลือกมาใช้ในงานจัดแสดง ควรเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำในงานครั้งต่อไปได้ สามารถดีไซน์ได้หลากหลาย มีความแข็งแรง และเป็นวัสดุใกล้พื้นที่หรือ ณ สถานที่นั้นมีอยู่แล้ว เพื่อลดการสร้างพลังงานจากการขนส่ง
“การที่ทุกคนใช้วัสดุแบบเดียว และเป็นวัสดุที่ในพื้นที่จะดแสดงงานมีอยู่แล้ว จะทำให้ Carbon footprint จากการยกเข้า-ออกของอุปกรณ์ต่างๆมาประกอบน้อยมากๆ และขยะที่เกิดจากการทำงานแทบจะไม่มีเลย ชิ้นส่วนพวกนี้ยั่งยืนมากๆ ยั่งยืนกว่าการทำโครงสร้างใหม่ ทาสี และรื้อทิ้งให้เป็นขยะ” คุณเจรมัยกล่าว
การจัดงานแสดงสินค้า งานแฟร์ และงานประชุมต่างๆ ย่อมมี partners เป็นส่วนประกอบต่างๆ ของงานทั้งบุคลลภายนอก สถานที่ อาหาร การขนย้าย รวมถึงชุมชน ที่สามารถร่วมกันสร้างความยั่งยืนได้ ตัวอย่าง partners ของ AME เช่น กลุ่มแม่แจ่ม โมเดล พลัส
แม่แจ่ม โมเดล พลัส คือแพลตฟอร์ตแก้ไขฝุ่นควันจากการเผา ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และไฟป่า ซึ่งแม่แจ่ม โมเดล พลัส พยายามให้ชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ นอกเหนือจากข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักแต่ก็เป็นตัวการหนึ่งของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ซึ่งพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ว่าคือ ‘ไผ่โตเร็ว’ ที่้ภายในเวลา 3-4 ปี มันสามารถนำมาใช้ในงานโครงสร้างในการจัดงาน Event ต่างๆได้
“ไผ่โตเร็ว ใช้ในงานโครงสร้าง งานเฟอร์นิเจอร์ได้ จึงคิดว่า แล้วทำไมจะไม่ใช้ในงานอีเว้นท์ แต่แน่นอนว่ามีข้อจำกัดคือ ช่างชาวบ้าน สิ่งที่เราต้องทำคือส่งดีไซเนอร์ไปที่แม่แจ่ม ไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน เรียนรู้วัสดุใหม่ที่เราเองก็ไม่เก่ง หาข้อจำกัด จุดแข็ง และจุดเด่นให้เจอ”
คุณเจรมัยเล่าว่า AME ได้ลงทุนงบประมาณก้อนหนึ่งกับชาวบ้านแม่แจ่มเพื่อพัฒนาไม้ไผ่โตเร็ว สร้างดีไซน์ใหม่ๆ ทั้งเฟอร์นิเจอร์จริงๆ ที่คนใช้ในบ้าน และอุปกรณ์ในงานอีเว้นท์ที่รื้อคืนได้
เมื่ออีเว้นท์จบลง อุปกรณ์ต่างๆ ในงานจะกลายสภาพเป็นขยะทันที ที่เห็นได้บ่อยคือป้ายไวนิลที่ประทับชื่อ วันที่ และสัญลักษณ์งานชัดเจน ซึ่งเอากลับไปใช้ซ้ำไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือความพยายามเปลี่ยนให้ขยะเหล่านี้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ป้ายไวนิล ที่ทำมาจากวัตถุดิบหลักคือพลาสติก UPVC เป็นหนึ่งในวัสดุที่มีวงจรชีวิตไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากในกระบวนการผลิตจะใช้สารเคมีอันตรายและสร้างขยะตั้งแต่ก่อนเสร็จออกมาเป็นป้ายสวยๆ แล้ว หากผลิตออกมา ก็แขวนในงานจัดแสดงสินค้าเพียง 4 วันเท่านั้น แน่นอนว่าย่อมไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้ป้ายไวนิลและการใช้ป้ายทางเลือกอย่างป้ายดิจิทัลย่อมดีกว่า แต่ในกรณีขนาดแฟร์ขนาดใหญ่อย่างบ้านและสวนที่ไวนิลบอกทางยังมีความจำเป็น วิธีที่พอจะทดแทนได้คือการ รีไซเคิลป้ายไวนิล
“หลังจากงานจบเราจะเก็บป้ายลงมา ตัด และส่งต่อให้โรงงาน MORE โรงงานจะเอาไปอัด และเราจะได้ออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในงานบ้านและสวนแฟร์ได้อีก ” คุณเจรมัย อธิบายการสร้างเก้าอี้จากป้ายไวนิล ประกอบด้วยส่วนขาทำจากแสตนเลสสตีล ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่คงทนที่สุด และส่วนที่รองนั่งที่ทำมาจากขยะป้ายไวนิลอัด ซึ่งสามารถถอดเปลี่ยนได้หากชำรุด
คนมากมายมารวมตัวกันที่งานอีเว้นท์ แน่นอนว่าต้องมีการจัดอาหารและเครื่องดื่มเอาไว้บริการ แน่นอนว่ามันได้กลายเป็นขยะเหลือทิ้งหลังจบงาน พาร์ทเนอร์อีกคนของ AME ที่ช่วยจัดการกับขยะเศษอาหารเหล่านี้คือชูชก (ShooShoke)
กลุ่มชูชกคือผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะอาหารเหลือทิ้ง โดยมีไอเดียเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และนำปุ๋ยอินทรีย์นั้นไปใช้ในการทำเกษตรกรรม
“มันฟังดูเป็นทฤษฎี ดูเป็นธีสิสที่เอาไว้ทำส่งคุณครูแล้วเอาคะแนน แต่จริงๆ มันทำได้ ผมยืนยันว่าทำได้” คุณเจรมัยกล่าวและแนะนำว่าหากศูนย์การจัดแสดงและศูนย์จัดประชุมมีเครื่องจัดการเศษอาหารแบบนี้ จะเป็นผลดีต่อการแยกเศษอาหารมากกว่า
ความยั่งยืนเป็นหัวข้อที่องค์กรต่างๆ พูดซ้ำกันเสมอ แต่ความยั่งยืนไม่ควรเป็นแค่ไอเดียที่เราอยากทำหรือทำได้ไม่นาน แต่ควรทำได้จริงและยั่งยืน
“หลายๆ คน ชอบทำความยั่งยืนให้มันเป็นเพียงภาพลักษณ์ หรือเป็นงานจัดแสดง หรือไม่ก็เป็นคอนเทนต์ แต่จะดีกว่านั้นถ้าเราทำให้มันเป็นชีวิต” คุณเจรมัยกล่าว
ตัวอย่างที่บ้านและสวนแฟร์กำลังทำอยู่อย่างจริงจังคือ การสร้างพื้นที่สีเขียวบริเวณข้างสำนักงาน ในเขตตลิ่งชัน และเปลี่ยนพื้นที่นี้เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ เพื่อให้พนักงาน AMARIN Group สามารถมีพื้นที่พักผ่อนตามอัธยาศัย ทั้งยังเปิดให้เป็นที่จอดรถสำหรับบุคคลภายนอกได้ช่วงสุดสัปดาห์ มีสวนสาธารณะสำหรับจัดกิจกรรมอย่าง งานแฟร์ คอนเสิร์ตขนาดเล็กได้ กระทั่งการจัดกิจกรรมสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น หัวใจสำคัญคือเป็นตัวอย่างที่ดีให้ชุมชนได้เห็นการใช้พื้นที่แบบบ้านและสวน
ความกังวลหนึ่งของผู้ประกอบการเมื่อพูดถึงเริ่มความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมคือราคาที่เพิ่มเข้ามา ถ้าเรามองตัวอย่างการทำงานของ AME ที่คุณเจรมัยกล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวัสดุกับชุมชน การรีไซเคิลป้ายไวนิลเป็นเบาะรองนั่ง หรือการจัดการขยะ ทั้งหมดล้วนมีภาพงบประมาณซ้อนขึ้นมาทั้งสิ้น
ในมุมมองคุณเจรมัย การลงทุนกับความยั่งยืนในองค์กร อย่างเช่น การทำเก้าอี้จากไวนิลเหลือทิ้ง คือการลงทุนทางการตลาด เก้าอี้ไวนิลรีไซเคิลนั้นมีราคาต่อ 1 ตัวราว 1,500 บาท ซึ่งแพงกว่าการสั่งซื้อเก้าอี้ทั่วไปหลายเท่า แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือคุณค่าทางการตลาด ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำธุรกิจ และยังเป็นการสร้างการจดจำเรื่องความยั่งยืน เมื่อมองในด้านนี้แล้ว ราคาเก้าอี้ก็นับว่าไม่แพงเลย
แนวคิดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยปี 2023 ที่เผยแพร่โดย Bain & Company และ EcoVadis ที่ติดตามความสัมพันธ์ของความยั่งยืน และประสิทธิภาพทางการเงินบริษัทกว่า 100,000 แห่ง
งานวิจัยดังกล่าว พบว่า บริษัทที่การดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่วนใหญ่จะมีการเติบโตของรายได้และกำไรที่ดี ที่สำคัญงานวิจัยชี้ว่า กิจกรรมด้านความยั่งยืนไม่ปรากฎผลเสียร้ายแรงให้การดำเนินธุรกิจ ตรงกันข้ามผู้ประกอบการที่มีความใส่ใจเรื่องความยั่งยืนใน Supply chain มีอัตราการสร้างกำไรสูงกว่าบริษัทที่ไม่ใส่ใจเรื่องนี้ถึง 3 %
ดังนั้นราคาความยั่งยืนที่เพิ่มเข้ามาในการปฏิบัติงาน จึงเป็นการลงทุนในระยะยาว ที่เพิ่มแนวโน้มในการสร้างกำไร สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความมั่นคงกว่าในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรม MICE ด้วย
สำหรับงาน TMX คืองานแสดงนวัตกรรมและบริการ การจัดแสดงสินค้า การจัดประชุมและสัมนา เพื่อให้ภาคเอกชนและภาครัฐ ใช้งานแสดงสินค้าเป็นเครื่องมือการตลาดขับเคลื่อนองค์กรของตนได้ ซึ่งปีนี้มีผู้เชี่ยวชาญมาแบ่งปันแนวทางในการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมนาอย่างยั่งยืน เราหวังว่า แนวทางปฏิบัติที่ได้มีหยิบยกมาพูดกันในงานปีนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ประกอบการได้จริง